ขวานในปาก

หยุดเอา ” ขวานในปาก ” ทำร้ายตัวเอง บทความจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

หยุดเอา ” ขวานในปาก ” ทำร้ายตัวเอง บทความจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

บทความนี้มีที่มาจากบทความ ” ขวานในปาก ” คอลัมน์ You are what you do เขียนโดย พระอาจารย์ชาญชัย


พระพุทธองค์ตรัสว่า คนเราเกิดมามีขวานติดปากมาด้วย  ทุกครั้งที่พูดชั่วเท่ากับเอาขวานนั้นฟันตนเอง

คำพูดของคนเรามีความสำคัญมาก บางคำพูดเพิ่มคุณค่าให้ผู้พูด เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง แต่บางคำพูดก็ทำร้ายทำลายทั้งผู้พูดและผู้อื่น สมดังคำกลอนของ สุนทรภู่ ที่รจนาไว้ใน นิราศภูเขาทอง ความว่า

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ 

มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต

แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร

จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา…

คนเราใช้คำพูดประทุษร้ายกันมากโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะคนที่อยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะในครอบครัวหรือในที่ทำงาน

ในครอบครัว หากผู้อยู่ร่วมกันมีความเห็นไม่ตรงกันก็มักจะขัดคอกันอยู่เสมอ แรกๆ ก็ระมัดระวังคำพูดไม่ให้กระทบกระเทือนใจกัน ครั้นบ่อยครั้งเข้า ความเกรงอกเกรงใจลดลง จากนั้นก็จะปะทะคารมกัน เริ่มจากเบาไปสู่รุนแรง กลายเป็นคู่วิวาทะกันเป็นประจำ ความรักความผูกพันที่เคยมีต่อกันก็พลอยจางหาย หากรุนแรงและมีการปะทะกันเป็นประจำก็จะรู้สึกเบื่อหน่าย ถึงกับแยกกันอยู่

แท้จริงแล้วคนในครอบครัวเดียวกัน มีความรักความผูกพันใกล้ชิด เป็นหุ้นส่วนชีวิตร่วมกัน น่าจะเติมสิ่งดีๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้ความสุขแก่กัน ไม่น่าจะทำร้ายกันด้วยคำพูดเลย ทำไมกับคนอื่นซึ่งเป็นคนห่างไกล เราจึงอดทนอดกลั้นถนอมน้ำใจเขา ไม่ใช้คำพูดรุนแรงทำร้ายจิตใจเขา แต่นี่คนในครอบครัวที่เรารักแท้ๆ เหตุใดจึงใช้คำพูดทำร้ายจิตใจกันได้

สาเหตุสำคัญของความขัดแย้งก็คือ เขาพูดไม่ถูกใจเรา หรือเขาทำไม่ถูกใจเรา เราจึงทนฟังคำพูดหรือทนเห็นการกระทำของเขาไม่ได้ ทำให้เราโต้ตอบไป สิ่งที่เราโต้ตอบก็ไม่ถูกใจเขา เขาจึงโต้ตอบกลับมา กลายเป็นการปะทะคารมกัน เมื่อฝ่ายหนึ่งแรงมา อีกฝ่ายแรงกลับไป เมื่อเป็นเช่นนี้บ่อยๆ ความเกรงอกเกรงใจกันก็จะไม่มีคนที่อยู่ร่วมด้วยเมื่อพบเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ก็รู้สึกรำคาญ เครียด เบื่อหน่าย ทำให้บรรยากาศในบ้านขาดสันติสุข

เราจะแก้ข้อบาดหมางนี้ได้อย่างไร การแก้ปัญหาทุกปัญหาต้องรู้ต้นเหตุของปัญหานั้นๆ แล้วอย่าสร้างเหตุแห่งปัญหาอีก เมื่อหมดเหตุแห่งปัญหา ผลก็คือปัญหานั้นย่อมหมดไปด้วย

