จากเด็กขายไม้ขีดไฟกลายเป็นมหาเศรษฐี “อิงวาร์ คัมพรัด” ผู้ก่อตั้ง IKEA
อิงวาร์ คัมพรัด (Ingvar Kamprad) เป็น ผู้ก่อตั้ง IKEA ธุรกิจระดับโลกที่เน้นจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์แบบถอดประกอบได้ ได้ถึงแก่มรณกรรมแล้วสิริอายุ 91 ปี เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2561
คำแถลงของบริษัทกล่าวว่า อิงวาร์ คัมพรัด ได้จากไปอย่างสงบท่ามกลางการแวดล้อมของบรรดาผู้เป็นที่รักของเขา ณ บ้านพักของเขาในเขตสมาลันด์ ทางภาคใต้ของสวีเดน “หลังจากล้มป่วยเป็นระยะเวลาสั้นๆ”
เยสเปอร์ โบรดิน ซีอีโอและประธานบริหารของกลุ่มอิเกีย กรุ๊ป กล่าวในคำแถลงไว้ว่า
“มรดกที่เขาทิ้งเอาไว้จักเป็นที่ชื่นชมยกย่องกันไปอีกหลายๆ ปีต่อจากนี้ และวิสัยทัศน์ของเขา ในการสร้างสรรค์ชีวิตประจำวันที่ดียิ่งขึ้นสำหรับผู้คนจำนวนมาก ก็จะยังคงเป็นเครื่องชี้นำและสร้างแรงบันดาลใจแก่พวกเราต่อไป”
ภาพถ่ายของ อิงวาร์ คัมพรัด ผู้ก่อตั้งอาณาจักรขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ “อิเกีย” พร้อมด้วยสมุดสำหรับเขียนคำไว้อาลัย ตั้งเอาไว้บริเวณทางเข้าห้างอิเกีย ในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อวันอาทิตย์ (28 ม.ค.)
ลองอ่านเรื่องราวประวัติของคัมพรัดและธุรกิจนี้สั้น ๆ กันค่ะ >>>
คัมพรัดเกิดเมื่อปี 1926 ในครอบครัวเกษตรกร ที่เขตสมาลันด์ เขาก่อตั้งบริษัทของเขาขึ้นตั้งแต่อายุได้ 17 ปี
ก่อนที่จะเกิดแบรนด์อิเกียขึ้นนั้น Ingvar Kamprad เป็นคนที่มีหัวการค้าตั้งแต่เด็กๆ ตอนอายุเพียง 5 ขวบ เขายืมเงิน 1 โครนาจากป้าไปซื้อไม้ขีดไฟมาเป็นแพคใหญ่ขนาด 100 กล่อง แล้วนำมาแบ่งขายเป็นกล่องๆ จากนั้นก็ปั่นจักรยานคู่ใจไปตะเวณขายรอบหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ในราคาไม่แพงนักแต่ก็ทำให้เขามีกำไรถึงสองเท่า นอกจากนี้อิงวาร์ก็หาอย่างอื่นมาขายด้วย เช่น ไปเก็บเบอร์รี่ในป่า หรือไปตกปลาในทะเลสาบมาขาย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอิเกียเลยก็ว่าได้
คัมพรัดซึ่งได้รับความสนับสนุนทางด้านการเงินจำนวนเล็กน้อยจากบิดาของเขา เริ่มต้นขายพวกปากกา, กรอบรูป, เครื่องพิมพ์ดีด, และสินค้าอื่นๆ และนำสินค้าที่มีผู้สั่งซื้อไปส่งโดยใช้รถจักรยานของเขาเอง ความสำเร็จในตอนแรกของเขามาจากการกดราคาขายของเขาลง เพื่อให้ต่ำกว่าของพวกคู่แข่งขันซึ่งมีกิจการเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่า
ในปี 1947 หนุ่มคัมพรัดเริ่มต้นขายเฟอร์นิเจอร์ซึ่งทำโดยพวกช่างฝีมือในท้องถิ่น และอีก 4 ปีต่อมาก็เริ่มต้นจัดพิมพ์แคตาล็อกสินค้าสำหรับให้สั่งซื้อทางไปรษณีย์เป็นเล่มแรกของเขาขึ้น โดยที่เมื่อถึงเวลานี้ อิเกียมีการจัดพิม์แคตาล็อกเช่นนี้กันปีละ 200 ล้านเล่ม ในภาษาต่างๆ 33 ภาษา
