ทำด้วยมือ ทำด้วยใจ แล้วทำไปเหอะ! เคล็ดลับทำดีฉบับ นุ่น - ศิรพันธ์

บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในวันฝนพรำ ในตู้คอนเทนเนอร์หลากสีที่ นุ่น - ศิรพันธ์ วัฒนจินดา นำมาดัดแปลงให้เป็นร้านสลัดเล็กๆที่เธอกับเพื่อนลงขันกันทำ “สิ่งที่รัก” จนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา นุ่นเริ่มเปิดฉากเรื่องราวของเธอแบบง่ายๆ ว่า

“นุ่นว่าการทำความดีคือการแชร์ความรู้สึกของเรากับอีกฝ่าย แชร์ความอิ่มใจให้กันและกัน นุ่นจะไม่ค่อยคิดมากว่าต้องทำความดีเมื่อไร ที่ไหน อย่างไรเพราะถึงจะลำบากนุ่นก็ทำได้ แต่อย่าถึงกับเดือดร้อนจนเกิดคำถามขึ้นตามมาว่า‘ทำไมต้องทำขนาดนี้’ เป็นใช้ได้”

ด้วยความที่เป็นเด็กแบบอาร์ต ๆ นุ่นก็จะสนุกที่ได้คิดนอกกรอบ ชอบแชร์ไอเดียกับเพื่อน ๆ อย่างวันวาเลนไทน์เมื่อหลายปีก่อน ใคร ๆ ก็คิดว่าวันนี้ต้องให้ดอกไม้ ให้ของขวัญแก่คนที่เรารักเท่านั้นแต่นุ่นมองว่า “ไม่ใช่”

“เราน่าจะแบ่งปันความรักให้คนอื่น ๆ ในสังคมบ้างดีไหม เริ่มจากพี่ทหาร รั้วของชาติก็ได้”

เพื่อน ๆ ทุกคนก็เห็นด้วย เราตกลงว่าจะทำคุกกี้เพื่อเอาไปให้พี่ทหาร กระบวนการปั้นและอบคุกกี้ผ่านพ้นไปด้วยดี จะหนักหน่อยก็ตอนจับคุกกี้ลงห่อ เพราะเด็กอาร์ตทุกคนจะประดิดประดอยกันสุดฤทธิ์ อยากให้คุกกี้ทุกห่อมีดีไซน์น่ารักที่สุด (เรื่องใหญ่อยู่ตรงนี้!) พอทุกอย่างพร้อม เราก็ไปโรงพยาบาลทหารผ่านศึกกัน

นุ่นกับเพื่อน ๆ เดินถือตะกร้าคุกกี้ไปแจกพี่ ๆ ทหารจนครบทั้งวอร์ด ได้พูดคุยถามไถ่นั่นนี่ พี่ ๆ ก็ยิ้มดีใจกันใหญ่ เพราะไม่คิดว่าจะมีใครมาหาในวันวาเลนไทน์ บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน แต่พอออกมาจากวอร์ดปุ๊บ อารมณ์เฮฮาของทุกคนเมื่อครู่ก็เปลี่ยนปั๊บ เข้าสู่โหมดนิ่งน้ำตาคลอ พูดอะไรไม่ออก นอกจาก“เฮ้ย วาเลนไทน์ปีหน้า เราทำแบบนี้กันอีกป่ะ ทำแบบนี้ดีที่สุดเลยอะ”

หลังจากนั้นก็มีกิจกรรมตามมาอีกเรื่อย ๆ มีแจกหนังสือธรรมะผ่านทางเฟซบุ๊กบ้าง ขับรถเอาของไปแจกน้อง ๆตามโรงเรียนไกล ๆ บ้าง

นุ่นมีโอกาสได้ขึ้นไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่อำเภอบ่อเกลือเมื่อหลายปีก่อน จากนั้นก็มีโอกาสกลับไปทำรายการพื้นที่ชีวิต ทุก ๆ เช้านุ่นจะเห็นเด็ก ๆ หญิงชายเรียงแถวตามลำดับไหล่ ค่อย ๆ เดินมาโรงเรียนเป็นระยะทางนับสิบกิโลเมตร ภาพนั้นน่ารักมากจนนุ่นเริ่มเกิดความคิดว่า “อยาก ทำอะไรให้เด็ก ๆ บ้าง”

