ตายแล้ว…ไปไหน? บทความจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญโญ
มีคนจำนวนไม่น้อยสงสัยกันว่า คนเรา ตายแล้ว…ไปไหน เกิดใหม่หรือไม่ หากเกิดใหม่ จะไปเกิดที่ใด
บางศาสนาที่เป็นเทวนิยม เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ลิขิตชีวิตคน เช่น ศาสนาคริสต์ อิสลาม เชื่อว่า เมื่อคนตายไปแล้วยังไม่ไปเกิด วิญญาณจะถูกพักไว้ และจะคืนชีพอีกครั้งในวันพิพากษา เพื่อให้พระเจ้าตัดสินว่าวิญญาณดวงนั้นจะไปนรกหรือสวรรค์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเมตตาและความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าของบุคคลนั้น
สำหรับศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ซึ่งเชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลกและลิขิตชีวิตคน เชื่อว่าคนที่ตายไปแล้วจะไปเวียนว่ายตายเกิดเพื่อชดใช้กรรม หมดกรรมเมื่อใด (บำเพ็ญตบะ) ก็จะไปอยู่ร่วมกับพระพรหมบนสวรรค์
ส่วนพุทธศาสนาซึ่งมิใช่เทวนิยม พระพุทธเจ้ามิได้เป็นผู้สร้างโลก หรือเป็นผู้ลิขิตชีวิตของสัตว์โลก พระพุทธองค์ทรงสอนให้เชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กัน (หลักปฏิจจสมุปบาท) เช่น ต้นข้าวเป็นเหตุให้เกิดรวงข้าว รวงข้าวเป็นเหตุให้เกิดเมล็ดข้าว เมล็ดข้าวเป็นเหตุให้เกิดต้นข้าว เป็นวงจรต่อเนื่องกัน หากทำลายเชื้อพันธุ์ที่อยู่ในเมล็ดข้าวเสีย ต้นข้าวก็จะไม่เกิดอีก เหมือนทำลายอวิชชาหรือทำลายความไม่รู้อันเนื่องจากตัณหาครอบงำจิต การเกิดก็หมดไป
คนที่ตายแล้วจะไปเกิดที่ใดนั้นขึ้นอยู่กับวาระสุดท้ายของจิต หากขาดใจตายขณะจิตเศร้าหมอง ปฏิสนธิวิญญาณก็จะนำไปเกิดในทุคติภพหรืออบายภูมิ 4 อันมีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน (จิตฺเตสงฺกิลิฏฺเฐฺ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา) หากตอนจะตาย จิตผ่องใส ปฏิสนธิวิญญาณก็จะนำไปเกิดในสุคติภพ อันมีมนุษย์ 1 สวรรค์ 6 ชั้น พรหม 20 ชั้น (จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐฺ สุคติ ปาฏิกงฺขา) หากจิตหมดกิเลสตัณหา คือจิตของพระอรหันต์ ก็ไม่มีการเกิดอีก
คนตายจะไปเกิดหรือไม่ และไปเกิด ณ ที่ใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะจิตของเขา หาใช่มีผู้อื่นมาลิขิตไม่ ใครสร้างเหตุไว้เช่นใดย่อมจะได้รับผลเช่นนั้น พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผลสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์
ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์ เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (ค.ศ. 1879-1955) จึงยอมรับและกล่าวถึงพุทธศาสนาว่า “ศาสนาในอนาคตควรจะเป็นศาสนาที่เป็นสากล (cosmic religion) โดยไม่ยึดติดกับพระเจ้าหรือกฎเกณฑ์ข้อปฏิบัติอันเคร่งครัด จะต้องเป็นศาสนาที่มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ของทุกสรรพสิ่ง ทั้งที่เป็น ธรรมชาติและจิตวิญญาณ ที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งหมดนี้จะหาคำตอบได้จากพุทธศาสนา
“ถ้าจะมีศาสนาใดศาสนาหนึ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้
“ศาสนานั้นน่าจะเป็นพุทธศาสนา”
[The religion in the future will be a cosmic religion. It should transcend a personal God and avoid dogma and theology. Covering both the natural and the spiritual, it should be based on a religious sense arising from the experience of all things natural and spiritual, as a meaningful unity Buddhism answers this description…
If there is any religion that would cope with modern scientific needs, it would be Buddhism.]
