เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้แว้ง “กัด” พ่อแม่ บทความดีๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี
เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้แว้งกัดพ่อแม่? การเลี้ยงลูก ไม่ใช่งานง่ายๆ แต่เป็นงานยากยิ่งกว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีเสียอีก เพราะต้องดูแลกันไปตลอดชีวิต ใช่ว่าคลอดลูกแล้วก็เดินหันหลังได้เลย เหมือนวัวเหมือนควายที่พอคลอดลูกออกมาลูกก็เดินไปหาหญ้ากินเองได้ แต่ลูกคนนั้นถ้าคลอดออกมาแล้ว พ่อแม่ไม่ดูแล ก็เรียกได้ว่าแทบจะเอาตัวไม่รอดกันตอนนั้นเลยทีเดียว
การเลี้ยงลูกที่บอกว่ายากก็เพราะว่าต้องใช้ทั้งความรัก ความรู้ความอดทน และคุณธรรมอีกสารพัดประกอบกัน ลำพังให้ความรักอย่างเดียว ถ้ามากเกินไปก็จะทำให้ลูกกลายเป็นลูกแหง่ อ่อนแอทำอะไรไม่เป็น ความรู้ ถ้าให้มากเกินไปก็จะกลายเป็นคนแข็งกร้าวไม่ยอมฟังใคร เชื่อมั่น อวดดื้อถือดีว่ามีความรู้สูง บางรายพานดูถูกพ่อแม่ที่มีการศึกษาต่ำกว่าตนก็มี ความอดทน ถ้าขาดปัญญาก็กลายเป็นการยอมจำนนได้เหมือนกัน ดังนั้นคนเป็นแม่จะต้องเรียนรู้ที่จะปรับคุณธรรมต่างๆ ในการเลี้ยงลูกให้ลงตัวพอดี งานเลี้ยงลูกจึงจะประสบความสำเร็จ
หลักในการเลี้ยงลูกนั้น ท่านวางไว้ว่า ต้องปฏิบัติตามหลัก“พรหมวิหารธรรม” ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ กล่าวคือ
- เมตตา คือความรัก ใช้ในยามปกติ
- กรุณา คือความช่วยเหลือ ใช้ในยามมีปัญหา
- มุทิตา คือความยินดีปรีดา ใช้ในยามเจริญก้าวหน้า มีความสุขสำเร็จ
- อุเบกขา คือความเป็นกลาง ใช้ในยามที่คนทำผิดกฎศีลธรรม /กฎหมาย
ข้อที่ควรพิจารณาหรือตั้งเป็นข้อสังเกตในการใช้พรหมวิหารธรรมเลี้ยงลูกคือ
- เมตตา ถ้ามากเกินไป พ่อแม่จะตามใจลูก (ลูกบังเกิดเกล้า)
- กรุณา ถ้ามากเกินไป พ่อแม่จะทำทุกอย่างแทนลูก (ลูกแหง่)
- มุทิตา ถ้ามากเกินไป พ่อแม่จะส่งเสริมไปเสียทุกเรื่อง (ลูกสำคัญตนผิด เช่น ลูกไปทำเรื่องเสียหาย พ่อคอยให้ท้าย หรือคอยปกป้อง สุดท้ายลูกยิ่งเสียคน)
- อุเบกขา ถ้ามากเกินไป พ่อแม่จะกลายเป็นคนใจไม้ไส้ระกำ
ถ้าลูกขอเงินไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง แม่ก็ต้องยืนหยัดที่จะไม่ให้ แต่ในการยืนหยัดนั้น แม่ก็ต้องชี้แจงด้วย ไม่ใช่ไม่ให้โดยไม่บอกที่มาที่ไปหรือไม่มีเหตุผลให้ลูก
ถ้าลูกเป็นคนก้าวร้าว แม่ก็ต้องหาวิธีที่นุ่มนวลในการปฏิเสธ การ“ตามใจลูก” ด้วยการ “สงสารลูกมากเกินไป” จะทำให้ลูกได้ใจ พอเขาได้ใจ วันไหนไม่ได้ดั่งใจขึ้นมาก็จะพาล ซึ่งผลเสียก็คือ พอเขาพาลพาโลโมโหเมื่อไหร่แล้วได้ดังประสงค์ เขาจะจดจำพฤติกรรมเช่นนั้นไว้ ถ้าใช้เมื่อไหร่แล้วได้ผล เขาก็จะทำซ้ำอีก ถ้าแม่ยังคงยอมเขาทุกครั้ง สุดท้ายเขาจะกลายเป็น “ลูกบังเกิดเกล้า” ส่วนแม่ก็จะกลายเป็นเพียง“ทาส” คนหนึ่งของลูกเท่านั้น
การเลี้ยงลูกจึงต้องใช้ธรรมะ ใช้ปัญญาอยู่เสมอ ลำพังความรักอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสอนลูกให้เป็นคนดีมีศีลธรรมได้
อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้กำลังใจคุณและคุณแม่ ค่อยๆ คิดค่อยๆ แก้ปัญหากันไป โดยใช้พรหมวิหารธรรมเป็นเครื่องมือ เรื่องไหนที่ยอมได้ก็ยอม แต่เรื่องไหนที่เสียหายก็ต้องยืนหยัดที่จะไม่ยอม
การถอยให้ความเลวบ่อยๆ ทำให้คนเลวได้ใจ พ่อแม่ต้องกล้าที่จะหยัดยืนบอกลูกว่า อะไรผิด อะไรถูก และลูกก็เหมือนกัน ต้องรู้ว่าพ่อแม่นั้นเป็น “ผู้บังเกิดเกล้า” ไม่ใช่ข่มขู่ คุกคาม ทำดังหนึ่งพ่อแม่เป็นทาสของตน
ลูกที่ทำเช่นนี้ นับว่าทำไม่ถูก และกำลังก่อบาปกรรมแก่ตัวเองโดยแท้
เรื่อง ท่าน ว.วชิรเมธี