โมเดลการทำธุรกิจแบบปฏิวัติวงการของอิเกีย อันได้แก่การผลิตสินค้าออกมาเป็นชิ้นๆ ที่สามารถนำไปประกอบได้ด้วยตนเอง ซึ่งทั้งตัดลดค่าขนส่งและต้นทุนในการจัดเก็บในคลังสินค้า ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในปี 1956 หลังจากที่มีลูกจ้างผู้หนึ่งเสนอแนะว่าโต๊ะที่บริษัทขายควรจะสามารถถอดเอาขาโต๊ะออกมาได้ในระหว่างการขนส่ง เพื่อทำให้ขนหีบห่อบรรจุภัณฑ์ขึ้นลงรถได้อย่างสะดวก
อีก 2 ปีต่อมา คัมพรัดเปิดห้างอิเกียแห่งแรกขึ้นที่เมืองแอล์มฮุลท์ ทางใต้ของเมืองเกิดของเขา
นับจากปี 1970 เป็นต้นมา อิเกียสามารถพิชิตตลาดสำคัญๆ ในยุโรป, อเมริกาเหนือ, เอเชีย, และตะวันออกกลาง โดยเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ด้วยอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของพวกชนชั้นกลาง
กลุ่มอิเกียปัจจุบันมีห้างอยู่ 403 ห้างในตลอดทั่วทุกทวีป ว่าจ้างลูกจ้างพนักงาน 190,000 คนทั่วโลก และทำยอดขายได้ในระดับปีละ 38,000 ล้านยูโร (47,000 ล้านดอลลาร์)
แต่ว่าคัมพรัดยังคงใช้ชีวิตอย่างมัธยัสถ์เหลือเกิน โดยมีรายงานว่าเขาสวมใส่เสื้อผ้าที่ซื้อหามาจากพวกร้านขายของถูก ยังคงขับรถยนต์วอลโวคันเก่า และควักบัตรลดราคาสำหรับลูกค้าผู้จงรักภักดีมาจับจ่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่เป็นประจำ
“คุณลองมองที่ตัวผมซี่ ผมคิดว่าผมไม่ได้สวมใส่อะไรเลยที่ไม่ได้ซื้อหามาจากตลาดนัดขายของถูก ผมต้องการที่จะทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี” อภิมหาเศรษฐีผู้นี้บอกกับสถานีโทรทัศน์ ทีวี 4 ของสวีเดนเมื่อปี 2016
ในปัจจุบันจึงถือได้ว่าอิเกียนั้นเป็นบริษัทที่มีสินค้ามากมายและมีคุณภาพทำให้คนทั่วโลก รวมไปถึงคนไทยก็รู้จักและเชื่อว่าหลายคนบนโลกก็ใช้สินค้าของทางอิเกียเช่นกัน แม้จะเป็นบริษัทที่ใหญ่โตขนาดไหน อิเกียก็ไม่เคยเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือเปิดเป็นบริษัทมหาชน เพราะอิเกียถือว่าถ้าอยากได้ความสำเร็จต้องสร้างเอง
ที่มาของชื่อ IKEA
อิงวาร์ตั้งชื่ออิเกียครั้งแรกตอนที่เขาเริ่มขายปากกาหมึกซึม ชื่อ IKEA นั้นเป็นชื่อที่ได้มาจาก
I = Ingvar ซึ่งเป็นชื่อแรกของเขา
K = Kamprad ซึ่งเป็นนามสกุลของเขา
E = Elmtaryd เอลทราด เป็นชื่อฟาร์มของเขา
A = Agunnaryd อากันยาร์ด ชื่อหมู่บ้านหรือศูนย์การบริหารหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่
เมื่อนำมารวมกันก็กลายเป็น IKEA ส่วนสีเหลืองกับสีน้ำเงินสดก็คือสีธงชาติของประเทศสวีเดนนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลและบทความบางส่วนจาก : MGRonline และ Siamtown
รูปภาพ : IKEAtoday, CEOblog, sanookmoney
บทความอื่นๆ
ทนง ลี้อิสสระนุกูล นักธุรกิจหมื่นล้าน ผู้บริหารธุรกิจตามรอยพระยุคลบาท
เบื้องหลังความสำเร็จของ ระเฑียร ศรีมงคล ผู้บริหารบริษัทบัตรกรุงไทย