หน้าที่แห่งความสุข ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์หมอและผู้บริหาร FBT “งานยังไม่สำเร็จ แปลว่าหน้าที่ยังไม่จบ”
ผู้บริหารยุคใหม่มีภารกิจมากมายหลายหน้าที่ จึงเป็นโจทย์ยากในการบริหารจัดการหลายเรื่องพร้อม ๆ กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ หนึ่งในผู้บริหาร บริษัทโรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด หรือ เอฟบีที นอกจากการสานต่อธุรกิจของครอบครัวยังมีภารกิจสำคัญทางการแพทย์ที่ต้องดูแล มันเป็น หน้าที่แห่งความสุข
ศ.พญ.กุลกัญญา เป็นทั้งอาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อเอชไอวี และโรคติดเชื้ออื่น ๆ ในเด็ก ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขด้านวัคซีน และเอชไอวีในเด็ก
คุณหมอยอมรับว่า การทำทั้งสองบทบาทให้สมบูรณ์ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องอาศัยจิตใจที่พร้อมรับมือกับงานหนักเสมอ
“ที่เอฟบีที ดิฉันมีหน้าที่ดูแลงานในเชิงนโยบาย โดยเฉพาะด้านกฎหมายและการเงินแต่สิ่งที่ต้องรับผิดชอบเป็นหลักคือ การดูแลสุขภาพทั้งกายและใจของคนในครอบครัว เพราะการทำงานแบบธุรกิจครอบครัวอาจมีความเห็นที่แตกต่าง และมีความเครียดสูง ดิฉันไม่ค่อยมีความรู้ด้านบริหารธุรกิจมากเท่าพี่น้อง แต่อาศัยประสบการณ์ที่เรียนรู้จากการทำงาน ทำให้สามารถช่วยประสานงานทุกด้านให้เดินไปด้วยกันด้วยดี
“ที่จริงคุณพ่ออยากให้ลาออกจากโรงพยาบาลเพื่อมาดูแลธุรกิจเต็มตัว แต่ดิฉันไม่อยากออก เพราะเป็นงานที่ถนัดและมีความสุขใจอยู่ลึก ๆ ยอมรับว่างานในวิชาชีพแพทย์เครียดไม่น้อยไปกว่าการทำธุรกิจ เพราะงานที่โรงพยาบาลศิริราชค่อนข้างมาก ตั้งแต่งานตรวจผู้ป่วยโดยตรง รับปรึกษาเคสยาก ๆ งานในหน้าที่อาจารย์ ที่ต้องสอนและตรวจแก้งานของลูกศิษย์ ทั้งยังเป็นกรรมการและคณะทำงานต่าง ๆ ในองค์กรวิชาชีพหลายองค์กรในกระทรวงสาธารณสุข ทั้งหมดต้องใช้เวลามาก โดยเฉพาะงานเตรียมการสอนแพทย์
“หลายคนบอกว่า จริง ๆ ไม่ต้องทำงานเหนื่อยเท่านี้ก็ได้ แต่ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติและเป็นหน้าที่ อาจเหนื่อยบ้าง โดยเฉพาะเวลาที่ผลักดันนโยบายเพื่อส่วนรวมไม่สำเร็จยิ่งรู้สึกเหนื่อย แต่เมื่อคิดว่า งานยังไม่สำเร็จ แปลว่าหน้าที่ยังไม่จบ ยังมีเด็ก ๆ รออยู่ แรงก็จะมาเอง
“บางครั้งก็รู้สึกว่า บางเรื่องทำไมยากอย่างนี้ เพราะงานวิชาการค่อนข้างยาก แม้แต่หมอทั่วไปก็ไม่ค่อยมีใครอยากทำ แต่พอเห็นชีวิตที่แสนลำบากของคนไข้ ก็กลายเป็นมีกำลังใจขึ้นมา ดิฉันจึงรับปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับโรคติดเชื้อในเด็กให้ลูกศิษย์และแพทย์ที่ต้องการปรึกษาทั่วประเทศ ทำมาตลอดชีวิตการทำงานจนถึงทุกวันนี้ รู้สึกเป็นเกียรติและสุขใจที่ความรู้ความชำนาญของเราช่วยเขาได้”
