สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด

5 ตำนานและความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด

5 ตำนาน และ ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด

ชาวพุทธหลายท่านมีความเชื่อความศรัทธาต่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด และเรื่องเหนือธรรมชาติ โดยเข้าใจว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นความอัศจรรย์ของศาสนา เราจะมาเฉลยให้ฟังว่า บางสิ่งที่เราเชื่อถือกันนั้นเป็นเพียงกุศโลบายของคนเฒ่าคนแก่ บางสิ่งแฝงนัยทางธรรมให้เราคิดตีความและบางสิ่งเป็นเพียงสิ่งที่เราคิด จินตนาการไปเอง

 

1.เทวดารักษาธรณีประตู

ตั้งแต่เด็ก เรามักถูกพ่อแม่หรือคนเฒ่าคนแก่ปลูกฝังมาว่า ห้ามเหยียบธรณีประตู แต่ให้ก้าวข้ามไป เนื่องจากธรณีประตูเป็นจุดที่มีนายทวารบาลหรือเทพยดาคอยดูแลรักษา ดังนั้นต้องให้ความเคารพด้วยการไม่เหยียบย่ำ

อันที่จริงเรื่องนี้มีเหตุผลที่คิดได้หลายประการ ประการแรก ธรณีประตูมีหน้าที่ช่วยค้ำยันวงกบไม่ให้ยุบตัว ดังนั้นหากมีคนเหยียบธรณีประตูบ่อยๆ อาจจะทำให้ประตูโยกคลอน หรือทำให้พื้นไม้โค้งงอจนเป็นแอ่ง เป็นเหตุให้สัตว์เลื้อยคลานเข้ามาอาศัยได้ ประการที่สอง เป็นกุศโลบายให้รักษาสติ ไม่เดินสะดุดจนทำให้ได้รับบาดเจ็บ ประการที่สาม ธรณีประตูบางแห่งมีการลงรักปิดทอง หรือทาชาดไว้ให้สวยงาม การเหยียบธรณีประตูจะทำให้รักทองหรือชาดที่ทาไว้ชำรุดเสียหายได้

 

2.ลูบฆ้องก้องกังวาน

วัดแทบทุกแห่งมีฆ้องขนาดยักษ์ห้อยเอาไว้ หลายคนเชื่อว่า หากใครนำมือไปลูบฆ้องแล้วเกิดเสียงดังหึ่งดังกังวานแปลว่าเป็นผู้มีบุญมาก

ความจริงแล้ว การลูบฆ้องให้เกิดเสียง ไม่เกี่ยวอะไรกับบุญมากหรือน้อย การลูบฆ้องเป็นเพียงการนำวัตถุชนิดหนึ่งมาเสียดสีกับวัตถุอีกชนิดหนึ่งจนเกิดเสียง ซึ่งฆ้องคือวัตถุที่ทำให้เกิดการกำธรเสียง (Resonance) หรือเกิดสะท้อนจนเสียงก้องกังวานได้ เพราะมีปุ่มที่เว้าโค้ง ทำให้อากาศเข้าไปได้ เมื่อลูบด้วยน้ำหนักมือที่พอดีจะทำให้เกิดเสียงก้องกังวาล

 

3.ผู้หญิงมีประจำเดือนห้ามเข้าโบสถ์

ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อที่ว่า “ช่วงที่ผู้หญิงมีประจําเดือน ไม่ควรเข้าไปในโบสถ์” ยังคงมีอยู่ ความจริงแล้ว การที่ผู้หญิงมีประจำเดือนเข้าไปในโบสถ์นั้น หาใช่เรื่องอัปมงคล หรือเป็นการนำพาเสนียดจัญไรเข้าไปแปดเปื้อนวัดอย่างที่หลายคนเข้าใจ ความจริงแล้วหญิงโบราณยังไม่มีผ้าอนามัยใส่เหมือนปัจจุบัน คนเฒ่าคนแก่จึงเกรงว่าผู้หญิงเหล่านั้นอาจจะไปทําให้สถานที่เปรอะเปื้อนได้ จึงคิดกุศโลบายนี้ขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้หญิงเกิดความอับอายหรือเป็นที่ดูแคลนของคนในสังคม

 

4.พระเจ้าทันใจ ขออะไรได้ทันใจนึก

หลายท่านอาจเคยไปกราบไหว้พระเจ้าทันใจ พร้อมขอพร บนบานศาลกล่าว เพราะเชื่อกันว่า “ทันใจ” แปลว่า หากขอพรอะไรก็จะได้สำเร็จทันทีทันใจ

ความจริงคำว่า “ทันใจ” มาจากคติการสร้างพระพุทธรูปแบบล้านนาคือสร้างให้สำเร็จภายใน 1 วัน นับตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น (0.00น.) จนถึงก่อนพระอาทิตย์ตกดิน (18.00น.) โดยตลอดระยะเวลาการสร้าง พระสงฆ์จะต้องเจริญพระพุทธมนต์ควบคู่ไปตลอดเพื่อความเป็นสิริมงคล การจะสร้างพระพุทธรูปให้สำเร็จ “ทันใจ” ได้นั้นจึงต้องอาศัยความเพียรพยายาม และร่วมแรงร่วมใจจากชาวพุทธทุกคนรู้อย่างนี้แล้ว ทุกครั้งเมื่อไปกราบไหว้พระเจ้าทันใจอย่าลืมนึกถึงนัยยะทางธรรมข้อดีกันด้วยนะคะ

 

5.ผ้าแดงตัดกรรม ที่รอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ

มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า เมื่อนมัสการรอยพระพุทธแล้วไม่ได้เดินไปถึงเขตผ้าแดงที่กั้นไว้ ถือว่ามาไม่ถึงพระพุทธบาท เพราะจุดนี้คือจุดตัดกรรม ให้ซื้อผ้าแดงเขียนชื่อ นามสกุลตัวเอง อธิษฐานแล้วผูกไว้ จะทำให้หมดสิ้นเคราะห์กรรม

ความจริงแล้วเขตผ้าแดง ท่านพระครูธรรมสรคุณ (ท่านพ่อเขียน ขนฺธสโร) เจ้าอาวาสวัดกะทิง จังหวัดจันทบุรี ผู้บุกเบิกพัฒนาพื้นที่และเส้นทางขึ้นไปนมัสการรอบพระพุทธบาท เป็นผู้ให้ขึงไว้เพื่อกั้นไม่ให้ล้ำเข้าไปในเขตอันตราย เพราะเคยมีคนเลยเขตเข้าไปแล้วหลง ดังนั้นผ้าแดง จึงหมายถึง เขตอันตราย ไม่ได้มีความหมายเป็นอย่างอื่น

ข้อมูลอ้างอิงจาก สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา , สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, การสัมภาษณ์จากพระครูธรรมสรคุณ และอาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม


บทความน่าสนใจ

ถอดรหัสความเชื่อ คลายข้อสงสัย ทำไม “ ห้ามนอนทับตะวัน ”

5 ความเชื่อผิดๆ ในการ ใช้ชีวิตคู่

ไขข้อข้องใจ สารพันปัญหาเรื่องแก้เคล็ด แก้กรรม ปรับความเชื่อ

สุขทุกวัน 7 วัน 7 กูรู ตอน วัตถุมงคล ความเชื่อ กับพระพุทธศาสนา โดย ท่านปิยโสภณ

ขัดห้องน้ำวัด งานปิดทองหลังพระ ที่มีเรื่องราวมากกว่าคุณคิด

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.