คนส่วนใหญ่มักจะมองต้นเหตุของปัญหาว่าอยู่ที่สิ่งอื่นนอกตัวเรา ไม่มองว่าอยู่ที่ตัวเรา จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เช่น มองว่าเขาพูดไม่ดี ทำไม่ดี ทำให้เรารู้สึกไม่พอใจ เราจึงโต้แย้งเขา หรือสอนเขา เพื่อให้เขาพูดและทำในสิ่งที่เราต้องการ ผลก็คือ เขาโต้แย้งกลับมา เราก็มักไม่ฟังเหตุผลของเขา จึงโต้แย้งกลับไป ทำให้ปัญหานั้นไม่จบ

แท้จริงแล้วเหตุแห่งปัญหาอยู่ที่ตัวเรา นั่นคือ เราอยากจะให้เขาคิด เขาพูด เขาทำในสิ่งที่เราต้องการ หรืออยากให้ได้อย่างใจเรา ครั้นไม่ได้อย่างใจเรา ความรู้สึกไม่พอใจจึงเกิดขึ้น ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจว่า คนแต่ละคนแสดงพฤติกรรมขณะใดขณะหนึ่งตามคุณภาพของกายและจิตของเขาในขณะนั้น เช่น หากร่างกายไม่สบาย หิว เหนื่อยล้า ย่อมหงุดหงิด หากใจมีความทุกข์ ความเครียด ย่อมอารมณ์ไม่ดี พาให้พูดไม่น่าฟัง หรือหากมีความรู้ ทัศนคติ ความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมแสดงออกไปตามพื้นฐานจิตของเขา คนแต่ละคนมีคุณสมบัติต่างกัน การแสดงออกจึงต่างกันเป็นธรรมดา

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมที่แตกต่างกันนั้นมิใช่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถูกหรือผิดเสมอไป เราจะเอาความเห็นหรือความรู้สึกของเราเป็นเครื่องวัดไม่ได้ หากจะใช้เครื่องวัดก็มีเครื่องวัดทางโลก อันได้แก่ ระเบียบ กฎหมาย ประเพณี วัฒนธรรม (ซึ่งอาจจะไม่ถูกเสมอไป) ส่วนเครื่องวัดทางธรรมได้แก่ ศีลธรรม หรือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องวัดได้ดีกว่าทางโลก แต่ก็ต้องเข้าใจว่าคนแต่ละคนมีพื้นฐานจิตใจไม่เหมือนกัน พฤติกรรมจึงต่างกันไปดังได้กล่าวแล้ว เราจะบังคับให้เขาดีหมดหรือเป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้ ให้คิดเสียว่า แม้ตัวเราเองก็ยังบังคับพฤติกรรมของเราให้ดีอย่างที่เราต้องการไม่ได้เลย

เมื่อเข้าใจเช่นนี้ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปโต้แย้งใครที่เขามีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเรา เว้นแต่เขาคิดผิด ทำผิด อันจะนำความเสื่อมเสียมาสู่ตัวเขาเองและผู้อื่น ซึ่งหากเรามีหน้าที่รับผิดชอบที่จะสอน ก็ควรแนะนำสั่งสอนไปตามหน้าที่ ส่วนเขาจะเชื่อหรือไม่นั้น เราไม่สามารถบังคับใจเขาได้ บอกแล้วสอนแล้วก็ต้องทำใจเป็นอุเบกขา มิฉะนั้นจะทุกข์ใจหรือสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นต่อไปอีก

คำบอกคำสอนถึงแม้จะเต็มไปด้วยความหวังดี แต่ถ้าใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะผู้ฟังไม่อยากฟัง คำพูดที่จะเกิดผลนั้นพระพุทธองค์ทรงแนะไว้ดังนี้

พูดด้วยจิตเมตตา ใช้วาจาที่ไพเราะ ให้เหมาะกับผู้ฟัง ตั้งอยู่บนความจริง พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์

