พระอาจารย์ครรชิต

อยู่ก็สบาย ตายก็สงบ ธรรมะจาก พระอาจารย์ครรชิต อกิญจโน

อยู่ก็สบาย ตายก็สงบ ธรรมะจาก พระอาจารย์ครรชิต อกิญจโน

เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วที่ พระอาจารย์ครรชิต อกิญจโน ทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้าย จนปัจจุบันเกิด โครงการ I see you โครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์โรงพยาบาล และชุมชน ในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะท้าย ซีเคร็ต มีโอกาสได้กราบสัมภาษณ์พระอาจารย์ถึงโครงการดังกล่าวซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพระจิตอาสา และทุกคนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย 

ทำไมพระอาจารย์ถึงสนใจมาทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยคะ

แรงบันดาลใจเกิดจากหลวงพ่อคำเขียนเมื่อปี พ.ศ. 2549 หลวงพ่อคำเขียนป่วยเป็นมะเร็ง อาจารย์ได้ดูแลท่านในห้องไอซียูโรงพยาบาลจุฬาฯ แล้วเห็นชัดเลยว่าผู้ป่วยที่มีหลักของใจกับผู้ป่วยที่ไม่มีหลักของใจต่างกันลิบลับ หลังจากหลวงพ่อคำเขียนถอดเครื่องช่วยหายใจครั้งแรก หลวงพ่อชี้ไปนอกห้องแล้วบอกว่า ดูคนป่วยสิ พอมองตามไปภาพที่เห็นคือญาติโยมยืนร้องไห้อยู่หน้าห้องส่วนคนไม่ป่วยนอนอยู่บนเตียง

จน ณ ความตายมาเยือน หลวงพ่อสามารถลุกไปเข้าห้องน้ำเอง ถ่ายอุจจาระขับปัสสาวะ เช็ดเนื้อเช็ดตัวให้สะอาด แล้วแต่งตัวขึ้นนอนบนเตียง ขอกระดาษมาเขียนลาตาย พอพระอุปัฏฐากอ่านเสร็จ ท่านยกมือสาธุ แล้วก็สีหไสยาสน์ดับลงตรงนั้น ตอนที่หลวงพ่อเข้าห้องน้ำเอง ไม่มีใครคิดหรอกว่าหลวงพ่อจะตาย หลวงพ่อเดินเข้าห้องน้ำเองไม่ต้องให้ใครประคอง แล้วไม่กี่นาทีต่อจากนั้น หลวงพ่อดับลง นี่คือความไม่ทุกข์

พุทธศาสนาไม่ได้เอาสวรรค์มาเป็นจุดขาย แต่เอาความไม่ทุกข์มาเป็นจุดขาย คุณสามารถมีชีวิตโดยที่ไม่ทุกข์ก็ได้ คุณจะจากไปพร้อมกับความไม่ทุกข์ก็ได้ คุณจะมีชีวิตอยู่อย่างไม่ทุกข์ก็ได้ พระพุทธเจ้าท่านแก่ไหมแก่ ท่านเจ็บไหม เจ็บ ท่านป่วยไหม ป่วยแล้วท่านตายไหม ตาย แต่สิ่งที่ท่านยืนยันและทำให้เราเห็นตลอดเวลาบรรพชาของพระองค์คือ พระองค์ไม่ทุกข์ และหลวงพ่อคำเขียนก็ย้ำตรงนี้ให้เห็นอีกว่า ในขณะที่ท่านป่วย ท่านก็ไม่ทุกข์

โครงการ I see you เริ่มต้นได้อย่างไรคะ

โครงการของเราเป็นการจัดอบรมให้ผู้เข้าร่วมการอบรมมีทักษะ มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะท้าย โดยทำงานเป็นทีม ทีมหนึ่งจะมีหมอ พยาบาลจิตอาสา และพระ เป็นการอบรมสองคืนสามวัน จากนั้นให้ท่านกลับไปทำที่โรงพยาบาลของท่าน พระก็เป็นพระประจำโรงพยาบาลเวลามีคนถามว่า ตอนนี้พระอาจารย์ทำอะไรก็จะบอกว่า กำลังปลุกเสกพระประจำโรงพยาบาล เขาถามอีกว่า พระอาจารย์ทำปางไหน ก็บอกว่า ปางกินข้าวได้ คือพระจริง ๆ ไม่ใช่พระเครื่อง

