สอนลูกให้เป็นคนดี

เรียนรู้วิธี ” สอนลูกให้เป็นคนดี ” ของสังคม – พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

เรียนรู้วิธี สอนลูกให้เป็นคนดี ของสังคม

พ่อแม่ทุกคนต่างก็รักลูก และปรารถนาจะ สอนลูกให้เป็นคนดี มีความสุขมีความสำเร็จในชีวิต ทั้งด้านการศึกษา หน้าที่การงาน และชีวิตครอบครัว

มีแม่หลายคนมาปรึกษาผู้เขียนว่าจะสอนลูกอย่างไรให้เขาเป็นคนดี บางคนอยากให้ลูกมาปฏิบัติธรรม บางคนพาลูกมาทำบุญให้คุ้นเคยกับวัด เหล่านี้ล้วนเป็นความพยายามของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกเป็นคนดี

คนเรามีพื้นฐานจิตต่างกัน จะใช้คำสอนและวิธีการสอนเหมือนกันไม่ได้ พ่อแม่หลายคนไม่วิเคราะห์ถึงอุปนิสัยของลูก พยายามเอาความคิดเห็นของตนเป็นบรรทัดฐานให้ลูกปฏิบัติ โดยไม่ตระหนักว่า คำที่พร่ำสอนให้ลูกปฏิบัตินั้นไม่สอดคล้องกับจริตนิสัยและวัยของลูก จึงเป็นการยัดเยียดให้ลูกปฏิบัติ แทนที่จะได้ผลดี กลับเป็นผลเสีย ทำให้ลูกไม่เชื่อฟัง มีปากเสียงกันเป็นประจำ เป็นทุกข์กันทั้งพ่อแม่และลูก เราควรจะสอนลูกอย่างไรและควรจะเริ่มสอนในวัยใด

เมื่อลูกอยู่ในครรภ์ก็เริ่มสอนลูกได้แล้ว จากการสะกดจิตของ ดร.ไบรอัล แอล. ไวส์ (Dr.Brian L.Weiss) จิตแพทย์ชาวอเมริกัน รักษาคนไข้ด้วยวิธีการสะกดจิต พบว่า คนไข้หลายคนเมื่ออยู่ในครรภ์มารดาก็สามารถรับรู้เรื่องบางเรื่องที่มารดาได้รู้มา ความรู้ดังกล่าวแม้เมื่อเกิดมาเด็กจะจำไม่ได้ แต่ก็เก็บสะสมไว้ในจิตใต้สำนึก ด้วยเหตุนี้แม่สมัยใหม่หลายคนเมื่อตั้งครรภ์จึงเริ่มสอนลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น อยากให้ลูกสนใจดนตรีก็ฟังเพลง อยากให้ลูกสนใจธรรมะก็ฟังหรืออ่านหนังสือธรรมะ เข้าปฏิบัติธรรมเพื่อปลูกฝังธรรมะให้กับลูกในครรภ์ เป็นต้น

เมื่อลูกคลอดออกมาอยู่ในวัยทารก แม้เขาจะยังไม่แสดงออกถึงความรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่สอน แต่สิ่งที่อยู่รอบข้างจะช่วยให้เขาซึมซับเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ของเขา ด้วยเหตุนี้เราจึงสอนเด็กทารกได้ด้วยสัมผัสที่อ่อนนุ่ม ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมที่ปกป้องคุ้มครองเขา เลี้ยงดูเขาดุจไข่ในหิน

เมื่อลูกรักเริ่มเจริญวัยถึงคราวที่จะป้อนข้าว แม่ก็ควรปลูกฝังให้สิ่งที่เป็นสารประโยชน์ให้ลูกได้เรียนรู้ ผู้เขียนอยากจะกล่าวว่าการเลี้ยงลูกของคนไทย (ส่วนใหญ่) จะปลูกฝังเรื่องอารมณ์ความรู้สึกตลอดจนอัตตาตัวตนให้ลูก มากกว่าจะปลูกฝังเรื่องเหตุผล ตัวอย่างเช่น เมื่อเริ่มป้อนข้าวลูก แม่หรือผู้ที่คอยป้อนข้าวจะใช้คำพูดกระตุ้นให้เด็กกินข้าวว่า หม่ำนะลูก อร่อย ๆ เรามักจะใช้คำว่าอร่อยเป็นแรงจูงใจให้เด็กกินข้าว

อร่อยเป็นความรู้สึก เป็นเรื่องของอารมณ์ ไม่ใช่เหตุผล หากจะสอนเรื่องเหตุผลจะสอนอย่างไร