คุณหมอกุลกัญญาจัดสรรเวลาในแต่ละวันเพื่อทำหน้าที่ทั้งหมดที่มี เริ่มจากตื่นมาวิ่งออกกำลังกายตอนหกโมงเช้า ส่งลูกสาวไปโรงเรียน ช่วงเช้าทำงานเต็มที่ในวิชาชีพและเข้าไปดูแลงานในเอฟบีทีในช่วงเย็นหลังเวลาราชการ ระหว่างเดินทางเป็นเวลาเช็กอีเมล ตอบปัญหาคนไข้ทางโทรศัพท์ เมื่อถึงบ้านราวสามทุ่ม เธอต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นคุณแม่ของลูกสาวคนเดียว ดูแลพูดคุยและพาเข้านอน จากนั้นจึงเริ่มเตรียมสไลด์เพื่อการสอนแพทย์ อ่านหนังสือ และเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์ผลงาน
“สิ่งชี้วัดความก้าวหน้าในวิชาชีพอาจารย์แพทย์คือผลงานวิชาการ แต่กว่าจะได้ตีพิมพ์สักหนึ่งเรื่องต้องใช้เวลาหลายเดือน ถ้าผลงานตีพิมพ์มาก นอกจากทำให้ทุกคนที่ร่วมทำงานมีชื่อเสียงแล้ว มหาวิทยาลัยมหิดลและคณะแพทย์ศิริราชฯก็จะได้ชื่อเสียงไปด้วยเป็นเครดิตในการจัดอันดับสถาบันระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งทำให้เราภูมิใจ”
แม้มีภารกิจต้องทำตลอดวันแทบไม่มีเวลาเว้นว่าง แต่คุณหมอก็ไม่เคยละทิ้งการสวดมนต์และปฏิบัติธรรม
“ดิฉันฝึกปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ และปฏิบัติมาตลอดกว่า 30 ปี เสาร์อาทิตย์จะมีเวลานั่งได้นานหน่อย แต่ในวันธรรมดาที่มีภารกิจมากจะใช้วิธีกำหนดจิตขณะที่วิ่งในตอนเช้าทุกวัน รอบเย็นหากกลับเร็วต้องเดินออกกำลังกายอีกประมาณ 20 นาที เปิดเสียงหลวงพ่อเทศน์ไปเรื่อย ๆ และสวดมนต์ก่อนเข้านอน
“การปฏิบัติธรรมช่วยดิฉันได้มาก ทำให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ ใจเย็น ไม่ฉุนเฉียวง่าย มีความรู้สึกตัว มีสติยั้งคิด สิ่งเหล่านี้จำเป็นมาก เพื่อไม่ให้งานกระทบกันไปหมด ก็ต้องฝึก ต้องปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้วยังทำให้รู้สึกสบาย เบาใจ เหมือนตัวเองได้พักผ่อน”
เหน็ดเหนื่อยเช่นไรก็เบาคลาย หากรู้เท่าทันใจตัวเอง
ที่มา : คอลัมน์ VIP TALK นิตยสารซีเคร็ต ฉบับเดือนมิถุนายน 2560
เรื่อง อุราณี ทับทอง
ภาพ วรวุฒิ วิชาธร
สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์
บทความน่าสนใจ
Dhamma Daily : ลูกต้องแต่งงาน จึงจะถือว่าทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์หรอคะ
หน้าที่ในปัจจุบันขณะ บทความโดย พระอาจารย์ นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
ทำงาน เป็นหน้าที่ ส่วนความดีให้คนชม บทความให้ข้อคิดจากท่านปิยโสภณ
ผู้ทำหน้าที่ถือแพนหางนกยูง หน้าพระมหาพิชัยราชรถ
คลินิกฟอกไต วัดสุทธาราม – วัดแห่งนี้ไม่ได้เยียวยาเพียงจิตใจ
ผู้ทำหน้าที่ถือแพนหางนกยูง หน้าพระมหาพิชัยราชรถ