แต่ก็จะบอกโรงพยาบาลว่า เวลานิมนต์พระ อย่าเพิ่งรีบนิมนต์พระไปเจอเคสหนักเลย ควรเริ่มจากสร้างความคุ้นเคยระหว่างพระกับโรงพยาบาลก่อน ให้พระเดินเข้าเดินออกโรงพยาบาล ให้คนไข้คุ้นเคยก่อนว่ามีพระมาโรงพยาบาลเป็นประจำ จากนั้นนิมนต์หลวงพี่ให้มารับสังฆทาน แล้วก็ให้พรโยมหน่อย บางเวลาก็อาจนิมนต์มาทำวัตรเย็น คนไข้ทำวัตรหน่อยนะคะ พอเริ่มคุ้นเคยมากขึ้น พระไม่ตื่นสนาม ก็ค่อยบอกว่าหลวงพี่นิมนต์ให้กำลังใจเตียงนี้หน่อยค่ะ

ปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า ทุกโรงพยาบาลจะต้องมีทีมแพลลิเอทีฟแคร์ (Palliative Care) การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ก็เลยสานรับกับของเราพอดีเลย แต่ไม่รู้ว่าในบริบทของกระทรวงจะคิดถึงพระไหม

ตอนแรกพระอาจารย์คุยกับพระอาจารย์ไพศาลว่าหลักสูตรจะเป็นอย่างไรพระอาจารย์ไพศาลให้ผู้จัดการเครือข่ายพุทธิกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมซึ่งทำงานเกี่ยวกับการเผชิญความตายอย่างสงบโทร.หาพระอาจารย์ เขาให้พระอาจารย์ไปพรีเซ้นต์กับ สสส. ก็ได้งบจาก สสส. มาส่วนหนึ่ง เราก็ทำโครงการไปทีละจุด ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ จนเกิดเป็นกระบวนการขึ้นมา ต่อมา สสส.ไม่ได้สนับสนุนต่อ ก็เลยตัดสินใจทำเอง โดยมีกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศนี้หนุนหลัง คือ โยม โยม และโยม เรามั่นใจแหละว่าสิ่งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อพระศาสนา โยมก็ยินดีร่วมด้วยช่วยกันคนละเล็กคนละน้อยใส่เข้ามาคราวนี้ก็ตะลอนทัวร์ ใครอยากจัดเราก็ไปมีงบไม่มีงบไม่ว่า ขอให้คุณอยากจัด

คุณจัดการหาที่อบรม หาคนมาอบรมหาข้าวปลาอาหารของคุณ ส่วนเราจัดการของเราเองได้ไม่เป็นไร ถ้าคุณไม่ไหวจริง ๆ เราช่วยด้วย เขาเรียกว่าอะไรนะ ไปจ้างคนอื่นให้มาฟังตัวเองเทศน์ เคยมีคนถามว่าอาจารย์ไปจบอะไรมาที่ไหน ไม่จบที่ไหนหรอก นั่งยกมือสร้างจังหวะนี่แหละ นั่งทำกรรมฐานนี่แหละ

พระอาจารย์ครรชิต

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

หากผู้ป่วยไม่เคยฝึกจิตมาเลย จะเข้าใจไหมคะ

หลักการในการเยียวยาจิตใจไม่เกี่ยวกับเรื่องการฝึกกรรมฐาน คนทุกคนมีความดีอยู่ในตัว ทุกคนเคยทำบุญ เคยให้ทานเคยรักษาศีล แต่อาจไม่เคยภาวนา

การเยียวยาจิตใจนั้นสามารถทำได้โดยเราน้อมนำเขาให้ระลึกถึงบุญกุศล ระลึกถึงทาน ศีล บุญกุศลที่เขาเคยสร้าง เคยทำเขาเคยทำที่ไหน เขาเคยทำอย่างไร เพียงเท่านี้ใจของเขาที่มันห่อเหี่ยว ที่เป็นทุกข์ซึ่งเกิดจากความกังวล วิตกต่าง ๆ นานาจะคลายออก เมื่อจิตของเขาได้ระลึกถึงบุญกุศล ก็จะทำให้จิตมีกำลัง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ใดเจ็บป่วยจงน้อมนำจิตผู้ป่วยนั้นไปอยู่ในฝ่ายกุศล   เพราะเวลาคนเราป่วย ไม่ได้ป่วยแค่กายแต่ใจเป็นทุกข์ไปด้วย เนื่องจากหมกมุ่นครุ่นคิด ห่วงกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้

