เดินเล่นเห็นอะไร ณ Krattigen
Krattigen
“เราเกิดมาเพื่อดูโลกใบนี้ให้แจ่มแจ้ง”
คมธรรมคำคมของหลวงพ่อชาย้อนกลับมากระทบใจฉันในวันเตรียมตัวออกเดินทาง จากที่เคยตั้งใจไว้
แต่แรกว่าจะผลิต “สารคดีชีวิต” เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพระป่าสายหลวงพ่อชาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทว่าเมื่อเวลาปลิดปลิวผ่านไปงานเขียนชิ้นนี้กลับมีกลิ่นอายของ “สารคดีท่องเที่ยว” เข้ามาคลุกคลีตีโมง
ทั้งนี้ก็เนื่องจากการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคณะสงฆ์ที่นี่ ดังที่เคยหยอดไว้ในบางตอนก่อนหน้านี้
แล้วว่า “วัดธรรมปาละ” ปรับปรุงจากโรงแรมร้างท้ายหมู่บ้าน ซึ่งทุกกิจกรรมตั้งแต่ตื่นยันหลับถูกบรรจุอยู่ภายในตัวอาคารสี่ชั้น ฉะนั้นคณะสงฆ์จึงจำเป็นต้องมี Wandertag หรือ “วันเดินป่า” สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
เพื่อให้ผู้ที่อยู่ประจำได้มีโอกาสยืดเส้นยืดสายและสัมผัสกายวิเวก แวนเดอร์ทากคราวนี้นับเป็นครั้งที่สาม
ตั้งแต่ฉันเดินทางมาเยือนสวิตเซอร์แลนด์ ฉันแอบวาดหวังว่าคณะสงฆ์คงรักษาขนบธรรมเนียมนี้ไว้ จนกว่า
น้ำแข็งจะละลายเกลี้ยงยอดเขาทั่วยุโรป (ฮา)
“Krattigen- คราทิเกน” หมู่บ้านขนาดเล็กเหนือระดับน้ำทะเล ๗๑๒ เมตร ถูกเลือกให้เป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัย แต่กว่าจะตกลงปลงใจได้ เราก็ค้นคว้าหาข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่หลายวัน
จนท้ายที่สุดญาติโยมก็มารับเราที่ความสูง ๑,๑๗๔ เมตรเหนือะดับน้ำทะเล อันเป็นที่ตั้งของวัดธรรมปาละ
ณ หมู่บ้านคันเดอร์สเตก เพียงครึ่งชั่วโมงรถยนต์ก็แล่นมาถึงลานจอดบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ แม้ว่าจะมีสินค้าให้ซื้อสะดวก แต่เราก็มิได้เข้าไปใช้บริการเพราะเตรียมอาหารกลางวันและน้ำดื่มมาจากวัดอย่างเต็มอัตรา มิหนำซ้ำญาติโยมชาวไทยอีสานใจดียังถวายแซนวิชทูน่าชิ้นใหญ่กับน้ำผลไม้มาเสริมอีกแรง หลังจาก
นัดหมายเวลาและจุดพบกันช่วงขากลับ เราก็เดินลััดเลาะขึ้นภูเขาเลียบไปตามแนวทะเลสาบทูเนอร์เซ
อากาศก่อนสิบนาฬิกาต้นฤดูใบไม้ผลิสดชื่นเกินคำบรรยาย ยิ่งเดินขึ้นที่สูงยิ่งสามารถสัมผัสสายลมแสงแดดได้ถนัดถนี่ ทุ่งหญ้าเขียวสดมีดอกไม้นานาสีสันเบ่งบานแทรกซึมอยู่ทั่วบริเวณ ดูเหมือนว่าดอกทิวลิปซึ่งมีก้านและใบแข็งแรงจะโดดเด่นเป็นพิเศษในช่วงเวลาระเริงเช่นนี้ เนื่องจากคณะสงฆ์ส่วนหนึ่งเดินทางไปประชุมที่ประเทศอังกฤษ สมาชิกร่วมหัวจมท้ายในวันนี้จึงมีเพียงสามชีวิตคือพระหนุ่มจากลุ่มแม่น้ำมูล
พระชาวเยอรมัน และอุบาสกชาวสวิส เมื่อย่ำเท้ามาถึงทางสองแพร่งซึ่งปรากฏป้ายบอกทิศ เราก็เกิดความลังเลสงสัยเพราะคิดแตกต่าง แต่ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจเดินร่วมทางกันต่อไป ฉันเล่าให้พระชาวเยอรมันฟังว่า
การจาริกรอนแรมของพระภิกษุสามเณรในเมืองไทยจะประสบเหตุการณ์เช่นนี้เสมอ คราวหนึ่งพระสองรูปออกเดินธุดงค์ด้วยกัน ระหว่างนั้นมีญาติโยมนำบุหรี่มาถวาย พระรูปหนึ่งเห็นว่าควรปฏิเสธเพราะคณะสงฆ์
วัดหนองป่าพงมีข้อวัตรปฏิบัติคือ “ห้ามสูบบุหรี่และเคี้ยวหมาก” แต่พระอีกรูปหนึ่งซึ่งมีพรรษามากกว่ากลับเสนอว่า เรารับเพื่อรักษาศรัทธาของเขาแล้วเอาไปให้ชาวบ้านที่อื่นก็ได้ เมื่อปฏิปทาไม่เสมอกันในที่สุดก็ต้องแยกทาง สิริระยะเวลาร่วมเดินธุดงค์เพียงครึ่งค่อนวัน!
คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป
ระหว่างทางเราพบสุภาพสตรีเดินเล่นกับสุนัขสุขภาพดี และคุณตาคุณยายนั่งรับประทานแซนวิชด้วยกัน ท่ามกลางแดดอุ่นที่จุดชมวิว จากนั้นเราก็เดินลงเนินเขามาจนถึงโรงเรียนอนุบาล แล้วพบป้ายบอกทางไปน้ำตก ฉันควักโทรศัพท์ออกมาเช็คยอดระยะทางแล้วพบว่าเพิ่งผ่านไปเพียงหกกิโลเมตรเท่านั้น ด้วยความ
แน่นหนุ่มและอากาศชุ่มสดชื่น เราจึงอยากเดินขึ้นไปบนยอดเขาแล้วเสาะหาทางลัดตัดลงไปถึงน้ำตก แต่
อุบาสกชาวสวิสกลับเห็นต่าง “เราตั้งใจไว้แต่แรกว่าจะไปน้ำตกซึ่งต้องเดินเรียบไปตามถนน มันไม่สมเหตุ
สมผลที่จะเดินขึ้นไปบนยอดเขาอีก” คงจะเป็นเพราะพระที่วัดธรรมปาละเดินขึ้นลงภูเขาออกกำลังกายเฉลี่ย
วันละ ๖-๘ กิโลเมตรเป็นกิจวัตร จึงมองหาโอกาสและสถานที่อันท้าทาย ทว่าอุบาสกชาวสวิสซึ่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเมืองกลับไม่รู้สึกสนุกกับความท้าทายนี้ เมื่อปฏิปทาไม่เสมอกันในที่สุดก็ต้องแยกทาง สิริระยะเวลาร่วมเดินทะลุดงเพียงสองชั่วโมง! เรานัดหมายกันว่าจะกลับมาพบกันที่โรงเรียนอนุบาลในเวลาสิบหกนาฬิกา แต่ถ้าอุบาสกมาหลังเวลานั้นก็ต้องนั่งรถไฟกลับวัดเอง
ฉันกับพระชาวเยอรมันเดินไต่ระดับไปถึงจุดพักบนเนินหญ้าแห่งหนึ่ง จากจุดนี้สามารถมองเห็นวิวทะเลสาบและบ้านเมืองเบื้องล่าง เราปลดเป้แล้วนั่งพิจารณาอาหารกลางวันบนเก้าอี้ยาวซึ่งมีอยู่หลายตัว
แต่พระชาวเยอรมันกลับบ่นหนาวเพราะบริเวณนั้นมีลักษณะเป็นช่องลม จึงลงไปนั่งบนพื้นหญ้าใต้แผ่นป้ายแจ้งทิศทาง ฉันเตือนว่าอย่านั่งขวางทางเดินแต่ท่านกลับทำหูทวนลม ขณะกำลังละเลียดแซนวิชกันอยู่นั้น นักเรียนหญิงผมเปียในชุดกระโปรงยีนส์ก็เดินเกาะกลุ่มกันมายังพิกัดที่เรานั่งอยู่ ฉันจึงพูดขึ้นว่า “นั่นไง!
