ฆ่าสัตว์ เพื่อการศึกษาบาปหรือไม่
ถาม: การที่จำเป็นต้อง ฆ่าสัตว์ หรือการุณยฆาตเพื่อการศึกษาเป็นบาปไหม ศีลจะขาดหรือไม่
ดร.พระมหาบวรวิทย์ รตนโชโต วัดรวกบางบำหรุ บางพลัด กรุงเทพฯ ตอบปัญหาเรื่องการ ฆ่าสัตว์ เพื่อการศึกษานี้ว่า
ตอบ: การฆ่า ไม่ว่าจะฆ่าแบบไหน ถือว่าเป็นการพรากชีวิตของสัตว์อื่น ล้วนเป็นบาปกรรมทั้งสิ้น ศีลจะขาดหรือไม่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ กล่าวคือ สัตว์นั้นมีชีวิต รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต มีจิตคิดจะฆ่า มีความพยายามฆ่า และสัตว์นั้นตาย หากประกอบด้วยองค์ 5 ประการนี้ ถือว่าศีลข้อที่ 1 ขาดทันที ส่วนจะบาปมากหรือน้อยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือตัวแปรคือ สัตว์นั้นมีคุณหรือมีโทษ ตัวเล็กหรือตัวใหญ่ มีความพยายามในการฆ่ามากน้อยแค่ไหน เจตนาที่มุ่งสังหารนั้นโหดร้ายทารุณอย่างไร หากสัตว์นั้นมีแต่โทษ เป็นสัตว์ตัวเล็กทำให้มีความพยายามในการฆ่าน้อย จิตเจตนาในการสะสมการฆ่านั้นก็ไม่มากและรุนแรง บาปกรรมนั้นก็ไม่มาก แต่หากสัตว์นั้นมีคุณประโยชน์ เป็นสัตว์ตัวใหญ่ ต้องใช้ความพยายามในการฆ่ามาก จะทำให้จิตเจตนาสะสมความโหดร้ายทารุณมากตามไปด้วย
อีกมุมหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอคือ ศีลกับธรรม หรือเบญจศีลและเบญจธรรม บางทีขาดศีลแล้วรักษาธรรม บางทีรักษาศีลแล้วสลัดธรรมโดยจับกันเป็นคู่ ๆ คือ ฆ่าสัตว์ กับมีเมตตากรุณา ลักขโมยของคนอื่นกับสัมมาอาชีวะ นอกใจคู่ครองหรือละเมิดเรื่องเพศกับกามสังวร มิจฉาวาจากับสัมมาวาจา ดื่มของมึนเมากับมีสติสัมปชัญญะ ผู้ปฏิบัติธรรม บางทีก็ต้องเลือกเอาระหว่างข้างใดข้างหนึ่ง หรือเลือกทั้งสองข้าง แต่ความหนักเบาต่างกัน
ธรรมะจากดร.พระมหาบวรวิทย์ รตนโชโต : พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา
หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ Secret Magazine (Thailand)
ฆ่าอย่างไรไม่ให้บาป
ท่าน ว.วชิรเมธีได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
การฆ่าสัตว์ที่จะถือว่าเป็นการละเมิดศีล และเป็นบาปโดยสมบูรณ์ (ปาณาติบาต) ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 5 ประการ
(1) สัตว์มีชีวิต (2) รู้ว่าสัตว์มีชีวิต (3) มีจิตคิดจะฆ่า (4) พยายามฆ่า (5) สัตว์ตาย
การฆ่าสัตว์จะถือว่าบาปมากบาปน้อย มีเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาก็คือ “เจตนา” ถ้ามีเจตนาฆ่ารุนแรง ในลักษณะตั้งใจ หรือวางแผนไว้ก่อน บาปก็หนัก ผลกรรมก็รุนแรง ในทางกฎหมาย ก็ถือเช่นเดียวกัน โดยกล่าวว่า “กรรมย่อมส่อเจตนา” แต่การฆ่าที่ไม่มีเจตนา ไม่ถือว่าเป็นบาป แต่เป็นเพียง “กิริยา” อย่างหนึ่งเท่านั้น เช่น พระตาบอดรูปหนึ่ง เดินไปเหยียบแมลงเม่าตายเป็นเบือ มีคนไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า ท่านเป็นพระอรหันต์แล้วเจตนาฆ่าไม่มี ก็ไม่ถือว่าเป็นบาป