บางคนพอรู้ว่าตัวเองป่วย แต่คิดไปถึงโน่น งานศพ นั่นคืออาการแห่งการจ่อมจมลงไปในวังวนแห่งความคิด นี่แหละคือสมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) ที่บีบคั้นจิตใจให้ตรอมตรมกินไม่ได้ นอนไม่หลับ สารพัดที่จะเป็น ถ้าเราได้น้อมนำจิตของเขา พาเขาระลึกถึงบุญกุศล คิดถึงความดี คิดถึงสิ่งที่เขาเคยสร้างเคยทำ แค่ถามว่าเคยใส่บาตรไหม พอเขาบอกว่าเคยใส่บาตร ที่ไหนล่ะ ใส่กับพระกี่รูป จำได้ไหม เขาจะน้อมจิตมาคิดเรื่องใส่บาตรกับเรา

แค่นี้ก็หลุดออกจากความคิดวิตกกังวลแล้ว จิตเปลี่ยนทันที เปลี่ยนจากจิตที่วิตกกังวล ฟุ้งซ่าน หมกมุ่น ครุ่นคิดกับความทุกข์ทรมานทางจิตใจกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บหรืออะไรก็ตาม มาระลึกถึงบุญที่เขาเคยสร้าง เคยทำ เพียงเท่านี้เขาก็สามารถหลุดออกมาจากความทุกข์ทางจิตใจได้

พระอาจารย์มีวิธีเปลี่ยนจิตของคนป่วยอย่างไรคะ

วิธีง่าย ๆ เลยนะ ลองเอามือขวาวางไว้ตรงหัวเข่าดูสิ พอเขาทำตามก็ ลองหงายมือขึ้นสิ คว่ำมือลงสิ รู้สึกไหม รู้ไหมว่ามือขวาหงาย มือขวาคว่ำ รู้ไหม ต้องมองไหมไม่ต้องมองใช่ไหม แต่รู้ รู้ได้อย่างไร ใจเรารู้ จิตเรารู้ใช่ไหม พอจิตกลับมารู้ตรงนี้จะหลุดจากความคิด เมื่อหลุดจากความคิดก็จะหลุดจากความทุกข์ ทุกข์ก็ดับลงทันทีเพราะเหตุแห่งทุกข์คือจิตอันตกอยู่ในห้วงแห่งความคิด

เราจะตกหลุมอารมณ์ความคิดอะไรก็ช่าง เรากลับมารู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกยกมือขึ้นรู้สึก เพียงแค่นี้คนไข้ก็สามารถหลุดออกจากความรู้สึก ความนึกคิดหรืออารมณ์ต่าง ๆ กลับมารู้สึกตัว ให้จิตมาเป็นปกติทันที พอเขาทำไปสักพักหนึ่ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเขาจะทำผิดจังหวะ เราก็จะคอยทักเขาว่าเมื่อกี้หลงไปคิดใช่ไหม เอาใหม่ลองทำใหม่นะ พอกลับมาคิดมันก็ทุกข์

นี่คือสิ่งที่เราสามารถสอนเขาได้ง่าย ๆแม้ไม่เคยฝึกกรรมฐานมาเลยก็สามารถพาทำได้ ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องของกาย แต่ของแถมคือคนป่วยใจ แต่พอเราพาเขาทำอย่างนี้ เขาจะเข้าใจเลยว่า จริง ๆ แล้วใจเขาไม่ได้เป็นอะไร กายเท่านั้นที่เป็นอยู่ แล้วหมอก็กำลังรักษาอยู่

พระอาจารย์ครรชิต

คลิกเลข 3 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

สำหรับคนที่อยากเป็นจิตอาสาอยากมาเรียนกับพระอาจารย์ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างคะ

ไม่มีคุณสมบัติอะไรทั้งนั้น แค่ใจอยากมานี่ก็ถือว่าพร้อมแล้ว คนที่จะทำงานด้านนี้สิ่งแรกที่คุณต้องมีคือใจที่คิดจะช่วยเหลือคุณไม่จำเป็นต้องเรียนสูง เพราะเป็นเรื่องของกายกับใจ พอคุณมาหาพระอาจารย์ ก็ต้องมาเรียนรู้เรื่องใจเป็นทุกข์ได้อย่างไร แล้วจะออกจากทุกข์ใจได้อย่างไร นี่คือวิชาแรกที่ถ้าคุณไม่รู้ว่าใจเป็นทุกข์ได้อย่างไร คุณจะไปช่วยเขาได้อย่างไร ถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณจะออกจากทุกข์ใจได้อย่างไร คุณจะพาเขาออกจากทุกข์ได้อย่างไร นอกจากนั้นก็จะสอนให้รู้จักการฟัง การฟังผู้ป่วย เรียกว่าการฟังด้วยหัวใจ การสัมผัสผู้ป่วย และอีกหลายเรื่อง

