วางแผนหลังเกษียณ

วางแผนหลังเกษียณ ออมเงินอย่างไรให้มีเงินใช้ไม่ลำบากในบั้นปลาย 

วางแผนหลังเกษียณ ออมเงินอย่างไรให้มีเงินใช้ไม่ลำบากในบั้นปลาย

เคยคิด หรือมีความคิดนี้เกิดขึ้นบ้างไหมว่า หากวันหนึ่งเราไม่มีเงินเดือนใช้แล้วจะทำอย่างไร การ วางแผนหลังเกษียณ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อให้มีเงินใช้ไม่ลำบากในชีวิตช่วงหลังเกษียณ

เมื่อพูดถึงชีวิตหลังเกษียณก็ไม่อยากให้รู้สึกตึงเครียด หรือตีตนไปก่อนไข้ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพบเจออยู่แล้ว ลองจินตนาการดูว่า ในวันนี้ที่ยังมีเงินเดือนช่วยต่อลมหายใจให้กับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราไปได้อย่างเดือนชนเดือน แล้ววันหนึ่งเราไม่สามารถทำงานและสนุกสนานกับการใช้เงินเดือนได้อีกต่อไป เราในวันนั้นจะเป็นอย่างไร

 

ภาพจาก https://pixabay.com

 

ภาพสีเทาแห่งความสิ้นหวังอาจฉายขึ้นมาในหัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขอให้จำภาพนั้นเป็นแรงจูงใจ และบอกกับตัวเองว่าภาพแบบนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นกับเรา จึงขอแนะนำว่าอย่าได้กลัวหรือกังวลว่าเราจะออมเงินไม่สำเร็จ หรือมีการเงินที่ขัดสนในบั้นปลายชีวิต หากเริ่มต้นด้วยความเครียดนับว่าเป็นการเริ่มต้นเตรียมตัวหลังเกษียณที่ไม่ดีเลย ลองเปลี่ยนความคิดว่าเรากำลังจะมอบของขวัญให้กับตนเองในอนาคตดีกว่า

คุณ Maibat (นามแฝง) ได้เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งของครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งไว้ในบทความชื่อว่า “วางแผนหลังเกษียณ ต้องเก็บเงินเท่าไหร่ถึงจะพอ” ว่า

“คุณครูเกษียณโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งจึงขอหยิบยกขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจ คุณครูกลุ่มนี้สอนด้วยจิตวิญญาณความเป็นครูตลอดระยะเวลา 30 กว่าปี แทบไม่เคยเปลี่ยนงานเลยเพราะภูมิใจในสถาบันการศึกษาแห่งนี้และได้ประกอบอาชีพสร้างคนให้เป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม แม้เงินเดือนที่ได้รับจะน้อยนิดอยู่จนเกษียณยังอยู่ที่หลักหมื่นต้น ๆ เท่านั้นเอง ท่านยังมีความหวังพึ่งบำนาญที่จ่ายให้ครึ่งหนึ่งของเงินเดือน ๆ สุดท้ายจ่ายไปเรื่อย ๆ จนสิ้นอายุขัย แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อจู่ ๆ โรงเรียนเปลี่ยนกฎข้อบังคับให้คุณครูทุกคนรับบำเหน็จแทน ซึ่งได้เงินเป็นก้อนครั้งเดียวเพียงหลักแสนไม่ถึงล้าน แล้วจะใช้อย่างไรให้พอกับชีวิตหลังเกษียณอีก 20 ปีหรือมากกว่านั้น ครูบางท่านต้องจำใจทำงานต่อจนถึงวันหมดสิ้นเรี่ยวแรง ครูบางท่านทนอยู่อย่างลำบากเก็บเงินไว้เป็นค่ารักษาตัว ครูบางท่านนำบำเหน็จไปลงทุนทำการเกษตรสุดท้ายเจ๊ง”

 

ภาพจาก https://pixabay.com

 

เหตุการณ์ที่คุณ Maibat ยกมาทำให้เราเห็นว่า นอกจากการฝากความหวังเรื่องการเงินในอนาคตไปกับระบบการออมขององค์กรอาจไม่เป็นผลดีอีกต่อไป ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เขาแนะนำให้ลองคิดว่าเราจะใช้เงินหลังเกษียณเท่าไหร่ โดยการหาค่าจาก

เงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ = ภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 12 เดือน x อายุขัยหลังเกษียณ x 2 เท่า 

ตัวอย่างเช่น พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไปจะเกษียณตอนอายุ 55 ปี คาดว่าอนาคตจะใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท และมีอายุขัยวางไว้ที่ 80 ปี ต้องเตรียมเงิน 25,000 x 12 x (80-55) x 2 = 15 ล้านบาท

ส่วนข้าราชการจะเกษียณอายุที่  60 ปี คาดว่าอนาคตจะใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท และมีอายุขัยวางไว้ที่ 80 ปี ต้องเตรียมเงิน 25,000 x 12 x (80-60) x 2 = 12 ล้านบาท 

