ลัทธิ

3 ลัทธิ ที่ชาวพุทธพึงทราบว่า “ไม่ใช่พระพุทธศาสนา” – ว.วชิรเมธี

3 ลัทธิ ที่ชาวพุทธพึงทราบว่า“ไม่ใช่พระพุทธศาสนา”

ในยุคที่พระพุทธองค์เสด็จมาอุบัตินั้น มีลัทธิต่างๆ มากมายเฉพาะเจ้าลัทธิ ที่เด่นๆ ก็มีอยู่ 6_ลัทธิ และเฉพาะวิธีคิด (ทิฏฐิ)ที่เชื่อถือกันอยู่ในสมัยนั้นก็มากกว่า 62 ลัทธิ ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของลัทธิและนิกายที่มีมากมายถึงเพียงนี้ ถ้าไม่แสดงลักษณะเฉพาะของพระพุทธศาสนาให้ชัดเจน ก็คงจะมีคนสับสนแยกไม่ออกว่าพุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นอย่างไร

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงแยกให้เห็นว่า ทั้ง 3_ลัทธิ ต่อไปนี้ไม่ใช่พระพุทธศาสนา นั่นคือ

1. ลัทธิกรรมเก่า คือ ลัทธิที่เชื่อกันว่าความเป็นไปในชีวิตของคนเรานั้นไม่ว่าจะในทางดีหรือในทางร้าย ล้วนเป็นผลมาจากกรรมเก่าทั้งสิ้น เช่น เกิดมาจนก็เพราะกรรมเก่า เกิดมารวยก็เพราะกรรมเก่า เกิดมามีอำนาจก็เพราะกรรมเก่า เกิดมาต่ำต้อยก็เพราะกรรมเก่า อะไรๆ ก็เพราะกรรมเก่าทั้งนั้น

2.ลัทธิพระเจ้าบันดาล คือ ลัทธิที่เชื่อกันว่าความเป็นไปในชีวิตของเรานั้นมีพระเจ้าเป็นผู้ “เขียนบท” หรือ “ลิขิต” เอาไว้เรียบร้อยแล้ว ชีวิตจะเป็นอย่างไร ขึ้นสูงหรือลงต่ำ สำเร็จหรือล้มเหลว รุ่งโรจน์หรือร่วงโรย ล้วนแต่เป็นไปตามบทที่เทพเจ้าเบื้องบนท่านลิขิตเอาไว้ให้ตั้งแต่ต้น มนุษย์เป็นเพียง“ตัวละคร” ของเจ้าของโรงละครที่ชื่อพระเจ้าเท่านั้น

3.ลัทธิบังเอิญ คือ ลัทธิที่เชื่อกันว่าความเป็นไปของชีวิตหรือของสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ไม่มีที่มา ไม่มีที่ไป ถึงเวลาอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด พอมันจะไม่เกิด ถึงอย่างไรมันก็ไม่เกิด ตรงกับความเชื่อที่ว่า “Whatever will be,  will be.”

ความเชื่อทั้งสามแบบ สามลัทธินี้ พึงทราบว่า“ไม่ใช่พระพุทธศาสนา”…ทำไม?

1. หากเราเชื่อลัทธิกรรมเก่า เราจะกลายเป็นเพียงผู้ “ยอมจำนนต่อกรรมเก่า” เท่านั้น ไม่อาจแก้ไขอะไรๆ ในชีวิตได้เลยเพราะชีวิตของเราในชาตินี้เป็นผลของเหตุที่เราทำเอาไว้แต่ชาติที่แล้ว ใครถือลัทธินี้ มีทางเดียวคือต้องยอมจำนนกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

2.หากเราเชื่อลัทธิเทพเจ้าบันดาล เราจะกลายเป็นคนที่ไม่มี “เสรีภาพ” ในการเลือกใช้ชีวิตอย่างที่เราต้องการ เพราะอำนาจการตัดสินใจในชีวิตของเรานั้นถูกพระเจ้าริบเอาไปเสียแล้วมนุษย์จึงต้องปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม คือ ท่าน (เทพ) จะทำอะไรกับชีวิตของเราก็ต้องแล้วแต่ท่าน ชีวิตที่มีอยู่จึงไม่ใช่ชีวิตของตนเอง แต่เป็นชีวิตที่เป็นไปตามเจ้าของท่านได้กำหนดเอาไว้แล้ว ในทางปฏิบัติ คนที่เชื่อลัทธินี้ี้เป็นได้อย่างดีแค่นักยอมจำนนเหมือนกับคนที่เชื่อในลัทธิกรรมเก่า

3.  หากเราเชื่อลัทธิบังเอิญเราจะกลายเป็นคนที่ปล่อยชีวิตไปวันๆ ไม่สนใจสร้างสรรค์เหตุอันใด เหมือนกอสวะที่ไหลไปตามน้ำอย่างไร้จุดหมาย ชีวิตของคนที่เชื่อในลัทธินี้เป็นชีวิตที่ไม่มีจุดหมาย ไร้แรงบันดาลใจ และอยู่ไปวันๆ อย่างหมดคุณค่า

(อย่างไรก็ตาม ลัทธิกรรมเก่าแม้จะไม่ใช่พุทธแท้ แต่ก็ยังพอมีแง่ดีอยู่บ้างในแง่ที่ทำให้คนกลัวบาป กลัวอบาย แล้วหันมาทำคุณงามความดี แต่ก็มีผลข้างเคียงอยู่มาก หากสอนอย่างไม่ระวังจะพลัดไปสู่ลัทธิยอมจำนน ใครสอนเรื่องกรรมเก่าจึงต้องกระทำอย่างระมัดระวังให้มาก หลักกรรมเก่า ถ้าหากจะสอนต้องสอนเพื่อกระตุ้นจริยธรรม ไม่ใช่สอนเพื่อให้คนยอมจำนนในผลของกรรม)

จากสามลัทธินี้ก็ลองนำมามองดูลัทธิต่างๆ ที่แพร่หลายอยู่ในสังคมไทยเวลานี้ แล้วเราก็จะแยกแยะออกได้เองว่าอันไหนคือพุทธแท้ อันไหนคือพุทธเทียม ใครกำลังสร้างคนใครกำลังทำลายคน ใครกำลังพัฒนาคน ใครกำลังหลอกมอมเมาประชาชน

ข้อเขียนนี้เป็นส่วหนึ่งของบทความ “การสอนเรื่องกรรมในสังคมไทย: อย่างไรพุทธแท้  อย่างไรพุทธเทียม” เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Secret คอลัมน์ Answer Keys เขียนโดย ท่านว.วชิรเมธี ภาพประกอบ โดย ตั๋งตั๋ง


บทความน่าสนใจ

ความยึดมั่นใน สีลัพพตุปาทาน ถ้าเธอตาย ฉันจะตายตาม  หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

ศาสนาพุทธจะคงอยู่ได้หรือไม่ หากไม่มี พิธีกรรมแบบพราหมณ์?

ไขข้อข้องใจ  พิธีพราหมณ์  จำเป็นแค่ไหนสำหรับชาวพุทธ

อัญญาโกณฑัญญะ มหัศจรรย์ วันอาสาฬหบูชา

ดร.อัมเบดการ์ ผู้คืนแสงแห่งธรรมสู่ดินแดนภารตะ

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.