คอร์สสามวันสองคืน แต่ใช้ได้ทั้งชีวิตใช้ได้แม้แต่วินาทีสุดท้ายของชีวิต เพราะตัวเองเป็นคนแรกที่จะได้เรียนรู้ทุกข์ การดับทุกข์และการที่ให้พระมาเรียน หนึ่งพระจะได้เรียนในสิ่งที่ต้องเรียนคือสติปัฏฐานเรียนรู้เรื่องทุกข์และการดับทุกข์โดยตรงสอง พระจะได้ทำหน้าที่ที่ควรทำ คือผู้นำทางจิตวิญญาณ ถ้าพระหันมาทำเรื่องนี้ก็จะเข้าใจและรู้จักคุณค่าความหมายของตัวเองแล้วพระจะอยู่ได้อย่างมั่นคง นี่คือการต่ออายุพระศาสนา คือสิ่งที่พระอาจารย์มุ่งหวังมากว่าให้พระศาสนาเจริญรุ่งเรืองและเป็นคำตอบของสังคมให้ได้ เป็นพระศาสนาที่มีชีวิตชีวาที่อยู่ในวิถีชีวิต

หลังอบรมเสร็จแล้วก็นำไปใช้ได้เลยหรือเปล่าคะ

วันที่สามช่วงท้าย เราให้เข้าเคสเลยคือเข้าเยี่ยมผู้ป่วยในวอร์ดจริง แล้วมานั่งคุยกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ป่วยระยะท้าย เพื่อให้รู้ว่ามันไม่ได้ยากที่ยากเพราะคิดว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้คือคิดมากไป มันทุกข์ตั้งแต่คิดแล้ว

ผู้ป่วยยังไงก็ต้องการคนมาเยี่ยม ใครก็ได้ที่จะไปเยี่ยมเขา ไปถามสารทุกข์สุกดิบแค่นั้นเอง เหมือนเราไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ใครก็ได้ แค่ไปถามว่า เป็นยังไงบ้าง กินข้าวได้ไหม นอนหลับหรือเปล่า สามคำถามนี้เป็นคำถามพื้น ๆ แต่ได้ใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลย

บางคนบอกว่า ผมไปเยี่ยมคนไข้ไม่ได้หรอก ผมพูดไม่เป็น ก็ไม่ได้บอกให้ไปพูดพูดไม่เป็นน่ะดีแล้ว เพราะให้ไปนั่งฟังเขาส่วนมากคนไข้มักถูกคนมาเยี่ยมบอกให้ทำนั่นทำนี่ กินนั่นไม่กินนี่ มีทั้งสอนทั้งสั่ง จนคนไข้บอกว่าอย่าให้ใครมาเยี่ยมเพราะเบื่อฟังแต่ถ้าเราไปฟัง คนไข้บางคนพอเขาได้ระบายสิ่งที่อยู่ข้างใน บางคนก็แข็งแรงขึ้นได้เฉยเลย

พระอาจารย์ครรชิต

ฟังดูแล้วคนที่เข้าอบรมเพื่อจะไปช่วยคนอื่นได้ประโยชน์ก่อนใครเลยใช่ไหมคะ

ก่อนจะไปช่วยคนอื่น คนเข้าอบรมต้องเรียนรู้เรื่องโรคว่า เราทุกข์อย่างไร เราจะออกจากทุกข์ได้ยังไง พอเข้าใจตัวเอง เราก็จะเข้าใจคนอื่น ทักษะมันจะเกิดขึ้นมาอย่างง่ายดาย เพราะคนทุกคนไม่ต่างกัน ทุกข์ทางกายอาจเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่เหมือนกัน แต่ทุกข์ทางใจมีเหตุเดียวเท่านั้น ไม่ว่าชาติไหนเหมือนกันหมด คือใจหลงไปปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นการดับทุกข์ใช้สิ่งเดียวเท่านั้นคือกลับมารู้สึกตัวนั่นเอง


เรื่อง กองบรรณาธิการ ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.