หม่ำนะลูก หนูกินข้าว หนูจะได้โตไวๆ จะได้แข็งแรง วันนี้แม่มีไข่มาให้หนูกิน ไข่มีประโยชน์มาก ช่วยให้หนูแข็งแรง ฉลาด วันนี้แม่มีผักผลไม้มาให้ จะช่วยให้หนูถ่ายง่าย ช่วยให้แข็งแรง เห็นไหมวัวตัวโตกินผักกินหญ้าทั้งนั้น วันนี้แม่มีนมมาให้หนูกิน จะช่วยให้หนูโตเร็วๆ แข็งแรง และฉลาดด้วย นักกีฬาที่แข็งแรงกินนมกันทุกวันนะ

แรกๆ เด็กอาจจะยังไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องคุณค่าของสารอาหาร แต่เมื่อเด็กได้ฟังบ่อยๆ ก็จะซึมซับและจดจำคุณประโยชน์ของอาหาร ต่อไปเด็กก็จะเลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แทนที่จะกินเพราะอร่อยตามที่ถูกกระตุ้นฝังหัวมาตั้งแต่เล็ก บางคนแม้โตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่กินผักเพราะไม่อร่อย จะเลือกกินแต่ของอร่อย ซึ่งบางอย่างไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายเท่าที่ควรและบางอย่างกลับเป็นโทษด้วยซ้ำ

นอกจากสอนเรื่องอารมณ์ความรู้สึกแล้ว สังคมไทยยังสอนลูกหลานให้มีอัตตากันตั้งแต่เด็กๆ ดังเช่นเมื่อเด็กเริ่มตั้งไข่หรือหัดเดิน พอเด็กตั้งไข่ได้หรือเดินก้าวแรกๆ ได้ ผู้เลี้ยงก็จะชื่นชมเด็กว่า เก่งมาก ๆ บางครั้งก็ปรบมือให้กำลังใจ ยินดีกันใหญ่ เป็นการปลูกฝังให้เด็กเข้าใจว่า ฉันทำได้ ฉันเก่ง มีคนเห็นความเก่งของฉัน

บางครั้งเด็กล้มลง ผู้เลี้ยงก็จะถลาเข้าไปหาเด็ก แสดงความตกใจห่วงใยกลัวว่าเด็กจะเจ็บ อากัปกิริยาอันลุกลนของผู้เลี้ยงที่ถลาเข้าไปหาเด็กทำให้เด็กร้องไห้ด้วยความตกใจมากกว่าจะร้องเพราะเจ็บ ยิ่งทำให้ผู้เลี้ยงห่วงใย เข้าไปอุ้มกอดเด็กเอาไว้ พร้อมกับปลอบโยนว่า โอ๋ ไม่เป็นไรนะลูก ไม่เจ็บนะลูก หากเด็กยังไม่เลิกร้อง ผู้ใหญ่บางคนเป็นเอามากถึงกับเอามือไปตีพื้น หาว่าทำให้เด็กเจ็บ พร้อมกับส่งเสียงว่า นี่ ๆ ทำลูกฉัน ทำให้ลูกฉันเจ็บ… โอ๋ ลูกหยุดร้องเสียนะ แม่ตีให้แล้ว

พฤติกรรมดังกล่าวปลูกฝังอะไรกับเด็ก เท่ากับทำให้เด็กเรียนรู้ว่า เมื่อฉันพลาดพลั้ง ฉันล้มเหลว จะต้องมีคนคอยช่วยประคับประคองฉัน อยู่เคียงข้างฉัน คอยให้กำลังใจฉัน และต้องมีตัวการที่ทำให้ฉันพลั้งพลาด ล้มเหลว เหมือนพื้นที่ทำให้ฉันล้ม ความรู้สึกเช่นว่านี้จะติดตัวไปจนถึงผู้ใหญ่แม้วันตาย

เป็นการสอนเรื่องอารมณ์และความรู้สึก ไม่ใช้ความคิดหาเหตุผลไม่ช่วยตัวเอง ชอบพึ่งคนอื่น ชอบโทษคนอื่น