หากใช้องค์ประกอบทั้งห้าในการพูดจะช่วยให้คำพูดนั้นสัมฤทธิผลได้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ไม่ควรจะพูดแนะนำสั่งสอนพร่ำเพรื่อ บอกไป 2 – 3 ครั้งถือว่ามากแล้ว เมื่อเขาไม่เชื่อ ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องราวของเขา เขาเลือกทางของเขาเอง เป็นกรรมของเขา การพูดแนะนำสั่งสอนพร่ำเพรื่อจะทำให้ผู้ฟังเกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากฟัง หรือโต้เถียงกลับมา

ที่ทำงานเป็นอีกที่หนึ่งซึ่งมักมีปัญหากันอยู่เสมอ บางคนมีวาจาไว้ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น หรือเอาขวานที่ติดตัวมาในปากฟันตัวเองอยู่เป็นประจำ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ว่า คำพูดที่เป็นอกุศลหรือเป็นมิจฉาวาจา ได้แก่ พูดโกหก พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และ พูดเพ้อเจ้อ ลองสำรวจดูอย่างไม่เข้าข้างตัวเองเถิดว่า มิจฉาวาจาทั้งสี่ข้อนี้ เรามีอยู่เป็นนิสัยกี่ข้อ บางคนมีครบทั้งสี่ข้อเลย นับว่ามีปากไว้นำภัยมาสู่ตัวเองแท้ๆ

บางคนชอบพูดโกหกใส่ร้ายป้ายสีหรือนินทาผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่ตนไม่ชอบ ซ้ำยังพูดส่อเสียดและพูดคำหยาบใส่เขาเป็นประจำ โดยหลงยินดีว่าตนมีวาจาคมคาย สามารถเชือดเฉือนคู่กรณีได้ หารู้ไม่ว่ากำลังสร้างวิบากกรรมอันจะนำภัยใหญ่หลวงมาสู่ตนเอง ดังเช่นเรื่องของสตรีนางหนึ่งที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ดังนี้

ในสมัย พระสิขีพุทธเจ้า มีสตรีนางหนึ่งเกิดในสกุลพราหมณ์เป็นคนปากร้ายชอบส่อเสียดผู้อื่น คราหนึ่งนางใช้วาจาจาบจ้วงพระอรหันตภิกษุณีว่าเป็นหญิงแพศยา (โสเภณี) ผลจากการที่นางใช้วาจาหยาบคายต่อผู้มีคุณธรรมสูงทำให้นางตกนรก ครั้นกลับมาเกิดเป็นคน ผลของวิบากกรรมทำให้นางเป็นโสเภณีอยู่หลายต่อหลายชาติ ในชาติสุดท้ายนางเกิดเป็นสตรีโฉมสะคราญชื่อ อัมพปาลี มีอาชีพเป็นหญิงงามเมืองประจำนครเวสาลี อาศัยที่นางมีพื้นฐานจิตใฝ่ในธรรม ได้บำรุงพระพุทธศาสนา ถวายสวนอัมพปาลีวันเป็นสังฆารามแด่พระพุทธองค์ เมื่อนางพ้นวัยที่จะยึดอาชีพหญิงงามเมืองแล้วได้หันมาปฏิบัติธรรม ยกเอาสังขารที่เสื่อมโทรมขึ้นมาพิจารณาให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ในที่สุดจึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ หากนางไม่ปากร้ายก็คงได้บรรลุธรรมไปนานแล้ว ไม่ต้องรับผลของวิบากกรรมยาวนานเช่นนี้

เรื่องของนางอัมพปาลีนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้มีมิจฉาวาจาอยู่ไม่น้อย

ขอจงอย่าใช้คำพูดเพื่อสนองอารมณ์ของตนโดยมุ่งทำร้ายจิตใจของผู้อื่นเลย แต่จงใช้คำพูดที่เป็นสัมมาวาจาให้เป็นคุณต่อตนเองและผู้อื่นเถิด ขวานที่ติดมาในปากจะได้ไม่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง

 

Secret คือแรงบันดาลใจ

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.