เกลียดเรื้อรัง

เกลียด! เกลียด! เกลียด! เกลียดเรื้อรัง ทำอย่างไรให้หาย

เกลียดเรื้อรัง ทำอย่างไรให้หาย สนทนาธรรมกับ ท่านเปสโลภิกขุ

พระอาจารย์คะ ความเกลียดเกิดจากอะไรคะ

ส่วนหนึ่งเกิดจากการตั้งจิตไว้ไม่ดี อาตมาเคยปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งยิ้มได้กับทุกเรื่อง คนชมว่าวัดสวย ท่านก็ยิ้ม คนบอกว่าไม่ศรัทธาวัดนี้ ท่านก็ยิ้ม อาตมาสงสัยมากถึงมากที่สุดว่าท่านทำได้ยังไง เรื่องที่เราหงุดหงิด แต่ท่านกลับยิ้มได้ ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ท่านสามารถรักษาอารมณ์แบบนี้ได้ตั้งแต่ตื่นยันหลับเลยทีเดียว

เมื่อปฏิบัติธรรมไปนาน ๆ อาตมาจึงพบคำตอบ นั่นก็คือ “การตั้งจิตไว้ดี” ถ้าจิตใจของเราดี ไม่ว่าดีหรือร้ายมากระทบ มันก็ดีทั้งนั้น แต่ถ้าจิตใจของเราไม่ดี ได้ยินหรือเห็นอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมดแม้แต่เรื่องดี ๆ

สำหรับคนที่เราไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่เรารู้สึกขวางหูขวางตา แสนจะเกลียดสิ่งที่เขาทำ เช่น นักการเมืองที่คดโกง นักธุรกิจที่เอาเปรียบลูกค้า ฯลฯ เราจะเมตตาหรือส่งความปรารถนาดีให้เขาได้อย่างไรกันคะ

เมตตานักการเมืองผู้นั้นด้วยการไม่เลือกเขาเข้าไปบริหารบ้านเมืองอีก ส่งความปรารถนาดีให้นักธุรกิจผู้นั้นด้วยการไม่อุดหนุนกิจการของเขา เราไม่ได้ทำสิ่งนี้ด้วยความโกรธหรือเกลียดชัง แต่เราทำเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ วันหนึ่งเขาอาจฉุกคิดได้ว่า เอ๊ะ! เราทำอะไรไม่ถูกต้องหรือเปล่า ประชาชนจึงไม่เลือกเรา หรือ เอ๊ะ! เราทำอะไรผิดหรือเปล่า ธุรกิจของเราจึงขาดทุน

...ถ้าอย่างนั้นเราอธิษฐานจิตให้คนเหล่านี้สำนึกตัวหรือทำตัวดีขึ้นได้ไหมคะ

อธิษฐานให้ตัวเองสำนึกตัวหรือทำตัวดีขึ้น มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า

แล้วสำหรับคนที่เราแค้นมาก ๆ เช่น คนที่ฆ่าพ่อแม่ พี่น้อง หรือโกงเงินของเราจนทำให้บริษัทล้มละลาย ฯลฯ เราควรทำอย่างไรให้ใจปล่อยวางไม่เกลียดหรือเคียดแค้นคนเหล่านี้คะ

อาตมาเป็นเด็กบ้านนอก สมัยเป็นวัยรุ่นเคยไปเที่ยวงานวัดแล้วถูกทำร้าย จริง ๆ ก็บาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น แต่ที่เจ็บไม่น้อยก็คือใจ เมื่อหนีกลับมาถึงบ้านจึงคว้าดาบยาวเล่มหนึ่ง แล้วไปนั่งเงียบ ๆ มืด ๆ อยู่คนเดียวใต้ต้นไม้ คิดกลับไปกลับมาว่าจะเอายังไง ถ้าเราย้อนกลับไปที่งานวัดแล้วไล่ฟันพวกมันให้เลือดสาดคงจะสะใจที่ได้แก้แค้น แต่เราก็อาจต้องหนีหัวซุกหัวซุนเหมือนเจ้าของดาบเล่มนี้

ดาบเล่มนั้นเป็นของพี่ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ ของอาตมา บ้านของเขาอยู่อีกจังหวัดหนึ่ง เขามีเรื่องตีรันฟันแทงกับคนต่างหมู่บ้าน จึงหนีมาพึ่งบารมีคุณตาคุณยายพร้อมดาบเล่มนี้ เมื่อคิดได้ดังนั้นอาตมาจึงเอา “ดาบบางระจัน” ไปเก็บแล้วกลับมาทายาหม่อง เพราะนั่งอยู่ในที่มืดนาน ๆ ถูกยุงรุมกัด จากนั้นก็เข้านอน พยายามข่มตาหลับ เพราะรุ่งขึ้นต้องรีบตื่นไปโรงเรียนแต่เช้าเพื่อลอกการบ้าน (ฮา)

