กุศโลบาย วิธีกำจัดความโกรธ – บทความดีๆ จาก ท่าน ว. วชิรเมธี
บทความธรรมะดี ๆ วิธีกำจัดความโกรธ ด้วยธรรมะ
“ปจฺฉา โส วิคเต โกเธ อคฺคิทฑฺโฒว ตปฺปติ” ภายหลังเมื่อความโกรธหายแล้วเขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้ ไม่ปรุง (ก็) ไม่เป็น
สาเหตุของความโกรธประการหนึ่งก็คือ เมื่อถูกว่ากล่าวหรือถูกกระทบกระทั่งแล้ว ผู้ที่ถูกกระทบหรือถูกว่ากล่าวนั้นมักขาดสติอดรนทนไม่ไหวนำมา “ปรุงแต่ง” ต่อไปเรื่องเล็กจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ลุกลามบานปลายออกไปไม่จบไม่สิ้น แต่หากใครก็ตามมีสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อถูกดุด่าว่ากล่าวก็ไม่หลุดไม่รั่ว ไม่หลงไม่ไหลไปตามคำคน ยังคงหยัดยืนตื่นรู้อยู่ในปัจจุบันขณะ คำดุด่าว่ากล่าวทั้งหลายก็ทำอันตรายไม่ได้
ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนีท่านยกตัวอย่างว่ามีพระมหา-เถระรูปหนึ่งชื่อ อภัย ท่านเป็นพระนักเทศน์มีชื่อจึงมีผู้เลื่อมใสศรัทธาท่านมากมาย วันหนึ่งหลังเทศน์จบพุทธบริษัทต่างพากันชื่นชม แต่พระมหาเถระรูปหนึ่งมีแก่ใจริษยาไม่โมทนาชื่นชมด้วย เมื่อแสดงธรรมจบแล้ว ขณะเดินกลับกุฏิทางเดียวกันพระมหาเถระรูปนั้นก็ด่าพระอภัยไปตลอดทาง ครั้นถึงทางแยกแล้วพระอภัยก็ไหว้ท่าน แล้วก็แยกย้ายกันไปพักยังกุฏิของตน
เมื่อกลับถึงกุฏิของตนแล้วศิษยานุศิษย์รุมถามพระอภัยว่าถูกเขาด่ามาตลอดทางทำไมไม่ตอบโต้กลับไปบ้าง พระอภัยเถระกล่าวตอบด้วยน้ำเสียงเปี่ยมเมตตาว่า
“ความอดทนเป็นภาระหน้าที่ของเรา ความไม่อดทนหาใช่ภาระหน้าที่ของเราไม่ ตลอดทางที่เดินกลับมา จิตของเรามิได้พรากจากกรรมฐานเลย”
นี่คือตัวอย่างอันดีของการอยู่กับปัจจุบัน คือ การตื่นรู้อยู่ทุกย่างก้าว เมื่อท่านวางจิตของตนไว้ที่เท้า ซึ่งกำลังก้าวย่างจิตของท่านจึงไม่ไปรับเอาคำด่ามาเป็นอารมณ์ให้ขัดเคืองภายใน เมื่อไม่เอาตัวตนออกรับเอาคำด่ามาปรุงแต่ง คำด่านั้นก็เลือนหายไปในอากาศ ไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้ถูกด่าแต่อย่างใด การอยู่กับปัจจุบันเป็นป้อมปราการป้องกันความโกรธได้อย่างวิเศษดังกล่าวมา
“อนตฺถชนโน โกโธ” ความโกรธก่อให้เกิดความพินาศ
- เจริญเมตตาภาวนา
หากความโกรธเปรียบเสมือนไฟ เมตตาก็เปรียบเสมือนน้ำ หากความโกรธเป็นเหมือนตะวัน เมตตาก็เป็นเหมือนจันทรา ความโกรธเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ เมตตาเป็นสมุทัยแห่งความสุข เมตตาเป็นด้านที่ตรงกันข้ามของความโกรธ หากเรามีเมตตาธรรมประจำอยู่ในเรือนใจจนเป็นพรหมวิหาร คือเป็นพื้นฐานของจิตใจอยู่เป็นนิตย์แล้วความโกรธก็ย่อมเกิดขึ้นมาไม่ได้ เมตตามีอานิสงส์มหาศาลเป็นต้นว่าทำจิตใจให้สดชื่นรื่นเย็น เป็นมนตรามหาเสน่ห์ทำให้เป็นที่สนิทเสน่หาของผู้ได้พบเห็น เป็นหนทางแห่งไมตรีจิตมิตรภาพ เป็นยาระงับความเบียดเบียนบีฑา เป็นปฏิปทาสมานรอยร้าว เป็นบาทก้าวสู่สันติภาพ
