Local Alike การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนโดยชุมชนเพื่อชุมชน
Local Alike การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนโดยชุมชนเพื่อชุมชน – ปัจจุบัน ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ชาวบ้านอาจยังไม่ได้รับผลดีจากความเติบโตของเศรษฐกิจในด้านนี้
เพราะตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว คุณไผ – สมศักดิ์ บุญคำ จึงก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมอย่าง “Local Alike”
“ผมเป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ด แต่โรงเรียนอยู่ไกลจากบ้านค่อนข้างมาก พ่อกับแม่จึงพยายามเก็บเงินที่ได้จากการรับจ้างวันละ 100 บาทส่งให้ผมมาอยู่กับอาที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อเรียนหนังสือที่นั่น พวกท่านบอกว่าผมคือความหวัง เพราะพ่อกับแม่จบเพียงชั้นป. 4 ได้แต่ทำงานรับจ้างไปเรื่อย ผมจึงรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อพาครอบครัวออกจากความยากจน
“ ผมเลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาปิโตรเคมีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะสมัยนั้นหากอยากได้เงินเยอะๆ ก็ต้องเรียนแพทย์หรือวิศวะเท่านั้น หลังจากนั้นก็ไปทำงานที่ประเทศเยอรมันเป็นเวลา 1 ปี ก่อนกลับมาทำงานให้กับบริษัทเดิมที่ประเทศไทยอีก 3 ปี ตอนนั้นผมได้เงินเดือนหลักแสน และสามารถพาครอบครัวออกจากความยากจนได้สำเร็จ แต่ผมทำงานหนักจนไม่ได้พักผ่อน และรู้สึกว่างานที่ทำอยู่เป็นงานประจำเดิมๆ ไม่ท้ายทาย และตอบโจทย์คนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น
“ช่วงปลายปีที่ 3 ของการทำงาน เมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัว ผมจึงออกเดินทางท่องเที่ยวโดยใช้วันหยุดที่สะสมไว้ ผมชอบเที่ยวแบบแบ็กแพ็ก ซึ่งทำให้ผมได้เห็นความแตกต่างมากมาย อย่างตอนที่ไปพุทธคยา ผมเห็นขอทานที่เป็นคนในวรรณะจัณฑาลเยอะมาก เด็กที่โตมาก็ต้องเป็นขอทานเหมือนกับพ่อแม่ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ความผิดของเขา แค่เขาเกิดมาไม่มีโอกาส ผมเองก็เคยเป็นแบบนั้น แต่โชคดีที่พ่อแม่มอบโอกาสให้ จึงย้อนกลับมาดูตัวเองว่างานที่ตัวเองทำอยู่ ตอบโจทย์คนได้มากแค่ไหน
“พอกลับมาจึงศึกษาว่าหากเราลาออกแล้วจะทำอะไรต่อ ก็มาเจอโมเดลของธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ของประเทศบังคลาเทศ ซึ่งเป็นธนาคารที่ทำให้คนจนเข้าถึงเงินกู้ได้ ผมรู้สึกว่าเป็นโมเดลที่เราอยากทำ เพราะสามารถสร้างโอกาสให้คนส่วนใหญ่ ไม่ใช่สร้างโอกาสให้กับคนที่มีโอกาสอยู่แล้ว
“จากนั้น ผมก็ศึกษาว่าประเทศไทยมีโมเดลธุรกิจแบบนี้หรือไม่ ก็มาเจอโครงการพัฒนาดอยตุงของสมเด็จย่า ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมที่เปลี่ยนชาวเขาปลูกฝิ่นให้มาปลูกกาแฟ ผมรู้สึกสนใจแต่เราเป็นวิศวกร ไม่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานด้านนี้ จึงคิดจะเพิ่มความรู้ให้ตัวเองก่อน โดยไปเรียนปริญญาโทด้าน Sustainable Management ที่ Presidio Graduate School ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