แม้ว่าคนจำนวนมากจะบอกว่า “ปล่อยวาง – เมตตา จริง ๆ พูดง่าย แต่ทำยาก” แต่ก็มีพระจำนวนไม่น้อยที่บวชมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะความยากนี่แหละ ท่านเห็นเป็นเรื่องท้าทาย แถมยังพูดได้น่าคิดว่า “ทำเรื่องยาก ๆ นี่แหละดี ไปทำทำไมเรื่องง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้”

ทำไมกับบางคนหรือบางอย่าง ยิ่งเราเกลียดหรือไม่ชอบใจเรากลับยิ่งเจอ อาทิ ไม่ชอบคนกินเหล้า แต่ได้สามีเป็นคนกินเหล้า ฯลฯ

“สิ่งที่ไม่ชอบ…เราจะได้” อาตมาได้ยินครูบาอาจารย์พูดอย่างนี้บ่อยครั้ง ก็ทำให้สงสัยเหมือนกันว่าเพราะเหตุใด อันที่จริงเราก็ได้ทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบนั่นแหละ แต่สิ่งที่ชอบ มันทำให้เราเพลิดเพลินจนลืมตนลืมตัว

ส่วนสิ่งที่ไม่ชอบ มันทำให้เราเป็นทุกข์ เผ็ดร้อน ขมขื่น ไม่เจริญใจ ความทุกข์เป็นอาการที่โดดเด่น เข้มข้น พระพุทธองค์ทรงเห็นธรรมชาติอันนี้ จึงทรงยกมาเปิดประเด็นในการศึกษาหาความจริงของชีวิตคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

พระพุทธศาสนาสอนให้เชื่อเรื่องกรรม หากการที่เรามักจะเจอคนที่เกลียดเป็นเพราะกรรม แปลว่าเราไม่ควรปฏิเสธกรรม ควรยอมรับและปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรรมอย่างนั้นหรือคะ

กรรม แปลว่า การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือกระทำด้วยความจงใจ ในภาษาอังกฤษจะอธิบาย “กรรม” ด้วยคำว่า “action” หรือ “deed” ซึ่งให้ความหมายที่เป็นกลาง ๆ

ส่วนคำว่ากรรมที่คนไทยทั่วไปเข้าใจมักจะหมายถึงอกุศลกรรม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะกรรมมีทั้งชนิดที่เป็นกุศลและอกุศล และมนุษย์สามารถเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำกรรมทั้งสองอย่างข้างต้นได้ด้วยตัวของเขาเอง จากตัวอย่างที่ยกมา ถ้าภรรยาได้สามีเป็นคนกินเหล้า ก็ต้องถามตัวเองว่า เมื่อก่อนเราอยู่เป็นอิสระของเราดี ๆ แล้วใครเป็นคนตัดสินใจตามเขามา ถ้าสามีได้ภรรยาเป็นคนชอบเล่นการพนัน ก็ต้องถามตัวเองว่า เมื่อก่อนเขาอยู่กับพ่อแม่ของเขาดี ๆ แล้วใครเป็นคนพาเขามา

นอกจากนี้ควรมองในอีกมุมหนึ่งว่า การที่เราต้องเจอกับสิ่งที่เราเกลียดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็มีแง่ดีเหมือนกัน เพราะมันทำให้เราเห็นโทษภัยในวัฏสงสาร และขวนขวายหาทางออกจากมัน

จริงด้วยค่ะ…แล้วทำไมคนเรามักนึกถึงความชั่วของคนอื่นออกง่ายกว่าการนึกถึงความดีของเขาคะ

คนที่มีนิสัยอย่างนี้ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มโทสจริต ต้องพยายามฝึกมองในแง่ดี ตั้งจิตไว้ให้ดีตั้งแต่ตื่นยันหลับ

สรุปแล้ว เราควรทำอย่างไรให้ใจปราศจากความเกลียดคะ

อาวุธที่สามารถฆ่าความเกลียดได้อย่างมีประสิทธิภาพคือเมตตากับปัญญา หากใครอยากทำให้ใจปราศจากความเกลียดชัง ให้ย้อนกลับไปอ่านทบทวนเนื้อหาทั้งหมดหนึ่งรอบ ตามด้วยการนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมอีกหลาย ๆ รอบ ทั้งหมดที่แนะนำมาสามารถทำได้จริงและนำใช้ไปได้จริง

…ของอย่างนี้ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรียบเรียง  ผั่นพั้น

Image by Mandyme27 from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.