เหรียญ

รู้หรือไม่ เหรียญมีสามด้าน – พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

เหรียญ มีสามด้าน

คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อกันว่า เหรียญ มีสองด้าน คือด้านหัวกับด้านก้อย จึงคุ้นอยู่กับการมองเหรียญ เพียงสองด้านจนเป็นนิสัย ไม่เห็นด้านหัวก็เห็นด้านก้อย

เหมือนการมองสิ่งต่าง ๆ ที่ตนสัมผัสสัมพันธ์อยู่ในชีวิตประจำวันจะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่มากระทบไปในทางที่ ชอบ ไม่ชอบ หรือยินดี ยินร้าย เหมือนเห็นเหรียญเพียงสองด้านนั่นเอง   ความรู้สึกชอบนำมาซึ่งความ อยาก เป็นพลังดึงดูดให้เราอยากเสพในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสตามที่ตนชอบ ซึ่งทางธรรมเรียกว่า กามตัณหา เช่น ชอบดูสิ่งที่สวยงาม (รูป) ชอบฟังเสียงที่ไพเราะ (เสียง) ชอบของที่มีกลิ่นหอม (กลิ่น) ชอบรับประทานอาหารที่อร่อย (รส) ชอบสัมผัสสิ่งที่นุ่มนวลไม่ระคายผิวกาย (สัมผัส)

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังอยากได้ อยากมี อยากเป็นในสถานะต่าง ๆ ที่ตนปรารถนา ทางธรรมเรียกว่า ภวตัณหา เป็นต้นว่า อยากมีสุขภาพดีมีอายุยืน อยากได้งานที่มั่นคงมีรายได้ดี มีเพื่อนร่วมงานที่อบอุ่น อยากให้คนในครอบครัวมีความรักความเข้าใจกัน อยากเป็นผู้บริหารระดับสูง อยากมีชื่อเสียงมีเครดิตในสังคม หรืออยากเป็นเศรษฐี เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่ต่างอยากเสพและอยากได้ในสิ่งที่ตนพอใจทั้งสิ้น

ครั้นเผชิญกับสิ่งที่ตนไม่พอใจก็เกิดความรู้สึกไม่ชอบต่อสิ่งนั้นทันที ความไม่ชอบเป็นพลังผลักไส ในทางธรรมเรียกว่า วิภวตัณหา เช่น ไม่ชอบภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่ชอบคนบางคน ไม่ชอบรถติด ไม่ชอบอากาศร้อน ไม่ชอบสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ความอยากเสพในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (กามตัณหา) ความอยากได้ อยากมี อยากเป็นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ภวตัณหา) และความไม่ชอบ ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น (วิภวตัณหา) เหล่านี้ล้วนเป็น ตัณหา อันเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอริยสัจ ๔ ว่า เหตุแห่งทุกข์คือตัณหา

เหตุใดเมื่ออยากในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจึงเป็นเหตุให้มีความทุกข์ด้วย โดยทั่วไปแล้วเมื่อชอบสิ่งไหนก็อยากได้ในสิ่งนั้น ครั้นเมื่ออยากได้ อยากมี อยากเป็น ต้องเสาะหาสิ่งนั้นมาเสพมาครอบครองการเสาะหานับเป็นความทุกข์ในเบื้องต้น เพราะในช่วงที่ยังไม่ได้ ใจก็ผูกพันต่อสิ่งนั้น คอยรบเร้าจิตใจไม่ให้มีความสุข ดังเช่นอยากได้ตำแหน่งสูงขึ้น ในช่วงที่ยังไม่ได้ตำแหน่ง เมื่อเห็นเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันเขามีตำแหน่งสูงกว่า ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจก็คอยรบกวนอยู่เนือง ๆ หรืออยากมีครอบครัวที่อบอุ่น มีความรักความเข้าใจที่ดีต่อกัน แต่ภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีแต่ความขัดแย้งไม่ได้ดังใจ ภาวะดังกล่าวก็ทำให้ทุกข์ใจอยู่เนือง ๆ

อนึ่ง แม้ความปรารถนาในสิ่งที่ตนอยากได้จะสมหวัง ก็ต้องทุกข์กับสิ่งดังกล่าวอีก เช่น เมื่อได้ตำแหน่งสูงขึ้น ภาระหน้าที่การงานและบริวารก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้มีปัญหาในการบริหารงานมากขึ้น มีความเครียดหรือมีทุกข์มากขึ้นนั่นเอง ในทำนองเดียวกัน เมื่อมีครอบครัวที่มีความรักความอบอุ่น ก็เพิ่มความหวงห่วงใย หรือมีความยึดมั่นผูกพันต่อบุคคลในครอบครัวยิ่งขึ้น อันทำให้ใจวิตกกังวลกลัวว่าบุคคลอันเป็นที่รักจะได้รับความลำบาก หรืออาจมีอันตรายหากกลับบ้านผิดเวลา อันเป็นความทุกข์นั่นเอง

โดยกฎของธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา (อนิจจัง) ถูกบีบคั้นกดดัน ไม่สามารถคงทนอยู่ในสภาพเดิมได้ (ทุกขัง) ไม่สามารถบังคับได้ดังปรารถนาเพราะไม่ใช่ของใครจริง (อนัตตา) ครั้นเมื่อสิ่งที่ตนได้ มี เป็น ต้องวิบัติไปหรือไม่เป็นไปตามที่ตนปรารถนา เพราะในที่สุดแล้วสรรพสิ่งทั้งหลายต้องเก่าแก่เสื่อมสภาพและแตกสลายไป แม้ชีวิตก็มีความพลัดพรากและความตายเป็นที่สุด เมื่อถึงเวลานั้น ผู้ที่ยังยึดอยู่ในสิ่งที่ตนได้ มี เป็น ก็ต้องทุกข์โทมนัสทับทวี

ส่วนวิภวตัณหา คือความไม่ชอบหรือไม่ยินดีในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็อยากให้สิ่งนั้นผ่านไปโดยเร็ว ครั้นตนไม่สามารถบังคับสิ่งนั้นให้ผ่านพ้นไปได้ ก็ทุกข์ใจอยู่กับสิ่งนั้น

ความทุกข์ทั้งหลายในชีวิตมาจากใจที่เห็นผิดนั่นเอง คือใจที่มองไม่เห็นความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ไม่รู้ว่าเหรียญมีสามด้าน นอกจากด้านหัว ด้านก้อยที่ตนคุ้นเคยเห็นอยู่ในวิถีชีวิตแล้ว แท้จริงระหว่างด้านหัวกับด้านก้อยก็ยังมี ด้านสันของเหรียญที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงให้เหรียญทั้งสองด้านติดกันอยู่ หากเรามองด้านที่เป็นกลางคือด้านสันของเหรียญให้คุ้นเคยแล้ว เราก็จะวางใจที่เป็นกลางหรือเที่ยงธรรมได้ แทนที่จะไปติดอยู่กับด้านหัว ด้านก้อย หรือ ชอบ กับ ชัง เหมือนอดีตที่ผ่านมา ชอบก็เป็นทุกข์ ชังก็เป็นทุกข์ ไม่ชอบไม่ชังคือใจที่เป็นกลางคือเป็น อุเบกขา ย่อมพ้นจากความทุกข์ใจได้

ในเสียก็มีดี ในดีก็มีเสีย ฝึกมองให้เห็นตามความเป็นจริงและวางใจให้เที่ยงธรรม ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของทุก ๆ สิ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เราชอบเพราะเห็นว่าดีก็ใช่ว่าจะดีตลอดไป ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่เราไม่ชอบเพราะเห็นว่าไม่ดีก็ใช่ว่าจะไม่ดีอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะพฤติกรรมหรือกรรมของสัตว์บุคคลย่อมทำทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีเป็นวิถีชีวิต ส่วนวัตถุสิ่งของนั้นเดินทางไปสู่ความเก่า เสื่อมสภาพ และผุพังในที่สุด

การที่ใจของเรายังชอบยังชังอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นเพราะยังยึดหรือมี อุปาทาน ต่อสิ่งนั้นนั่นเอง

ฝึกใจมองให้เห็นความเป็นจริงโดยเฉพาะพยายามที่จะอยู่กับด้านที่สามของเหรียญ คือด้านที่เป็นกลางหรือวางใจเป็นอุเบกขาเพื่อถอดถอนความชอบ (กามตัณหา ภวตัณหา) และความไม่ชอบ (วิภวตัณหา) ออกเสียให้ได้ ความยึดติด (อุปาทาน) ต่อสิ่งนั้นก็จะคลายลงหรือหมดไป ใจก็จะเป็นอิสระ ไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งต่าง ๆ เพราะเข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายว่า มีธรรมชาติที่ไม่เที่ยง(อนิจจัง) เป็นทุกข์เพราะถูกบีบคั้นกดดัน ไม่สามารถคงทนอยู่ในสภาพเดิมได้ (ทุกขัง) และบังคับไม่ได้ดังปรารถนา เพราะไม่ใช่ของเราจริง (อนัตตา) จงอยู่อย่างมีสติปัญญา มิใช่อยู่อย่างมีกิเลสตัณหา เมื่อนั้นใจของเราก็จะร่มเย็นเป็นสุขได้

 

เรื่อง พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

ที่มา : นิตยสาร Secret คอลัมน์ You are wthat you do

Image by (El Caminante) from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

นิพพานเทียมง่าย ๆ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ธรรมะโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปัญโญ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.