เมื่อทราบจำนวนเงินที่จะใช้ในอนาคตแล้วลองมาคิดดูว่า เราจะหาหนทางอย่างไรที่จะได้มีเงินออมไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ การลงทุน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ เช่น การฝากเงินในธนาคาร โดยต้องฝากเงินกับธนาคารที่มีดอกเบี้ยสูง และที่สำคัญควรเลี่ยงการเปิดบัญชีออมทรัพย์ เพราะง่ายต่อการที่จะถอนเงินก้อนนั้นออกมาใช้ได้ก่อน ควรเปิดเป็นบัญชีเงินฝากแทน อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยธนาคารไทยในปัจจุบันมีมูลค่าที่ต่ำมาก จึงมีอีกหลายวิธีที่จะเพิ่มยอดเงินออมของเราได้ เช่น หุ้นกู้ และ พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่มีเงินเดือนสูงระดับหนึ่ง หุ้นกู้จะให้ค่าตอบแทนมากกว่าพันธบัตรของรัฐบาล แต่หุ้นกู้ก็มีความเสี่ยงกว่าพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้นจึงควรศึกษาให้ดีก่อนที่จะตัดสินเลือก

 

ภาพจาก https://pixabay.com

 

หุ้นเป็นอีกทางออกหนึ่งสำหรับผู้ที่กำลังหาวิธีการออมเงิน ข้อเสียคือหุ้นมีความผันผวนตลอดเวลา หากคิดจะออมในระยะอันสั้น แต่ถ้าจะออมในระยะเวลาที่นาน (เช่น ออมจนถึงวันเกษียณจะใช้เวลาประมาณ 10-30 ปี) โดยไม่นำออกมาใช้เลยจะทำให้เงินออมนั้นงอกงาม เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ

อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้วเริ่มปวดหัว มึน หรือมีคำถามคาใจว่า มีวิธีการออมที่ง่ายกว่านี้ไหม ที่ไม่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมให้ตึงเครียด เพราะแค่เห็นคำว่า “หุ้น” ก็ต้องมานั่งศึกษากันต่อว่าต้องเล่นอย่างไร จะกลายเป็นการท้อแท้ใจกันไปเปล่า ๆ

หลายคนอาจติดกับการออมเงินผ่านสมุดบัญชีธนาคารอยู่ ซึ่งเป็นวิธีการออมที่มั่นคงและแน่นอนกว่า แต่เงินอาจไม่เพิ่มขึ้น เพราะดอกเบี้ยต่ำอย่างที่บอกไปแล้ว ดังนั้นต้องอาศัยความมีวิริยะของตนเองล้วน ๆ ในการที่จะบริหารจัดการเงินเดือนที่เราได้มานั่นแหละ เช่น พอได้เงินเดือนมาก็หักออกไปเข้าบัญชีเงินฝากทันที สมมติเงินเดือน 20,000 บาท โอนเข้าบัญชีไป 5,000 บาท ไม่ว่าอย่างไรก็ตามสิ่งแรกที่ควรทำคือคำนวณก่อนว่า ในแต่ละเดือนเรามีรายจ่ายจำเป็นอะไรบ้าง เช่น ค่าหอพัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ตัวอย่างเช่น สมมติมีเงินเดือน 20,000 บาท รายจ่ายจำเป็นในหนึ่งเดือนมีค่าหอพัก 5,000 บาท เราจะเหลือเงิน 15,000 บาท ถ้าเราประหยัดใช้เงินเดือนละ 10,000 บาทให้ได้ จะมีเงินออมเดือนละ 5,000 บาท เป็นต้น หรืออาจมากกว่านั้นก็ได้ถ้าวางแผนหรือกำหนดว่าจะใช้เงินวันละเท่าไหร่ ถ้าเอา 10,000 บาท หารจำนวนวันเราจะทราบว่าเราพอจะใช้เงินต่อวันได้เท่าไหร่ เช่น 10,000 ÷ 30 จะได้ค่าเฉลี่ยต่อวันประมาณ 300 บาท

 

ภาพจาก https://pixabay.com

 

เมื่อทราบแล้วว่าจะใช้เงินได้ 300 บาท ต่อวัน จะทำให้เราตระหนักว่าจะทำอย่างไรให้ใช้เงินจำนวนนี้พอต่อวัน แต่อย่าเครียดหรือกดดันตัวเองไป เพราะบางทีเราอาจใช้เงินน้อยกว่าที่ตั้งไว้ก็ได้ เช่น หัวหน้าเลี้ยงข้าว เราก็จะประหยัดค่าอาหารไปได้อีกหนึ่งมื้อ หลายคนอาจมีวิธีคลายเครียดด้วยการช้อปปิ้ง ทำให้วันหนึ่งมีรายจ่ายจำนวนมาก ดังนั้นควรมองหาวิธีหาความสุขในแบบใหม่ที่ไม่ต้องใช้เงิน เช่น เปลี่ยนจากการเดินห้างสรรพสินค้าไปเป็นการนั่งสวนสาธารณะใกล้ที่พัก ออกกำลังกาย หรือเข้าห้องสมุด เป็นต้น

 

ที่มา :

www.krungsri.com

http://utcc2.utcc.ac.th

www.bangkokbank.com

http://journal.msu.ac.th

ภาพ :

https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ

ธนาคารต้นไม้ การออมเตรียมรับสังคมสูงวัย

ช่างไม้ใจบุญออมเงิน 3 ล้านเหรียญ ช่วยให้เด็ก 33 คนได้เข้าเรียนวิทยาลัย

แบงค์ 50 ช่วยได้ ! เทคนิคการออมของครอบครัวเหลืองสุนทร

ชื่นชมหนูน้อยวัย 12 ไม่อยากเป็นภาระแม่ รับจ้างตัดหญ้าหาเงินเรียนมหาวิทยาลัย

คำถามที่ยังรอคำตอบ ของหนูน้อยผู้ไม่เคยพบหน้าพ่อ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.