ในจอทีวี เรามักจะเห็น หยวน - กวินรัฏฐ์ ยศอมรสุนทร ในบทบาทสนุกสนานเฮฮา ไม่ก็บทร้ายหรือเจ้าเล่ห์จนน่าหมั่นไส้ แต่ภาพที่เห็นในวันนี้ แม้จะเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง แต่หยวนก็ “เต็มที่” และ “เต็มใจ” ทำอย่างที่สุดเหมือนกัน
สมัยเด็ก ๆ ผมไม่รู้หรอกว่า ต้องทำอะไร แค่ไหน อย่างไร ถึงจะเข้าขั้นที่คนยกย่องกันว่าเป็น “ความดี”รู้แค่ว่า การทำความดีของผมไม่ต้องมีเหตุผล ไม่ต้องคิดเยอะ และไม่หวังผล อยากทำก็ทำเลย ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างการนั่งรถเมล์ ต่อให้บนรถจะมีที่นั่งว่างมากแค่ไหน ผมก็ไม่เคยนั่งเลย ยืนตลอดเพราะคิดว่า “เดี๋ยวก็มีคนมานั่ง ให้โอกาสคนอื่นดีกว่า” ใครจะมองอย่างไรก็ช่าง แค่เรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ก็พอแล้ว
การเข้ามาทำงานในฐานะ “อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” นี้ก็เหมือนกัน เริ่มจากการชักชวนของ พี่จอย ชวนชื่น ต้องบอกว่า ผมถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ต่อยอดการช่วยเหลือของป่อเต็กตึ๊งเพิ่มขึ้นอีกทาง เพราะตระกูลของผมอุปถัมภ์ป่อเต็กตึ๊งมาตั้งแต่รุ่นอาก๋งแล้ว
พอเข้ามาเป็นอาสามัคร ขอบอกแบบไม่อายเลยว่า ด้วยความที่ผมเป็นคนขี้กลัว กลัวเลือด กลัวคนตาย กลัวผี ฯลฯผมจึงขอทำงานแบบเบา ๆ ไปก่อน เช่น งานประชาสัมพันธ์ มอบของ ถ่ายภาพฯลฯ แต่ไม่นานนัก การได้คลุกคลีกับพี่ ๆในป่อเต็กตึ๊งแบบเป็นเรื่องเป็นราว ก็ทำให้ผมเริ่มเกิดความคิดใหม่
“ทำไมเขาต้องยอมอดหลับอดนอนยอมเหนื่อย ยอมเสี่ยงอันตรายเพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่รู้จักด้วย”
คำตอบคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่ผมต้องลองไปสัมผัสด้วยตัวเองจริง ๆ ลองออกเหตุ (ปฏิบัติงาน) ดูสักครั้งก็ยังดี แต่เชื่อไหมว่า ถึงตัดสินใจอย่างนี้ ความกลัวก็ยังวนเวียนอยู่ในใจอยู่ดี วันแรกที่ตัดสินใจจะออกเหตุ ผมถึงกับไปสวดมนต์นานเป็นชั่วโมง ๆ ขอพรไม่ให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้นเพราะยังทำใจที่จะเจอเหตุจริง ๆ ไม่ได้
สุดท้ายก็ “รอด” มาได้ตั้ง 4 วัน แต่วันหนึ่งการออกเหตุครั้งแรกของผมก็มาถึง วันนั้นผมเข้าใจทันทีเลยว่า ทำไมรถกู้ภัยต้องเหยียบคันเร่งทำความเร็วขนาดนี้ ทำไมเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องกรูกันไปที่จุดเกิดเหตุ นั่นก็เพราะว่า “ทุกวินาทีคือความเป็นความตาย” ยิ่งความช่วยเหลือไปถึงผู้ประสบเหตุเร็วเท่าไร ทีมงานและอุปกรณ์มีความพร้อมมากแค่ไหน โอกาสรอดของผู้ประสบเหตุก็มีมากขึ้นเท่านั้น แต่ในเคสแรกนี้แม้พวกเราจะพยายามปั๊มหัวใจ ห้ามเลือด ช่วยกันสุดความสามารถ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยื้อชีวิตเขาไว้ได้