บอกแล้ว…เข้าป่าอย่าขวางทางเก่า” หลังภัตกิจฉันเล่าเรื่องหลวงพ่อชาออกธุดงค์ในป่าดงดิบเป็นธรรมทาน
แก่พระชาวเยอรมัน ท่านพบเส้นทางเดินป่าที่ชาวบ้านเลิกสัญจรแล้ว จึงอยากทดสอบดูว่าเหตุใดคนโบราณจึงห้ามไม่ให้นั่งนอนเกะกะในบริเวณที่มีลักษณะเช่นนั้น ตกดึกขณะที่หลวงพ่อชากำลังทำสมาธิอยู่ภายในกลด ท่านก็ได้ยินเสียงใบไม้แห้งดังกรอบแกรบ เป็นอาการเยื้องย่างช้าๆมีจังหวะ เสียงนั้นขยับเข้ามาใกล้จนได้ยินลมหายใจและกลิ่นสาบฟุ้งกระจาย ท่านทราบในทันทีว่าเป็นสัตว์ชนิดใดและแจ้งในบัดดลว่าเหตุไฉนจึงมีคำเตือนตกทอดมาถึงคนรุ่นลูกหลานว่า “เข้าป่าอย่าขวางทางเก่า” ในวันนั้นหลวงพ่อชาต้องผจญกับเสือลายพาดกลอน แต่ในวันนี้พระชาวเยอรมันต้องเผชิญหน้ากับเสือปากแดง!
เราเดินหลบหลีกฝูงเสือขึ้นไปบนยอดเขา แม้แดดจะแรงแต่อากาศกลับเย็นสบาย ทำให้การสาวเท้าเป็นไปอย่างเพลิดเพลิน เราเดินสวนทางกับผู้ชายคนหนึ่งจึงถามถึงทางลัดไปยังน้ำตก เขาบอกว่าอันที่จริงก็ตั้งใจจะไปเหมือนกัน แต่ช่วงนี้ทางถูกปิดเพราะเจ้าหน้าที่กำลังตัดไม้และลำเลียงท่อนซุง ทราบดังนั้นแล้วเราจึง
ตัดสินใจเดินย้อนกลับไปยังจุดนัดหมายแล้วโทรศัพท์ให้โยมขับรถมารับ ขณะที่เรากำลังยืน เดิน นั่ง รอ
ยานพาหนะ กลุ่มนักเรียนหญิงผมเปียในชุดกระโปรงยีนส์ก็ทยอยนวยนาดมายังป้ายรถโดยสารประจำทาง
ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้น พวกเธอจ้องเราด้วยสายตาแปลกๆเป็นระยะ ฉันรำลึกถึงเหตุการณ์หนึ่งที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในแซนแฟรนซิสโก เด็กชายอายุราวหกขวบกระโดดดึ๋งเข้ามาถามฉันว่า
“ท่านมาจากไหน” เมื่อฉันตอบว่า “ประเทศไทย” เขาก็พูดต่อไปว่า “ท่านใส่จีวรกับรองเท้าแตะ เท่สุดๆไปเลย!” ทว่าสายตาของนักเรียนหญิงกลุ่มนั้นแตกต่างจากเด็กชายที่แซนแฟรนซิสโกอย่างเห็นได้ชัด ถ้าให้ถอดออกมาเป็นรูปประโยคก็คงจะได้ความว่า “พวกเราเป็นผู้หญิงจึงใส่กระโปรง แล้วผู้ชายพวกนั้นเป็นอะไร!”
หนึ่งชั่วโมงเคลื่อนผ่านญาติโยมก็ขับรถมายังจุดนัดหมาย เราขึ้นยานแล้วดิ่งไปยังน้ำตก ไม่นานนาทีก็พบ
อุบาสกชาวสวิสเดินสวนทางมา นับว่าเป็นอีกหนึ่งวันดี เพราะหลังจากสิบห้ากิโลเมตรละไม ผู้ชายใส่กระโปรงและกางเกงก็กลับไปถึงวัดธรรมปาละอย่างพร้อมเพรียงกันโดยสวัสดิภาพ
เรื่อง : ท่านเปลสโลภิกขุ
รูปภาพ : ท่านเปลสโลภิกขุ
คลิกเลข 3 เพื่ออ่านประวัติย่อของผู้เขียน
ประวัติโดยสังเขปของท่านเปลสโลภิกขุ
เปสโลภิกขุ บวชเป็นพระป่าเมื่อปี ๒๕๓๙
เคยปฏิบัติศาสนกิจในยุโรปและสหรัฐอเมริการวมระยะเวลา ๔ ปี
มีผลงานตีพิมพ์หลายเล่ม เช่น สัตว์สอนธรรม อเมริกาประสาหนุ่มฯ
นอกจากนี้ผลงานที่ชื่อ ‘เมื่อเกรียนไปเรียนธรรม’ ยังเป็นหนังสือธรรมะเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับรางวัลจากการประกวดเซเว่นบุ๊คส์อวอร์ดครั้งที่ ๑๓