การที่เราฆ่าสัตว์ โดยอ้างเหตุผลว่า สัตว์นั้นเป็นอันตรายต่อเรา ถามว่าบาปไหม ก็ตอบได้ว่า “บาป” เหมือนกัน แต่จะบาปมากบาปน้อยขึ้นอยู่กับ “เจตนา” และองค์ประกอบห้าประการดังกล่าวมาข้างต้น นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาเกณฑ์ต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น
– เป็นสัตว์ใหญ่หรือเป็นสัตว์เล็ก
ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ก็ถือว่าบาปมาก สัตว์เล็กก็บาปน้อย
– เป็นสัตว์มีคุณมากหรือมีคุณน้อย
ถ้ามีคุณมากอย่างคน ควาย วัว ก็มีบาปมาก แต่ถ้ามีคุณน้อยก็บาปน้อยลงตามส่วน (ขออนุญาตไม่ยกตัวอย่าง เดี๋ยวสัตว์เล็ก ๆ ทั้งหลายจะเดือดร้อน)
การที่เราบอกว่าสัตว์บางชนิดเราจำเป็นต้องฆ่าเพราะเขาเป็นอันตรายต่อเรา นี่ก็เป็นทัศนะหนึ่งที่พอฟังได้ แต่หากมองในมุมกลับกัน บางทีสัตว์ก็อาจพูดถึงคนในทางกลับกันว่า คนเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อเขา ดังนั้นเขาก็จำเป็นต้องฆ่าคน เช่น งูเห่า งูจงอาง เห็นคนมาก็กัดจนถึงแก่ชีวิต บางทีถ้ามองในมุมของสัตว์ก็อาจกล่าวได้ว่า สัตว์ก็อาจมีความชอบธรรมในการฆ่าคนเหมือนกัน ดังนั้นการที่เราจะอ้างว่าเราจำเป็นต้องฆ่าสัตว์เพราะสัตว์เป็นอันตรายต่อเรา ก็ต้องพยายามมองในมุมกลับกันได้ อย่ามองในลักษณะ “เอาคนเป็นศูนย์กลาง” เสมอไป ถ้าเราลองมองอะไรหลาย ๆ มุมก็จะพบว่า บางครั้งเหตุที่เราอ้างขึ้นมาเพื่อฆ่าสัตว์นั้น เป็นเหตุอันไม่ควรอ้าง แต่เป็นเพราะเราเห็นแก่ตัวต่างหาก
คนที่มีอาชีพฆ่าสัตว์ก็บาปอยู่แล้ว จะบาปมากบาปน้อยก็ให้พิจารณาตามเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนเพชฌฆาต ถ้าไม่มีเจตนาฆ่าก็บาปน้อย แต่ถ้ามีเจตนาฆ่ามาเป็นตัวร่วม และทำการฆ่าอย่างสนุกสนาน มีความสุขจากการฆ่า ก็แน่นอนว่าบาป ยิ่งฆ่าคนไม่ผิดหรือฆ่าคนที่ชีวิตมีคุณค่ามาก ก็บาปมาก แต่ถ้าฆ่านักโทษอุกฉกรรจ์ที่เป็นคนผิดจริง ก็บาปน้อย จะไม่ให้บาปเลยนั้นหายากมาก ยกเว้นเพชฌฆาตที่มีใจบริสุทธิ์ ฆ่าเพียงเพราะเป็นหน้าที่ ไม่มีเจตนาฆ่าร่วมในการฆ่าเลยก็ไม่บาป แต่โดยมากคนอย่างนี้หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร
ที่มา นิตยสาร Secret
บทความน่าสนใจ
Q : การฆ่าตัวตาย ถือเป็นบาปกว่าฆ่าคนอื่นเป็นเรื่องจริงไหมขอรับ
Q: ฆ่าสัตว์เพื่อป้องกันตัว เช่น งูพิษ บาปมากไหมคะ
ทุกการฆ่าล้วนเป็นบาป บทความธรรมะดี ๆ โดย ท่านว.วชิรเมธี
ผิดหวังจากความรัก จนคิดอยากฆ่าตัวตาย แล้วจะช่วยให้พ้นทุกข์หรือเปล่า