พระพุทธองค์ตรัสว่า (สัตว์) โลก ถูกจิตนำไป (จิตฺเตน นียติ โลโก) หมายความว่า จิตเป็นผู้นำพาชีวิตไป ดังจะเห็นว่าความคิดนำไปสู่คำพูดและการกระทำ คนเราจะสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่วก็ขึ้นอยู่กับจิตของแต่ละคน ธรรมชาติของจิตนั้นคิดได้สารพัดอย่าง ทั้งในทางที่ดีและชั่ว คิดถึงสิ่งใดก็นำพาชีวิตไปผูกพันอยู่กับสิ่งนั้น นอกจากนี้จิตยังเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกได้เร็วมาก แค่แวบเดียวเท่านั้นก็เปลี่ยนอารมณ์ จากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งแล้ว
ดังนั้นเวลาจะสิ้นใจอันเป็นการเปลี่ยนภพใหม่ หากจิตมีความผ่องใส หรือมีความสงบ คิดถึงสิ่งดี ๆ ในชีวิต เป็นต้นว่าบุญกุศล หรือเอาใจยึดมั่นอยู่กับพระรัตนตรัย หรือพระเจ้า (สำหรับผู้นับถือศาสนาอื่น) หรือสวดมนต์ หรือทำสมาธิ เป็นต้น จิตผ่องใสเช่นนี้ เมื่อออกจากร่าง ปฏิสนธิวิญญาณก็จะนำไปเกิดในสุคติภพ อย่างน้อยก็กลับมาเกิดเป็นคน ถ้าเป็นผู้มีศีลอยู่เป็นนิจ มีความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป (หิริโอตตัปปะ) ก็จะเกิดบนสวรรค์ ถ้าเข้าสมาธิระดับลึกคือฌาน ก็จะเกิดบนพรหมโลกตามคุณสมบัติของจิต โดยไม่เกี่ยวกับการนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเลย
แต่ถ้าตอนจะสิ้นใจ จิตเศร้าหมอง เช่น ทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวด กลัวตาย ว้าวุ่นสับสน หงุดหงิด ขุ่นเคือง โกรธ อารมณ์เสียกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือห่วงบุคคลอันเป็นที่รัก ห่วงสมบัติวัตถุ หน้าที่การงานต่าง ๆ คิดถึงสิ่งที่ไม่ดี หรือเห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่นที่ไม่ดีเข้ามา เป็นต้น จิตเศร้าหมองเช่นนี้ ปฏิสนธิวิญญาณจะนำไปเกิดในอบายภูมิ เป็นเช่นนี้กับทุก ๆ ชีวิต เท่ากับว่าแต่ละคนเป็นผู้เลือกเกิดเอง ลิขิตชีวิตของตนด้วยการกระทำของตนเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ลองคิดดูเถิดว่า โอกาสที่คนใกล้ตายจะมีจิตผ่องใสกับจิตเศร้าหมองนั้น อย่างไหนจะมากกว่ากัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า การได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐ เพราะเป็นของยากยิ่ง (กิจฺโฉมนุสฺสปฏิลาโภ) ที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้น เป็นเพราะสัตว์โลกในภพภูมิต่าง ๆ เวียนว่ายตายเกิดถ่ายเทกัน สัตว์ก็เกิดเป็นคนได้
ถามว่า การทำทาน รักษาศีลช่วยปิดประตูอบายภูมิ (ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ) ได้หรือไม่
ตอบว่ายังไม่ได้ เพราะ ทาน และ ศีล ยังไม่ใช่หลักประกันว่าตอนใกล้ตายจิตจะไม่เศร้าหมอง หลักประกันที่จะปิดประตูอบายภูมิได้ จะต้อง ภาวนา หรือปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเป็น พระอริยบุคคล คือถ้าเป็น พระโสดาบัน และ พระสกทาคามี จิตเข้าทางตรงแล้วจะตายอย่างไม่หลงไปในอารมณ์เศร้าหมอง ชาติต่อไปจะเกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดบนสวรรค์ เจริญภาวนาอีกไม่เกิน 7 ชาติ ก็จะเป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็น พระอนาคามี จะไปเกิดบนพรหมโลก เรียกว่าสุทธาวาสพรหม (พรหมชั้นที่ 12-16) และจะไปบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ที่นั่น ถ้าเป็น พระอรหันต์ ก็ไม่มีการเกิดอีก
ถามว่า บางคนอุตส่าห์ทำความดีไว้ตั้งมากมาย เช่น ทำทาน รักษาศีล บาป อกุศลก็เคยทำบ้าง แต่ไม่มากนัก ตอนตายเกิดพลาดพลั้งจิตมีอารมณ์เศร้าหมองพาไปเกิดในอบายภูมิ อย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรม
ความจริงแล้วกฎธรรมชาติให้ความเป็นธรรมอยู่เสมอ เขาไปเกิดในอบายภูมิ เป็นเพราะจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้นนำไปเกิด ไม่ได้มีใครลิขิต หากทำบุญกุศลไว้มาก ผลบุญจะตามไปอุปการะช่วยให้ทุคติภพที่ไปเกิดสั้นลง เช่น ไปตกนรกไม่นาน ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉาน หากสมัยเป็นคนเคยทำทานไว้มาก ก็จะไม่อดอยาก บางทีมีคนนำไปเลี้ยงดูอย่างดี หากสมัยเป็นคนเคยรักษาศีลมาดี ก็จะเป็นสัตว์ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีสัตว์อื่นหรือคนมาเบียดเบียน หากสมัยเป็นคนเป็นผู้ที่มีปัญญาเฉลียวฉลาด ก็จะเป็นสัตว์ที่ฉลาด เป็นต้น
พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ว่าด้วยความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้ความจริงที่มีอยู่แล้ว ก็นำสิ่งที่รู้มาแสดง ชี้ทางให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติ หากต้องการความสำเร็จ ก็ต้องหมั่นเพียรทำเอาเอง คนอื่นทำให้ไม่ได้ พุทธศาสนาได้ทำลายเครื่องจองจำความคิดของมนุษย์ ที่ถูกสอนให้เชื่อมาแต่โบราณว่ามีอำนาจพิเศษที่ลิขิตชีวิตของตน จึงวิงวอนร้องขอต่ออำนาจนั้น โดยขาดความเชื่อมั่นในคุณค่าของตน ทำให้ไม่ขวนขวายที่จะพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง
หากเป็นชาวพุทธ แต่ไม่ได้ศึกษาหลักธรรมและไม่ได้นำสิ่งที่มีค่ามาปฏิบัติ การเป็นชาวพุทธก็ว่างเปล่า
ที่มา นิตยสาร Secret