“ เมื่อเรียนจบ ก็กลับมาขอฝึกงานที่ดอยตุงกับน้องนักศึกษาปริญญาตรี ผมได้เข้าไปศึกษา 29 หมู่บ้านที่อยู่ในโครงการพัฒนาดอยตุงเพื่อดูว่าหมู่บ้านไหนที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว ผมใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านประมาณสองเดือนครึ่งก็ได้เป็นแผนธุรกิจโฮมสเตย์ให้กับ 2 หมู่บ้านในโครงการ จากนั้นก็นำไปเสนอผู้บริหาร ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดี ทางผู้บริหารจึงชวนให้ทำงานประจำเป็นนักพัฒนาธุรกิจของดอยตุง
“ การทำงานร่วมกับชุมชนทำให้ผมเห็นปัญหาต่างๆ ของการท่องเที่ยวเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศักยภาพของชุมชน ชาวบ้านในชุมชนถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือการทำแผนการท่องเที่ยวออกมาแล้วไม่มีบริษัททัวร์สนใจ ผมจึงสร้าง Local Alike ขึ้นมา และทำควบคู่กับการทำงานที่ดอยตุง
“หลังจากทำควบคู่กันได้ 1 ปี ผมก็เห็นว่า Local Alike มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้จึงออกจากดอยตุงมาทำเต็มตัว ตอนแรกผมแค่อยากพัฒนาธุรกิจโฮมสเตย์เพื่อช่วยชุมชน แต่พอศึกษาไปเรื่อยๆ เราเห็นปัญหาว่ารายได้จากการท่องเที่ยวไม่กระจายตัว แต่กระจุกตัวอยู่ที่บางจังหวัดหรือคนแค่ไม่กี่กลุ่มอย่างเจ้าของโรงแรม หรือเจ้าของบริษัททัวร์ ผมรู้สึกว่าหากเป็นแบบนี้ต่อไปจะเกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมในการกระจายรายได้ในอนาคต
“จากนั้นผมจึงมาเจอโมเดลการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ community-based tourism ที่มุ่งเน้นให้คนในชุมชนจัดการร่วมกัน ให้ชาวบ้าน ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากร ตัดสินใจและวางแผนการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง โดยมี Local Alike เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
“การไปทำงานและเรียนปริญญาโทที่ต่างประเทศทำให้เรารู้ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากได้อะไรจากการท่องเที่ยว เขาอยากให้เงินที่เขาใช้จ่ายกระจายเข้าไปพัฒนาชุมชนและเกิดประโยชน์กับประเทศเราอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นถือว่าชาวต่างชาติมีตลาดที่ชัดเจนอยู่แล้ว จุดมุ่งหมายของ Local Alike ในตอนนี้จึงเป็นการโปรโมทการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนให้คนไทยได้รับรู้
“ปัจจุบัน Local Alike มี 4 โมเดลในการทำงาน หนึ่งคือการพัฒนาการท่องเที่ยว สอง คือ การเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชนใหม่ๆ หรือชุมชนที่ยังไม่พร้อมสำหรับการท่องเที่ยวมากนัก สาม คือ โมเดลบริษัททัวร์ที่เราจัดร่วมกับชุมชนที่มีของดี และพร้อมที่จะจัดทัวร์กับเรา และสี่ คือโมเดลกองทุนที่เรานำเงินรายได้ทั้งหมด ทั้งจากที่เก็บมาจากชาวบ้าน และจาก Local Alike มารวมกันเป็นกองทุนเพื่อแก้ปัญหาของหมู่บ้านต่อไป”
นับเป็นรูปแบบที่นอกจากนักท่องเที่ยวจะสุขใจและได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างแท้จริงแล้ว พวกเขายังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอีกด้วย
เรื่อง Issara R. ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี ผู้ช่วยช่างภาพ อัครวีร์ มีชัย สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์
บทความที่น่าสนใจ
พระกรภพ กิตฺติปญฺโญ หลวงตาพาเจาะโลกทะลุธรรม นิตยสาร Secret
TOP SECRETS : 5 สิ่งต้องห้ามเมื่อร่างกายป่วย
ทำไมคนที่ สนับสนุนให้ผู้อื่นทำแท้ง จึงบาปไปด้วย? นิตยสาร Secret
คู่หูดูโอ้ แดน บีม อวยพรชาว Secret พร้อมเผยเคล็ดลับความสุข