หากสอนให้มีเหตุผล สอนให้รู้จักช่วยตัวเองจะสอนอย่างไร

เมื่อเด็กล้มลงก็ไม่ต้องไปตกอกตกใจ ไม่ต้องเข้าไปประคอง พูดกับเด็กด้วยเสียงปกติว่า ไม่เป็นไรหรอกลูก แรก ๆ ทุกคนก็ล้มกันอย่างนี้เป็นธรรมดา หนูล้มได้ก็ลุกเองได้ ไหนลองลุกขึ้นเองดูซิ เอามือสองข้างวางไว้กับพื้น ยันพื้นไว้อย่างนี้นะ (ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง) ทำก้นโด่งอย่างนี้ เอ้า ลองยกตัวขึ้น เห็นไหม หนูลุกขึ้นเองได้แล้ว  

วัยที่เด็กยังช่วยตัวเองไม่ได้จนถึงวัย 4 – 5 ขวบ พ่อแม่จะต้องอบรมสั่งสอนเด็กเสมือน เป็นครู ประจำตัวของลูก เพราะเด็กวัยนี้ยังต้องการคำสอนและความใกล้ชิดกับพ่อแม่ การปลูกฝังในวัยดังกล่าวเป็นการวางรากฐานความคิด นิสัยใจคอ ให้หยั่งลงสู่จิตใต้สำนึกของเด็ก ไม่เพียงแต่จะสอนในเรื่องเหตุผลและการรู้จักช่วยตัวเองเท่านั้น ยังต้องสอนให้เด็กมีระเบียบวินัย รู้จักรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักเสียสละแบ่งปันสิ่งที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น เรียนรู้ถึงความแตกต่างของสิ่งต่างๆ และของคนแต่ละคนทั้งด้านความคิดและพฤติกรรมให้สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ โดยเคารพสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่น

การสอนที่ดีคือการทำให้เห็น นำสู่การปฏิบัติ แทนที่จะพร่ำบ่นพร่ำสอน ซึ่งได้ผลน้อย น่าเบื่อ แต่การลงมือปฏิบัติจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่เป็นประสบการณ์ เป็นวิถีชีวิต

ครั้นลูกอายุ 6 ขวบเป็นต้นไป เด็กเริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเอง อยากให้ผู้ใหญ่ยอมรับว่าเขาก็คิดเองได้ทำเองได้ หากพ่อแม่ยังพร่ำสอนเหมือนเดิม เด็กจะเบื่อคำสอน บางครั้งก็ต่อต้าน เริ่มจะไม่เชื่อฟัง วัยนี้พ่อแม่ควรจะเปลี่ยนบทบาทความเป็นครู มา เป็นที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำบ้าง สอนบ้าง ให้เขาคิดเอาเองบ้าง

ครั้นลูกเข้าสู่วัยรุ่น เป็นวัยที่มีความคิดเห็นเป็นของตนเองมากขึ้น อยากรู้ อยากลอง ต้องการให้ผู้อื่นยอมรับ อยากเด่น สนใจสิ่งใหม่ ๆ ตามกระแสโลก วัยนี้ลูกไม่ค่อยจะต้องการคำสั่งสอนของพ่อแม่ หากพ่อแม่ยังพร่ำสอน ลูกจะโต้แย้ง เขาเบื่อคำสอนที่ซ้ำซาก เขาต้องการคนที่รู้ใจ คอยให้กำลังใจ ลูกจึงติดเพื่อน เพราะเพื่อนเป็นผู้รู้ใจ คอยให้กำลังใจ เขาจึงไม่อยากอยู่บ้าน เพราะที่บ้านมีคนขัดใจ ไม่รู้ใจ ไม่ให้กำลังใจ พ่อแม่จึงควรเปลี่ยนบทบาท เป็นเพื่อน ของ ลูก เรียนรู้และสนใจในสิ่งใหม่ๆ ตามกระแสโลกเหมือนที่ลูกสนใจ คุยกับลูกได้ในเรื่องต่างๆ เช่น ดนตรี กีฬา ดารา แฟชั่น คอยให้กำลังใจให้คำแนะนำปรึกษาเขา และตักเตือนเป็นครั้งคราว

พฤติกรรมของลูกจะเป็นเช่นใด พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมเขา ในวัยที่ควรสอนไม่รีบสอน วัยที่ไม่ควรสอนกลับพร่ำสอน ครอบครัวเป็นรากแก้วของสังคม ครอบครัวผลิตคนเช่นใดออกสู่สังคม สังคมและประเทศชาติก็เป็นเช่นนั้น เราเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ที่อยู่นอกตัวมากมาย แต่เรื่องตัวเองเรื่องของครอบครัวกลับไม่สอนในสถาบันการศึกษา

เรากำลังหาแนวทางปฏิรูปประเทศชาติ หากไม่คิดปฏิรูปสถาบันครอบครัว จะสำเร็จได้อย่างไร

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.