เปลี่ยนงาน

เหตุผลที่คนรุ่นใหม่ไม่ควร เปลี่ยนงาน ก่อนอายุ 25

เหตุผลที่คนรุ่นใหม่ไม่ควร เปลี่ยนงาน ก่อนอายุ 25

ต้องยอมรับว่า เด็กจบใหม่สมัยนี้เก่งๆ กันเยอะ  จึงไม่แปลกที่จะมีตัวเลือกในการทำงานเยอะตามไปด้วย หลายคนทำงานได้แป๊บๆ ก็ลาออก เปลี่ยนงาน เพราะอยากตามหา “สิ่งที่ใช่” มากกว่าให้กับตัวเอง แต่รู้ไหมว่า การเปลี่ยนงานบ่อยๆ ในช่วงวัยแบบนี้ อาจไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไหร่นะคะ

โคจิ ทาคากิ นักพัฒนาบุคลากรมืออาชีพชาวญี่ปุ่น พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า ถ้าคุณคิดอยากเปลี่ยนงานให้ได้ผลดีจริงๆ ขอให้อดทนจนถึงช่วงวัย 20 ตอนปลายจะดีกว่า เพราะมูลค่าตลาดของคุณจะสูงขึ้น

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่องค์กรต้องการรับคนมีประสบการณ์เข้าทำงาน ก็คือ สามารถใช้งานได้ทันที

“สิ่งที่บริษัทต้องการไม่ใช่ประสบการณ์ในฐานะผู้สนับสนุนใครสักคนให้ไปถึงจุดหมายร่วมกัน แต่เป็นประสบการณ์การทำงานในฐานะหัวหน้าผู้ผลักดันงานจนถึงจุดหมาย

“ต่อให้คุณทำงานตามคำสั่งได้ดี แต่ถ้าไม่มีประสบการณ์การทำงานให้สำเร็จด้วยตนเอง หรือไม่เคยทำงานเป็นทีมมาก่อนเลย บริษัทจะตัดสินใจไม่ได้ว่าคุณ “ทำอะไรได้บ้าง”

“ต่อให้เคยทำงานในเอเจนซี่โฆษณารายใหญ่หรือมีประสบการณ์ทำโปรเจ็กต์ยักษ์ของบริษัทชื่อดัง แต่ถ้างานที่ได้ทำในทีมจริงๆ เป็นแค่งานส่วนเล็กๆ เช่น จัดทำใบปลิวโปรโมชั่น ก็แทบจะไม่ถือเป็นประสบการณ์การทำงานของคนคนนั้นเลย”

โคจิ ทาคากิ แนะนำว่า ถ้าคิดจะเปลี่ยนงานตั้งแต่ช่วงวัย 20 ต้นๆ ทั้งที่ยังไม่มี “ประสบการณ์การทำงานให้สำเร็จ” เวลาสัมภาษณ์งานใหม่ คุณคงทำได้แค่แสดงความต้องการว่า “ผมอยากทำงานนี้” และถ้ามีใครรับคนที่บอกว่า “ผมไม่เคยทำ แต่จะพยายามครับ” เข้าทำงาน ช่วงนั้นคงเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดีมากๆ หรือไม่ บริษัทนั้นคงขาดคนจริงๆ

ยกเว้นเสียแต่ว่า องค์กรนั้นจะมีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้โอกาสคนที่บอกว่า “อยากทำ” แต่สุดท้ายแล้ว คุณต้องเข้าใจว่า ต่อให้บริษัทยอมรับในความมุ่งมั่นตั้งใจของคุณจริงๆ เมื่อถึงเวลาต้องมอบหมายงาน บริษัทก็มักมอบหมายงานให้ “คนที่ทำได้” ก่อนอยู่ดี

นอกจากนี้ โคจิ ทาคากิ ยังพูดถึงกรณีการเปลี่ยนสายงานไปเลย เช่น เคยทำงานฝ่ายขายจากบริษัทหนึ่งมาครึ่งปี แต่พบว่าไม่เหมาะกับตัวเอง จึงตัดสินใจลาออกไปทำงานบริษัทไอที  ในกรณีแบบนี้ประสบการณ์ทำงานช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาจะถูกรีเซตกลับไปเริ่มต้นที่ศูนย์ เขาอธิบายว่า

“แม้เข้าทำงานเป็นปีแรกเหมือนกัน แต่เมื่อเทียบกับคนที่เข้าทำงานและสั่งสมประสบการณ์ในบริษัทนั้นมาก่อนแล้วครึ่งปี คุณก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่ช้ากว่าเขาครึ่งปีนั่นเอง เท่ากับว่าต้องแข่งกันโดยเสียเปรียบเขาอยู่ครึ่งปี”

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ น่าจะพอทำให้คุณเข้าใจว่า ในช่วงวัย 20 ต้นๆ หรือวัยที่เพิ่งจบออกจากรั้วมหาวิทยาลัย ถ้าคุณเปลี่ยนงานแล้ว เปลี่ยนงานอีก ประสบการณ์การทำงานของคุณมีโอกาสถูกรีเซตกลับไปเริ่มต้นที่ศูนย์อีกครั้ง

รู้อย่างนี้แล้ว อดทนกันอีกซักหน่อยนะคะ

ขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือ ทำงานอย่างไรไม่ให้สูญเสียความเป็นตัวเอง เขียนโดย โคจิ ทาคากิ

ถ้าคุณกำลังเลือกระหว่างลาออกจากงานเพราะไม่ได้ใช้ “ความเป็นตัวเอง” เลย กับกด “ความเป็นตัวเอง” ไว้แล้วก้มหน้าทำงานเป็นหุ่นยนต์ต่อไป เราอยากให้คุณหยุดก่อน เพราะแม้ว่าความเป็นตัวเองจะสำคัญต่อการทำงาน แต่คุณอาจมองมันผิดไปก็ได้ ลองมาอ่านคู่มือทำงานแบบไม่ไร้ตัวตนสำหรับคนไม่อยากเป็น “ทาสบริษัท” ในหนังสือ “ทำงานอย่างไรไม่ให้สูญเสียความเป็นตัวเอง” เขียนโดย โคจิ ทาคากิ แปลโดย ณิชยา รักเกียรติงาม สำนักพิมพ์ Short Cut สั่งซื้อหนังสือออนไลน์ได้ที่ naiin.com


บทความน่าสนใจ

หยุดทำตัวเป็น คนงี่เง่าในที่ทำงาน เถอะนะ!

คาถาปราบวิญญาณ ที่สถิตอยู่บนเก้าอี้ทำงาน

มนุษย์เงินเดือนหมดไฟ ต้องทำอย่างไร? ทางออกดีๆ จาก ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ

เติมพลังสมอง เสริมพลังกาย พร้อมลุยงานได้อย่างสนุกทุกวัน

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.