สุดท้ายก็มาลงตัวที่ “เสื้อกันฝน”เพราะใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า และตรงความต้องการของเด็ก ๆ มากที่สุด นุ่นไปกว้านซื้อเสื้อกันฝนเด็กจากตลาดในเมืองมาได้เกือบ 50 ตัว เอามาให้น้อง ๆวันรุ่งขึ้น ตั้งแต่หกโมงเช้า น้อง ๆ หลายคนพอเห็นนุ่น ก็วิ่งเข้ามากอด นุ่นก็น้ำตาไหลเขื่อนแตก เลย อิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก

 

นุ่นมาดักแจกเสื้อกันฝนให้น้องๆ

จากนั้นพี่คนหนึ่งก็เล่าให้ฟังว่า เกลือสินเธาว์ของอำเภอบ่อเกลือมีความบริสุทธิ์ติดอันดับสองของเอเชีย จึงน่าจะสามารถ“พัฒนาผลิตภัณฑ์” ได้มากกว่าแค่เอาเกลือใส่ถุงขายอย่างนี้ ตอนนั้นนุ่นกำลังไฟแรงเพราะเพิ่งเรียนออกแบบมา ก็ตอบตกลงเลยว่าจะช่วย คิดว่าเหมือนการพัฒนาสินค้าโอท็อป นุ่นก็มานั่งคิดว่า “จะใช้เกลือทำอะไรได้บ้าง” สุดท้ายก็มาลงตัวที่สครับขัดผิว นุ่นกับเพื่อนจึงตกลงทำแบรนด์ของเราขึ้นมาเอง โดยซื้อวัตถุดิบจากชาวบ่อเกลือ และอาศัยเรื่องราวการทำเกลือมาบอกเล่าช่วยเพิ่มความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์

แต่ครั้นจะทำแค่นี้ก็คงไม่พอ นุ่นอยาก “คืนกลับ” ให้ชาวบ่อเกลือมากกว่านี้นุ่นมองไปถึงการพัฒนาชุมชนในระยะยาวที่ต้องเริ่มจากเด็ก ๆ เด็ก ๆ ควรมีการศึกษาที่ดี มีสำนึกรักบ้านเกิด และต้องรู้สึกว่าตัวเองไม่โดดเดี่ยว ไม่ได้ถูกสังคมเมืองใหญ่ทอดทิ้ง เรายังเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันเป็นครอบครัวเดียวกัน

ตอนนั้นนุ่นจึงตั้ง “กองทุนเล็ก ๆ” ขึ้นมา เพื่อแบ่งรายได้จากการขายสินค้านี้มาให้เด็ก ๆ เพื่อให้เขาใช้ทำกิจกรรมอย่างที่ต้องการต้องบอกว่า “ทุกอย่างเป็นธุรกิจนะคะแต่เป็นประเภทธุรกิจเพื่อสังคม (SocialEnterprise)” นุ่นและเพื่อน ๆ ไม่ได้ทำเพื่อหวังจะรวย แต่ทำเพราะอยากมีเงินไปช่วยชุมชน โดยที่เราไม่ต้องออกสตางค์เอง เพียงแต่เรานำความรู้ ทักษะ และความรักที่เรามีมาร่วมกันทำตรงนี้ให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

นุ่นทำทุกอย่างโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง ไม่ได้ “เตี้ยอุ้มค่อม”ไม่ใช่เศรษฐีที่หว่านเงินลงไปแล้วก็จบแค่ตรงนั้น แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลาพิสูจน์อย่างที่บอกว่า นุ่นและเพื่อนไม่ได้หวังรวยเงิน แต่หวังที่จะรวยความสุข อิ่มใจที่ได้เห็นน้อง ๆ เหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ

 

เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.