นักพูด

นักพูดกับนักฟังใครสำคัญกว่ากัน บทความจากพระราชญาณกวี

นักพูด กับนักฟัง ใครสำคัญกว่ากัน

คนส่วนมากมักเข้าใจว่า นักพูด สำคัญกว่านักฟัง ใครพูดเก่งพูดดีมีคนฟังมาก ก็จะมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับการยกย่องชื่นชมจากคนจำนวนมาก คนชอบพูด ฝึกพูดจนเชี่ยวชาญ ก็สามารถถือเอาการพูดเป็นอาชีพได้ การพูดเป็นเรื่องต้องฝึกฝนอบรม ใช่ว่าใคร ๆ ก็เป็นนักพูดได้ หากพูดไม่เป็น คำพูดอาจกลับมาทำร้ายตนเองได้

ข้าพเจ้าได้เห็นนักพูดที่มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อย ดับอนาคตตนเองลงเพราะการพูดเพียงไม่กี่ประโยค แม้นักการเมืองก็เช่นกัน อาจได้ดีเพราะการพูด แต่ก็เข้าคุกติดตะรางเพราะการพูดได้เช่นกัน

นักพูดต้องมีสติอย่างมาก เพราะเราพูดคนเดียว  แต่มีคนฟังนับพันคน ยิ่งมีสื่อก็ต้องยิ่งระวังให้มากเป็นร้อยเท่า อย่าคิดว่าพูดอย่างไรใครเขาก็อยากฟัง ถ้าคิดเช่นนั้นจะเกิดความประมาท ทำให้พลาดพลั้งในการพูดทันที

นักพูดอาจไม่ต้องทำ นักทำอาจไม่ต้องพูด แต่ความสำเร็จของงานอยู่ที่การทำ มิใช่การพูด

มีคนจำพวกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่านักพูดนั่นคือ นักฟัง พูดหนึ่งคน แต่คนฟังนับพัน คนฟังที่ดี ย่อมได้รับความรู้จากผู้พูด นักพูดที่ดี ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้คนฟังอยากทำตาม

มีนักพูดไม่น้อย ที่พูดไปแล้วตัวตนของคนพูดใหญ่ขึ้น เด่นขึ้น น่าอัศจรรย์ขึ้น ในขณะผู้ฟังรู้สึกมีปมด้อยน้อยวาสนา ขาดกำลังใจไม่เชื่อมั่นตนเองว่าจะทำตามผู้พูดได้

นักพูดประเภทนี้ จะยกย่องตนเองให้เด่น ให้คนฟังอัศจรรย์ใจว่า ตนเก่ง มีความรู้ความสามารถยิ่งกว่าใคร นักพูดเด่นดัง แต่ผู้ฟังต่ำต้อย

ประเภทต่อมาคือ นักพูดที่ยิ่งพูดยิ่งไร้ตัวตน ทำให้ผู้ฟังเกิดมีพลังใจมหาศาลในการทำงาน ทำให้ผู้ฟังเกิดปมเด่นในตัว  ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง มีแรงบันดาลใจ

ข้าพเจ้าเชื่อว่า เสน่ห์ของการฟังเกิดจากพลังของการพูด ผู้ฟังที่ดีย่อมเกิดจากผู้พูดที่ดีเช่นกัน

พูดอย่างไรให้คนฟัง ให้คนทำงาน ให้คนเห็นด้วย ฟังอย่างไร ให้คนพูด สามารถพูดได้โดยผู้พูดไม่มีตัวตน

ทั้งคนพูดและคนฟัง เป็นพลังของกันและกัน

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.