ความสงบ

อย่าหวังอะไรในความสงบ ธรรมะโดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม

เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชาเพื่อค้นหาความสุขที่แท้จริงของชีวิตนั้น ในช่วงที่ท่านยังไม่ได้ตรัสรู้ธรรม ขณะนั้นแนวทางของวิปัสสนายังไม่เกิด มีแต่แนวทางของสมถะ เมื่อมีแต่แนวทางของการปฏิบัติฌาน นักบวช นักพรต และดาบสต่าง ๆ จึงต้องมุ่งหน้าเข้าป่ากันหมด เพื่อหวังจะทำฌานให้เกิด (ความสงบ)

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเองก็ทรงดำเนินรอยตามผู้คนเหล่านั้น มีครูบาอาจารย์อยู่ที่ไหน ท่านก็เสด็จไปศึกษาเพื่อแสวงหาความหงุดพ้นที่นั่น กระทั่งได้พบกับคณาจารย์สองท่านที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ อันได้แก่ อาฬารดาบส กาลามโคตร และ อุททกดาบส รามบุตร

เมื่อคณาจารย์ทั้งสองได้เสนอแนวทางการเจริญอรูปฌานให้เพียงแค่พระองค์น้อมใจพิจารณาตามคำสอนนั้น ก็ทรงบรรลุอรูปฌานขั้นอากิญจัญญายตนฌานได้ ณ สำนักของท่านอุททกดาบส รามบุตร โดยฉับไว คณาจารย์เห็นดังนั้นก็ปลาบปลื้ม เพราะไม่เคยมีใครบรรลุสิ่งที่ยากเย็นได้รวดเร็วขนาดนี้ จึงขอให้พระองค์อยู่ร่วมเป็นอาจารย์สั่งสอนศิษย์ด้วยกันเสียที่สำนัก โดยจะมอบตำแหน่งอาจารย์ที่มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับดาบสทั้งสองให้ทันที

แต่พระพุทธองค์ทรงพิจารณาแล้วพบว่ายังไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้นที่แท้จริง จึงดำรัสถามต่อท่านอาจรย์ทั้งสองว่า วิชาการที่นอกเหนือจากนี้ยังมีอีกไหม อาจารย์ทั้งสองได้ตอบว่า วิชาการที่เหนือกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว พระองค์จึงลาอาจารย์ทั้งสองไปแสวงหาทางหลุดพ้นด้วยพระองค์เอง

การปฏิบัติสมถะด้วยการทำสมาธิเพื่อให้ใจสงบนั้น ไม่สามารถขจัดทุกข์ได้อย่างถาวร เป็นแต่เพียง การแก้ทุกข์แบบกลบฝัง เท่านั้น เหมือนการเอาหินทับหญ้า ในขณะที่หินทับอยู่ หญ้าก็จะยังไม่งอก แต่ถ้ายกหินออกเมื่อใด หญ้าจะค่อย ๆ งอกขึ้นอีกครั้ง สมาธิก็เช่นกัน เป็นการกลบทุกข์ไว้ชั่วครั้งคราว คือช่วยให้เราหยุดคิดเรื่องที่ทำให้ทุกข์ได้ก็จริง แต่เมื่อออกจากสมาธิแล้วก็มีโอกาสเป็นทุกข์ได้อีก นอกจากนั้นการปฏิบัติตามแนวทางสมถะเพียงอย่างเดียวยังทำให้ผู้ปฏิบัติยึดติดกับความสุขที่ได้รับจนอยากจะสงบนิ่งอยู่อย่างนั้นตลอดไป จึงไม่สามารถหลุดพ้นจากสังสารวัฏได้

ตรงกันข้ามกับการปฏิบัติวิปัสสนาหรือการรู้เท่าทันใจ ซึ่งเป็นการแก้ทุกข์แบบถอนรากถอนโคนจนทุกข์ไม่สามารถเติบโตได้อีก แนวทางวิปัสสนานั้นไม่เน้นเรื่องความสงบ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้จิตที่สงบมากเกินไปในการปฏิบัติ แต่กลับช่วยให้ใจปล่อยวางและดับทุกข์ได้ จึงมีความสุขทางใจที่เหนือกว่าแนวทางสมถะ แม้แต่บุคคลที่ปฏิบัติตามแนวสมถะจนกระทั่งได้ฌานมาก่อน หากต้องการเข้าถึงความหลุดพ้น ท่านก็ยังให้หันมาปฏิบัติตามแนววิปัสสนาด้วยการสังเกตดูองค์ฌานไม่ต่างจากการตามสังเกตใจ

วิปัสสนาจึงเป็นคำตอบสุดท้ายสู่ความพ้นทุกข์เพราะเหตุนี้

 

ที่มา  ใช้ทุกข์ดับทุกข์ โดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.