6 เคล็ดลับ ชื่นชมอย่างจริงใจ พูดอย่างไรไม่กลายเป็นคนเฟค!
การ ชื่นชมอย่างจริงใจ ดูเผินๆ แล้วอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ยากเย็นอะไร แต่เมื่อเอาเข้าจริง การจะเดินเข้าไปชมเชยความดีงามของใครสักคนนั้นมักจะทำให้เรารู้สึกเขินจนแข้งขาพานจะพันกัน และสุดท้ายก็ต้องลงเอยด้วยการเก็บ คำชม นั้นไว้ในใจทุกที
ด้วยเหตุที่การชมใครสักคนดูจะเป็นเรื่องง่ายที่ปฏิบัติได้ยาก จึงอยากจะขอชวนคุณมาเรียนรู้ 6 เทคนิคสู่การเป็นนักชมฝีปากเอกกัน
1. เปลี่ยนความคิดเสียใหม่
ก่อนจะชมคนอื่นด้วยความจริงใจได้นั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือเปลี่ยนความคิดของตัวเองเสียใหม่ จากเดิมที่เคยคิดว่าการชื่นชม เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่พูดก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ให้ลองมองในอีกมุมว่า การชมเป็นการให้รางวัลทางใจ หากสิ่งที่คนอื่นทำเป็นสิ่งดีงาม น่ายกย่อง การชมก็จะยิ่งทำให้เขาเหล่านั้นเกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เขามีกำลังใจในการคิดดีและทำดีต่อไป เชื่อเถอะว่า ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นคนเก่ง ดี มีพรสวรรค์แค่ไหน หากได้แต่ทำดีอย่างเดียวโดยไม่เคยได้รับการชื่นชมเลยแม้แต่น้อย พลังในการสร้างสรรค์ของเขาย่อมต้องเหือดแห้งลงในไม่ช้า
2. จริงใจ
สิ่งสำคัญอีกข้อที่จะต้องท่องให้ขึ้นใจก็คือ การชมเชยที่แท้จริงนั้น ต้องไม่ใช่การพูดโกหกหรือยกยอในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น แต่ต้องเกิดจากความจริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลังเท่านั้นเพราะความจริงใจจะทำให้คุณมั่นใจ ไม่ประหม่า พูดจาได้อย่างเป็นธรรมชาติ จนคนฟังรู้สึกถึงความจริงใจของคุณได้เช่นกัน
3. นึกถึงและพูดถึงความดีของเขาบ่อยๆ
การชมไม่ได้หมายความแค่การเดินเข้าไปแสดงความชื่นชมหรือแสดงความยินดีตามโอกาสเพียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการนึกถึง และพูดถึงความดีของเขาบ่อย ๆ มนุษย์เราแม้จะมีข้อเสียและข้อดีผสมปนเปกัน แต่การพูดถึงข้อดีของเขาหรือพูดถึงเขาในแง่บวกบ่อยๆ ก็จะทำให้ใจเราเปิดกว้าง ยอมรับเขาขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
เมื่อใจเราเปิดกว้างแล้ว คราวนี้กำแพงแห่งความขัดเขินที่จะเดินเข้าไปชมใครสักคนก็ย่อมหายไปโดยอัตโนมัติ
4. ชมอย่างไรให้ได้ผล
อีกอย่างที่จะลืมไม่ได้เกี่ยวกับการชมก็คือ คุณต้องคอยสังเกตว่าคนที่คุณจะเข้าไปชมนั้นชื่นชอบการชื่นชมเฉพาะบุคคล หรือการชื่นชมอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ เพราะไม่ใช่ทุกคนนักที่จะรู้สึกดีเวลาถูกชมต่อหน้าคนจำนวนมาก แต่สำหรับบางคน การชมแบบส่วนตัวก็ไม่ได้ช่วยให้เขามีแรงกระตุ้นในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีได้มากนักเช่นกัน
เหนืออื่นใด หากคุณคิดจะชมใครสักคนต่อหน้าคนจำนวนมากคุณก็ต้องระวังไม่ให้การชมนั้นไปสร้างความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจให้แก่คนที่เหลือซึ่งกำลังยืนฟังอยู่ด้วย และจะดีที่สุดหากคำชมของคุณสามารถสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนอยากหันมาสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นบ้าง
6. ชมได้ทุกสถานการณ์
นอกจากการกล่าวชื่นชมในสิ่งที่ดีๆ แล้ว การจะก้าวขึ้นสู่ความเป็นนักชมที่สมบูรณ์แบบ คุณต้องสามารถพูดถึงข้อบกพร่องของผู้อื่นได้แบบ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” เทคนิคที่จะขอแนะนำคือ ต้องวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการใช้คำพูดที่สร้างสรรค์ พยายามมองหาและพูดถึงข้อดีด้วย ไม่ใช่พูดถึงแต่ข้อบกพร่องเพียงอย่างเดียวที่สำคัญที่สุดคือ คุณจะต้องระมัดระวังที่จะวิจารณ์ให้ตรงจุด ควรหลีกเลี่ยงการวิจารณ์แบบเหมารวม เพื่อที่จะได้ไม่ทำให้ผู้ถูกวิจารณ์รู้สึกว่าเรากำลังโจมตี “ตัวตน” ของเขาอยู่
7.ใช้คำพูดและภาษากายในแง่บวก
เทคนิคสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้สำหรับการก้าวขึ้นสู่การเป็นนักชมมืออาชีพก็คือ การเลือกใช้คำพูดในแง่บวก ไม่ว่าจะเป็น“ผมเห็นด้วย” “ที่คุณคิด (หรือทำ) เป็นสิ่งที่ดีมาก” “เยี่ยมมากเลย”ฯลฯ ประกอบกับการใช้ภาษากายที่ดี เช่น การยิ้ม การพยักหน้าการสบตา ฯลฯ เพราะการแสดงออกซึ่งคำพูดหรือกิริยาท่าทางถือเป็นพลังในทางบวกที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดที่จะทำให้การอวยของคุณสัมฤทธิผล
อันที่จริงแล้ว ขอเพียงคุณมีจิตคิดปรารถนาดี อยากให้คนรอบข้างมีความสุขอย่างแท้จริง ไม่ว่าคุณจะสามารถนำเทคนิคทั้งเจ็ดข้อไปใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบหรือไม่ คุณก็น่าจะพิชิตตำแหน่งนักชมมืออาชีพขวัญใจคนชอบรับคำชมไปครองได้ไม่ยาก
ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต
ภาพ : www.pexels.com
บทความน่าสนใจ
8 วิธีคลายเครียดสะสม อย่างง่าย ๆ ในเวลาทำงาน
3 ความ กลัว ที่ต้องทำความรู้จัก แล้วกำจัดมันซะ