ถึงจะรู้สึก “ช็อก” กับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า แต่ผมก็สัมผัสได้ว่า ตลอดเวลาที่ทีมเราลงไปให้การช่วยเหลือนั้น อยู่ ๆ ความกลัวที่เคยมีในใจผมมันก็หายไปหมด มีแต่ความรู้สึกอยากช่วยเข้ามาแทน แม้ตอนนั้นผมจะทำได้แค่เก็บของมีค่าไว้คืนให้ผู้ประสบเหตุ เพราะยังมือใหม่มาก ๆ แต่ก็รู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือสังคม
พอได้ออกเหตุไปเรื่อย ๆ ผมก็กล้าลุยงานหลากหลายมากขึ้น ทั้งปฐมพยาบาล เก็บชิ้นส่วนศพ แม้กระทั่งแอดวานซ์ถึงขั้นไปล้างป่าช้า นั่งเก็บ ล้าง ขัด เรียงกระดูกก็เคยทำมาแล้ว เรียกว่า เอาความกลัวเก็บไปได้เลย
ถึงตอนนี้ผมเข้าใจประโยคที่ว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ” จริง ๆ เพราะถึงผมจะให้ก่อนก็จริงแต่สุดท้ายผมเองก็ได้รับกลับมาด้วย เพราะเคสต่าง ๆ ที่ผมได้เจอมานั้น ช่วยสอนอะไรดี ๆ ให้ผมมากมาย ทั้งสอนใน เชิงพุทธศาสนา ว่า ชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ต่อให้รวยล้นฟ้า ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ ร่างกายย่อมมีวันเสื่อมเป็นธรรมดา พอตายไปร่างกายก็ไม่ต่างจากก้อนเนื้อ ผมได้ประจักษ์ถึง ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก เชื่อไหมว่าเสียงร้องไห้ของพ่อแม่เวลาสูญเสียลูกไป มันบีบหัวใจผมแทบระเบิด ทำให้รู้เลยว่า “เราต้องรักแม่ให้มากขึ้นอีก”
การที่เราจะได้รับนั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า คนคนนั้นหรือสิ่งสิ่งนั้นจะให้เรามากเท่าไร ถูกใจเรามากแค่ไหน แต่สำคัญที่ว่า“เราต้องรู้จักที่จะเปิดใจรับ และรับให้เป็นก็พอ” บางคนแม้จะใช้ชีวิตมาทั้งชีวิต แต่ก็ยังไม่เคยมองเห็นการรับแบบนี้เลย เมื่อไรที่รับเป็น เราก็จะรู้ว่า “ทุกอย่างในโลกนี้มันดีทุกอย่างจริง ๆ”
สิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้อาจจะยังไม่ถึงขั้นว่าเป็นมนุษย์ที่ดีสมบูรณ์แบบ แต่ผมก็ถือว่าโชคดีที่มีโอกาสได้เป็น “เทียน” ให้แสงสว่าง ให้ประโยชน์แก่ผู้อื่นบ้าง
ถ้าโชคดี มีคนเห็นสิ่งที่ผมทำแล้วกลายเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ให้เขา ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เหมือนที่ผมได้เห็นพี่ ๆ ทำงานกันมาก่อน ผมอยากให้เราช่วยกันจุดเทียนต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าเทียนใครติด ๆ ดับ ๆ เราก็ช่วยกันต่อเทียนให้แสงสว่างคืนกลับมาอีกครั้ง
ไม่นานนัก ทั้งประเทศของเราก็จะสว่างไสวไปด้วยความดีครับ
ที่มา : นิตยสาร Secret
เรื่อง : วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ ภาพ : สรยุทธ พุ่มภักดี