“รักษากาย วาจา ใจ” เคล็ดลับการใช้ชีวิตของ หน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์
นอกจากเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ผู้ผลิตละครโทรทัศน์ที่โด่งดังมาหลายเรื่อง คุณหน่อง – อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ยังได้รับรางวัลสตรีดีเด่นจากสภาสตรีแห่งชาติ รางวัลสตรีผู้นำดีเด่นแห่งเอเชีย สาขาสื่อสารมวลชนและเป็น 1 ใน 10 สตรีไทยที่ได้รับรางวัลสุดยอดนักธุรกิจสตรีอาเซียนจากสมาพันธ์นักธุรกิจสตรีอาเซียนอีกด้วย
คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จในวันนี้เพราะมีธรรมนำทางมาแต่เยาว์วัย
“ตอนเด็กตื่นมาก็เห็นท่านแม่ (หม่อมเจ้าอรุณแสงไข ภาณุพันธุ์) เขียนพระไตรปิฎก แล้วท่านก็เล่าเรื่องในพระไตรปิฎกให้ฟังตั้งแต่ยังเด็ก ท่านสอนตลอดว่า ‘กรรมแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ให้ทำ ไฟแม้นิดเดียวก็ร้อน ทำดีไม่ให้มีประมาณ’ ท่านแม่สอนเรื่องยึดมั่นถือมั่น ท่านปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า ‘สมบัติ วิบัติ’ ทุกอย่างมาได้ก็ไปได้ อย่าไปยึดติดกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคล
“ทุกวันนี้จึงมักบอกคนอื่นเสมอว่า ‘มนุษย์เกิดมาใช้เวลาทั้งชีวิตหาสิ่งที่เราไม่สามารถนำติดตัวไปได้เลย นั่นคือทรัพย์สินเงินทอง ตายไป บาทเดียวก็เอาไปไม่ได้ แต่สิ่งที่นำไปได้คืออริยทรัพย์ นั่นคือธรรมะ เราได้รับโอกาสในการเกิดมาเพื่อแก้ไขสิ่งที่เราอาจทำผิดพลาดมาแล้วไม่รู้กี่ชาติ ชาตินี้เกิดมาต้องแก้ไขให้ดีที่สุด ต้องรู้จักฟังธรรมะ ศึกษา ลด ละกิเลส ทำให้จิตสว่างไสวขึ้น
“ตอนเด็ก ๆ เราฟังและท่องประโยคที่ว่า ‘พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ละความชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส’ แต่เวลานั้นเรายังไม่เข้าใจว่า ‘ทำจิตใจให้ผ่องใส’เป็นเรื่องที่ยากมาก ถามว่าตั้งแต่ตื่นเช้ามาจนกระทั่งหลับไปเราต้องเจอเรื่องที่กระทบจิตใจกี่เรื่อง แล้วเคยลองดูใจตัวเองตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับว่าเรารักษาใจให้ผ่องใสตลอดทั้งวันไหมมันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย
“ชีวิตคนเราซับซ้อน ปัญหาในชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หลักธรรมมีเยอะมาก แต่หลักธรรมสำคัญมีอยู่แค่กาย วาจา ใจ จะแตกไปกี่ร้อยข้อก็กลับมาที่ดูใจตนเองเรียกว่าส่องนอกและส่องใน เราเห็นโลกมามากมาย เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เรามักลืมมองตัวเอง”
“ครั้งหนึ่งพระที่เคารพศรัทธาสอนไว้ดีมาก ๆ ว่า ‘ความผิดที่เกิดขึ้นทุกอย่างในชีวิตเกิดจากเราทั้งนั้น เรามีส่วนร่วมในความผิด เพราะฉะนั้นจะเกิดสิ่งใดหรือเกิดปัญหาใดให้กลับมาพิจารณาตัวเองเสมอ อย่าโทษคนอื่น ให้โทษตัวเองก่อน’
“ความจริงแล้วเวลาเปลี่ยน ชีวิตเราก็เปลี่ยนด้วยธรรมะข้อเดิมแต่เราเข้าใจไม่เหมือนเดิม ทุกครั้งที่ฟังธรรมะจากพระ ท่านเทศน์เหมือนเดิม แต่คนฟังไม่เหมือนเดิมแล้วเพราะวันที่เราฟังเมื่อยังเป็นเด็ก เราจะเข้าใจแบบเด็ก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจึงเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น ณ วันนี้เรามีประสบการณ์ชีวิต เราเข้าใจว่าธรรมะข้อนั้นที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้หมายถึงอะไร เป็นเรื่องของประสบการณ์และกาลเวลา อย่างคำกล่าวที่ว่า ‘ให้ฟังธรรมตามกาล’
ส่วนการนำหลักธรรมมาใช้ในการบริหารงานนั้น คุณหน่องอธิบายว่า
“หลักธรรมของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะเรื่องอริยสัจ 4 อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นหลักในการบริหารจัดการทุกอย่างบนโลก คือเมื่อเกิดปัญหา ซึ่งก็คือทุกข์เราต้องหาสมุทัย คือต้นเหตุแห่งทุกข์หรือปัญหานั้น เมื่อรู้แล้วก็หาทางดับทุกข์ คือการค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องนั่นเอง หลักธรรมของพระพุทธเจ้าใช้ได้กับทุกอย่าง ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต
“เคยเจอปัญหาเรื่องละครและกลายเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ถือเป็นภาวะที่เราต้องดูแลใจอย่างมาก ก็ไปถามพระท่านว่า ‘ท่านขา หนูเจอสิ่งที่กระทบจิตใจเช่นนี้ ต้องใช้ธรรมะข้อไหนคะ’ ท่านก็ตอบว่า ‘รักษาใจ’ พระทุกองค์บอกอย่างนี้ ทั้ง ท่าน ว.วชิรเมธี พระอาจารย์เอกชัย สิริญาโณวัดใหม่ศรีร่มเย็น ที่จังหวัดเชียงราย ท่านเจ้าอาวาสวัดพระรามเก้า หรือท่านเจ้าคุณธงไชย วัดไตรมิตร ท่านเมตตาให้ข้อธรรมะข้อนี้ทุกองค์”
คุณหน่องยอมรับว่าอาจไม่ค่อยได้ไปปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ บ่อยนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอไม่ได้ฝึกฝนตนเองตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
“ปฏิบัติธรรมในที่นี้คือธรรมชาติ ด้วยภารกิจหน้าที่ทำให้เราอาจไม่มีเวลาไปนั่งวิปัสสนาที่ไหนอย่างจริงจัง แต่ท่านแม่กล่าวเสมอว่า ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้เคยถามท่านว่า ‘วันนี้วันวิสาขบูชา ท่านแม่ไม่ไปวัดหรือ’ ท่านตอบว่า ‘ไม่ไปหรอก ทำบ้านให้เป็นวัดสิ’ เพราะฉะนั้นทุกที่ที่เราอยู่สามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา นั่นคือการรู้สติปัฏฐาน 4 (กาย เวทนา จิต และธรรม) รู้กายวาจา ใจ แค่เรารักษาใจให้นิ่ง มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ ก็ถือเป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว
“ถ้าขาดการรู้ตัวต้องพยายามดึงกลับมา เพราะไม่มีใครเตือนเราได้ เราต้องเตือนตนเอง ถ้ามีปัญหาอะไรต้องรู้จักให้กำลังใจตนเอง พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ‘อัตตา หิ อัตตโนนาโถ’ ตอนเด็กเรายังไม่เข้าใจหรอกว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”หมายถึงต้องทำอะไรเองอย่างนั้นเหรอ แต่จริง ๆ ลึกซึ้งกว่านั้น
“เวลาเป็นเจ้าภาพจัดวิปัสสนาจะพูดเสมอว่า ‘ทุกคนบนโลกนี้ล้วนต่างคนต่างเกิด ถึงจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง สามีภรรยา ก็ต่างคนต่างเกิด และต่างคนต้องตายจากไป ไม่สามารถอยู่บนโลกนี้ไปตลอด ดังนั้นใจของเราต้องเป็นที่พึ่งของเราเอง ต้องสร้างสติ สร้างคุณงามความดี สิ่งที่ต้องฝากไว้บนแผ่นดินนี้คือความดีงาม’ ”
ทุกวันนี้ห้องพระในบ้านจึงเปรียบเหมือนศูนย์รวมจิตใจของเธอ
“จริง ๆ ธรรมะอยู่กับเราตลอดเวลาอยู่แล้ว เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ทุกที่ แต่ห้องพระเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการสวดมนต์ นั่งสมาธิ เพราะมีความสงบร่มเย็น เนื่องจากมีพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ที่เราเคารพนับถือพระพุทธรูปส่วนใหญ่ในห้องพระจะเป็นพระปางนาคปรกเพราะเกิดวันเสาร์ นอกจากนี้ยังมีพระพิฆเนศ มหาเทพแห่งวงการบันเทิง ซึ่งได้มาจาก คุณประวิทย์ มาลีนนท์ และโชคดีมาก เพราะเมื่อไม่นานมานี้ได้เดินทางไปประเทศอินเดียพระที่อินเดียมอบผ้าห่มพระพุทธเมตตาที่พุทธคยาให้กลับมาบูชาด้วย ถือเป็นสิริมงคลมาก
“ส่วนของชิ้นสำคัญที่กำลังหาที่ที่เหมาะสมจัดวางในห้องพระอีกอย่างหนึ่งคือพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ซึ่งท่านแม่คัดลอกด้วยลายมือและตรวจทานด้วยตัวท่านเองรวมระยะเวลากว่า 10 ปี พระผู้ใหญ่หลายท่านที่มีโอกาสได้ชมพระไตรปิฎกชุดนี้บอกว่าน่าจะเป็นพระไตรปิฎกฉบับลายมือหนึ่งเดียวในประเทศไทย อนาคตคงจะตกเป็นสมบัติของชาติ ห้องพระจึงมีความสำคัญ เพราะเป็นศูนย์รวมจิตใจที่ทำให้เราสงบจากโลกภายนอก เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งที่ช่วยสร้างพลังใจได้เป็นอย่างดี
“ทุกวันก่อนออกไปข้างนอกจะกราบพระขอพร ก่อนนอนก็จะสวดมนต์ ยกเว้นวันไหนทำงานกลับดึกเกินไปอาจไม่ได้ทำ ส่วนใหญ่อธิษฐานขอพรพระ ขอให้เรารักษาใจได้ขอให้เราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ เพราะบางครั้งชีวิตคนเราไม่ได้มีสติอยู่ตลอดเวลา แต่เราต้องพึงระลึก ดึงตัวเองกลับมาให้มีสติในการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ”
เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการนำพาชีวิตให้ประสบความสุขและความสำเร็จนั่นเอง
ที่มา: นิตยสาร Secret เรียบเรียง กรรณิการ์ ทองคำ ภาพ วรวุฒิ วิชาธร
บทความน่าสนใจ
Dhamma Daily: อยู่กินก่อนแต่ง ในความปกครองของพ่อแม่ ผิดศีลไหม
Dhamma Daily : ถ้ารักงานแต่ เบื่อเจ้านาย เพราะไร้ความยุติธรรม ทำอย่างไรดี ?
Secret คือแรงบันดาลใจ
Secret Magazine (Thailand)