ในพระสูตรอันว่าด้วยเมตตาพระพุทธองค์ตรัสว่าเมตตามีอานิสงส์ 11 ประการ กล่าวคือ
- หลับก็เป็นสุข
- ตื่นก็เป็นสุข
- ไม่ฝันร้าย
- เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
- เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
- เทวดารักษา
- ไฟ ยาพิษ และศัสตราไม่กล้ำกราย
- จิตสงบเป็นสมาธิเร็ว
- สีหน้าผ่องใส
- ตายก็มีสติ ไม่หลงฟั่นเฟือน
- เมื่อยังไม่บรรลุธรรมที่สูงกว่าย่อมเข้าถึงพรหมโลก
เมตตานิสงส์ 11 ประการนี้จะเกิดมีขึ้นแก่ผู้เจริญเมตตาเป็นนิตย์เท่านั้น ผู้ใดเป็นคนมักโกรธย่อมอยู่ห่างไกลจากคุณของเมตตาประดามีเหล่านี้
“โกโธ สตฺถมลํ โลเก” ความโกรธเป็นดังสนิมศัสตราในโลก
- สมานไมตรีด้วยวิถีแห่งการให้คนที่โกรธกันนั้นมีแนวโน้มที่จะเริดร้างห่างเหินกันไกล
ออกไปทุกที แม้กายอาจจะอยู่ใกล้กันชั่วแลตาเห็น แต่ใจนั้นดูเหมือนว่าจะอยู่ห่างกันไกลออกไปคนละที่ คนละโลกคนละภพภูมิ ดังที่โคลงโลกนิติกล่าวไว้ว่า
รักกันอยู่ขอบฟ้า เขาเขียว
เสมออยู่หอแห่งเดียว ร่วมห้อง
ชังกันบ่แลเหลียว ตาต่อ กันนา
เหมือนขอบฟ้ามาป้อง ป่าไม้มาบัง
คนที่ถูกลิ่มคือความโกรธตอกลงไปในใจจนเกิดความร้าวฉาน จนยากจะสมานรอยร้าวให้ดีดังเดิมนั้น ปราชญ์ท่านว่า หากรู้วิธีเยียวยาอย่างแยบคายก็อาจกลับมาคืนดีกันใหม่ได้ไม่ยากนัก วิธีการหนึ่งซึ่งท่านแนะนำว่าทำแล้วได้ผลดีก็คือการสมานไมตรีด้วยการให้ เพราะการให้นั้นย่อมยังใจของปรปักษ์ให้อ่อนโยนเหมือนความในกวีนิพนธ์ที่ว่า
การให้เป็นเครื่องฝึกคนที่ยังฝึกไม่ได้ การให้ยังความประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จได้ ผู้ให้ก็เบิกบานขึ้นมาด้วยการให้ส่วนผู้ได้รับก็น้อมลงมาพบด้วยปิยวาจา
ความข้อนี้มีสาระใกล้เคียงกับกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ บทที่ว่า
ผูกสนิทชิดเชื้อนี้เหลือยาก
ถึงเหล็กฟากผูกไว้ก็ไม่มั่น
จะผูกด้วยมนต์เสกลงเลขยันต์
ก็ไม่มั่นเหมือนผูกไว้ด้วยไมตรี
การให้นั้นเป็นหนทางสร้างไมตรีได้อย่างวิเศษ เพราะการให้จะเป็นกุศโลบายเชื่อมหัวใจทั้งของผู้ให้และผู้รับ ให้น้อมลงมาพบกันฉันญาติสนิทมิตรที่รักอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยผู้ให้และผู้รับต่างก็พึ่งพาอาศัยกัน ที่ใดมีการให้ ที่นั้นไซร้ย่อมมีแต่มิตรภาพ การให้จึงเป็นเหตุปัจจัยสลายความโกรธที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด
ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต
เรื่อง ว.วชิรเมธี
ภาพ : https://pixabay.com
บทความที่น่าสนใจ
Dhamma Daily : ทำอย่างไรดีให้เลิกโกรธพี่สาว
เมื่อผมให้ความไม่โกรธ นั่นคือ “อภัยทาน”
Dhamma Daily : เห็นข่าวคน ทำร้ายสัตว์ รู้สึกโกรธ ควรปล่อยวางอย่างไร
โกรธอย่างไรให้เกิดปัญญา 10 เทคนิคดีๆ ใน การฝึกสติละความโกรธ
เจ้าชายผู้ชนะความโกรธ นิทานธรรมะสอนเรื่องเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร