วิธีฝึกปฏิบัติสมาธิ ในแบบฉบับของในหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนผู้ถือปฏิบัติอย่างจริงจัง รวมถึงให้ความสนพระทัยศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ โดยพลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า วิธีฝึกปฏิบัติสมาธิ
“คนไทยเรามีพระเจ้าอยู่หัวที่วิเศษสุด เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่มีบ้านไหนเมืองไหนเหมือน พระองค์ทรงศึกษาและปฏิบัติธรรมโดยตลอดและต่อเนื่อง รวมทั้งทรงประยุกต์ธรรมะเข้ากับพระองค์เอง ในการประกอบพระราชกรณียกิจทุกอย่างทั้งน้อยและใหญ่ได้เป็นอย่างดี จึงทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนักในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้
“พระเจ้าอยู่หัวทรงฝึกสมาธิจนเป็นพระนิสัย เพราะฉะนั้นเวลาจะทำอะไรก็ตาม พระสมาธิก็จะไปกำกับการกระทำต่างๆ โดยอัตโนมัติ อย่างเวลาทรงงาน พระองค์ท่านก็จะทรงทำอย่างจดจ่อ ถ้างานไม่เสร็จก็ไม่หยุด ต่อให้เป็นงานที่ต้องใช้กำลังกายกำลังใจมากๆ อย่างการพระราชทานปริญญาบัตร ที่ต้องทรงประทับอยู่ในที่ประชุม 4 ชั่วโมงเต็มๆ พระเจ้าอยู่หัวท่านก็ทรงได้โดยไม่มีปัญหา และไม่ทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถเลย ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับไปถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในตอนค่ำวันนั้น พระเจ้าอยู่หัวยังทรงออกพระกำลังบริหารพระวรกายด้วยการวิ่งในศาลาดุสิดาลัยอีก ผู้ที่ทำแบบนี้ได้ต้องมีสมาธิเยี่ยมจริงๆ เท่านั้น”
ด้วยการที่พระองค์ทรงถือปฎิบัติอย่างจริงจังสม่ำเสมอนี้เอง จึงได้ทรงกลายเป็นแบบอย่างให้บรรดาข้าราชสำนัก ข้าราชบริพารหลายคน ทั้งฝ่ายพลเรือนและนายทหารราชองครักษ์ พลอยเห็นถึงคุณค่าของการประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรม รวมทั้งเจริญรอยตามพระยุคลบาทด้วยการฝึกสมาธิและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่าจะทรงสอนข้าราชบริพารด้วยการปฏิบัติให้ดูเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องทางธรรม พระองค์ทรงส่งเสริมให้ประชาชนยึดมั่นในพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดสังคม ที่ดีงาม โดยทรงให้เริ่มต้นจากการพัฒนาภายในใจให้ได้เสียก่อน จากนั้นจึงนำไปสู่การพัฒนาภายนอกต่อไป
นี่คือหลักในการพัฒนาคนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดถือเสมอมาจวบทุกวันนี้
ฝึกปฏิบัติสมาธิในแบบฉบับของในหลวง
พลตำรวจเอกวสิษฐเคยอธิบายเรื่องการกำหนดพระอัสสาสะ (ลมหายใจเข้า) และพระปัสสาสะ (ลมหายใจออก) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอาไว้ใน “พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว” ดังนี้
“หายใจเข้าครั้งที่หนึ่ง นับหนึ่ง หายใจเข้าครั้งที่สอง นับสอง หายใจเข้าครั้งที่สาม นับสาม หายใจเข้าครั้งที่สี่ นับสี่ หายใจเข้าครั้งที่ห้า นับห้า และวนกลับมาที่หายใจออกครั้งที่หนึ่ง นับหนึ่ง ไปจนถึงหายใจออกครั้งที่ห้า นับห้า เมื่อถึงห้าแล้ว หากจิตยังไม่สงบ ก็นับถอยหลังจากห้าลงมาหา หนึ่ง แล้วนับจากหนึ่งขึ้นไปหาห้าใหม่ กลับไปกลับมาเช่นนั้นจนกว่า จิตจะสงบ รับสั่งว่า ที่เห็นพระองค์ประทับอยู่นิ่งๆ นั้น พระจิตทรงอยู่กับหนึ่งเข้า หนึ่งออก ตลอดเวลา”
นี่เป็นวิธีการกำหนดลมหายใจแบบง่ายๆ ที่เราทุกคนสามารถ นำมาปฏิบัติและนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้ เช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำสำเร็จมาแล้ว
ขอขอบคุณ: หนังสือ ‘พ่อหลวง พ่อของแผ่นดิน’ โดยกลุ่มเพื่อนธรรม เพื่อนทำ, หนังสือ ‘ธรรมดีที่พ่อทำ’ โดย คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย, พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร สำหรับข้อมูล และ นิตยสารซีเคร็ต ฉบับที่ 201
ภาพ www.amarinphotobank.com
บทความน่าสนใจ
3 เรื่องเล่าในหลวง จากองคมนตรี ความทรงจำประทับใจที่ไม่มีวันลบเลือน
บทสวดพร้อมคำแปล คาถาถวายพระราชกุศล ในหลวงรัชกาลที่ 9
เซ็ง แซ่ลี ตามรอยในหลวง ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ รายได้กว่าเจ็ดหลัก
การฝึกสติ “พละ ๕ คือกำลังหนุนจิต” – พระราชหฤทัยจากในหลวงรัชกาลที่ ๙
วัดโปรดเกศเชษฐาราม วัดหนึ่งเดียวในพระประแดง รับเสด็จในหลวงของชาวไทย