องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) อกแคมเปญ #HEARMETOO รณรงค์การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทย เปลี่ยนแปลงทางสังคม กระตุ้นให้ทุกคนเป็นหนึ่งในกระบอกเสียง ผ่านกิจกรรมทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย
หลายปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จากสถิติผลการวิจัยของ UN Women เผยว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้หญิงทั่วโลก มีประสบการณ์ถูกกระทำความรุนแรง ซึ่งสถานการณ์
ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นปัญหาที่แอบแฝงอยู่ในสังคมเสมอมา และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2556 พบว่าสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง ตกอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 87 รายต่อวัน และยังพบว่า
ร้อยละ 83 ของการทำร้ายมาจากบุคคลใกล้ตัว ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อนหญิงระบุว่าในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2561) พบว่าความรุนแรงนั้นไม่มีการลดลงเลยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
หลังจากคดีล่วงละเมิดทางเพศถูกตีแผ่ออกไปอย่างมหาศาลในประเทศสหรัฐอเมริกา นำไปสู่การเกิดแคมเปญ #MeToo ในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีการรณรงค์เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศผ่านทางโซเชียลมีเดีย
ซึ่งเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 บนมายสเปซ (Myspace) ของ ทารานา เบิร์ก นักกิจกรรมสังคม และนักจัดการชุมชนที่ใช้วลี #มีทู (#MeToo) เพื่อกระตุ้นการตระหนักรู้ของผู้รอดชีวิตจากประสบการณ์ที่ถูกประณาม ประทุษร้าย และคุกคามทางเพศในกลุ่มผู้หญิงผิวสี และบุคคลที่มีความหลากหลายในเชื้อชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้ผู้หญิงออกมาเรียกร้องสิทธิ และความเสมอภาคระหว่างเพศ
ให้เกิดความเท่าเทียม จากนั้นในปี พ.ศ. 2560 ดาราฮอลลีวู้ดชื่อดัง อลิสซา มิลาโน (Alyssa Milano) ได้จุดประเด็นนี้ขึ้นอีกครั้ง ด้วยการออกมาทวิต #MeToo ผ่านทางทวิตเตอร์ เพื่อสร้างเอกภาพในกลุ่มผู้หญิง
ที่มีประสบการณ์เดียวกัน ผลที่ได้รับคือ มีผู้คนนับล้าน รวมถึงเหล่าเซเลบริตี้จำนวนมากต่างออกมาบอกเล่าประสบการณ์ของตน อาทิ เลดี้ กาก้า (Lady Gaga) แกเบรียล ยูเนี่ยน (Gabrielle Union) และ อีแวน เรเชล วูด (Evan Rachel Wood) เป็นต้น ทำให้กระแส #MeToo นี้โด่งดังไปทั่วโลก
จากกระแสความเคลื่อนไหวของแคมเปญ #MeToo ที่แพร่กระจายออกไปทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2561 UN Women จึงได้ร่วมมือกับ กลุ่มบริษัทในเครือ WPP Marketing Communications เพื่อต่อยอดแคมเปญนี้
ซึ่งในประเทศไทย ทาง UN Women ได้จับมือกับ กลุ่มบริษัทชั้นนำด้านสื่อโฆษณาในประเทศไทย อาทิ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน กรุงเทพฯ (J. Walter Thompson Bangkok), มายรัม ประเทศไทย (Mirum), เวิรฟ พับลิค รีเลชั่นส์ คอนซัลแตนท์ซี (Verve), กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย (GroupM Thailand) รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing) อย่างบริษัทอินฟลูออส (Influos) ด้วยความตั้งใจที่จะผลักดันให้ผู้หญิงไทยกล้าที่จะบอกเล่าประสบการณ์การประสบความรุนแรง ในอดีต หรือการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศผ่านแคมเปญ #HEARMETOO หรือ #มีอะไรจะบอก ในช่วง 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (16 Days of Activism against Gender-Based Violence) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคมนี้ ด้วยเป้าหมายหลักคือ การปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อผลักดันให้ผู้หญิงกล้าออกมาพูดเกี่ยวกับการถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น เพื่อรวมเป็นพลังเป็นหนึ่งเดียวในการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรง ผลักดันให้เกิดความเสมอภาค และ
ความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคมไทย
สำหรับแคมเปญ #HEARMETOO นี้ ได้มีการนำเสนอประเภทของความรุนแรง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ความรุนแรงทางเพศ (Sexual Violence) ความรุนแรงทางร่างกาย (Physical Violence) ความรุนแรง
ที่ส่งผลกระทบทางอารมณ์ (Emotional Violence) และ ความรุนแรงในบริบททางเศรษฐกิจ (Economic Violence) เพื่อให้สังคมไทยตระหนักถึงความรุนแรงในปัจจุบัน และเป็นจุดเปลี่ยนของการยุติความรุนแรงนี้ โดยแคมเปญประกอบไปด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย อาทิ
- การรณรงค์ทาลิปสติกสีส้ม โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #HEARMETOO #มีอะไรจะบอก ทั้งเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าที่จะพูดและบอกเล่าประสบการณ์ของตน พร้อมสะท้อนทัศนคติที่เป็นส่วนช่วยให้เธอก้าวผ่านเรื่องเลวร้ายในอดีต
ซึ่งถือเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญของการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในสังคมไทย โดยสามารถ
ร่วมกิจกรรมรณรงค์ทาลิปสติกสีส้ม ได้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคมนี้
- “พาดหัวข่าวใหม่” (Disruptive News Headlines) โดย UN Women ได้จับมือกับเว็บไซต์ MThai
ในการเปลี่ยนหัวข้อข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในเชิงลบให้กลายเป็นหัวข้อข่าวใหม่
ในเชิงบวก เพื่อปรับทัศนคติของสังคม ที่มองผู้หญิงว่าเป็น “เหยื่อ” ให้กลายเป็น “ฮีโร่” ที่กล้าหาญ พร้อมที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมและความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคม ทั้งนี้ประชาชนสามารถร่วมกิจกรรม “พาดหัวข่าวใหม่” ผ่านการแชร์บนโซเชียลมีเดีย ได้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคมนี้
- Immersive 360-Degree Experience แคมเปญ #HEARMETOO ยังได้สร้างสถานการณ์จำลองความรุนแรงขึ้นในรูปแบบออนไลน์ 360 องศา ผ่านเว็บไซต์ของแคมเปญ โดยมีภาพเคลื่อนไหวและเรื่องราวประสบการณ์ของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง เพื่อให้ผู้ชมได้ทดลองสัมผัสประสบการณ์จริง ที่ 1 ใน 3 ของผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลกเคยเจอ พร้อมทั้งเข้าใจถึงความรู้สึกของเธอ
ณ สถานการณ์นั้น สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและคำแนะนำเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิง ได้ที่ เว็บไซต์ hearmetoo.or.th
- ภาพยนตร์สั้นออนไลน์ #HEARMETOO ถ่ายทอดผ่านมุมมองของ คุณอ้วน อารีวรรณ จตุทอง
อดีตรองนางสาวไทย ผู้ที่เคยผ่านพ้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งปัจจุบันเธอได้ผันตัวเอง
เป็นนักกฎหมาย และผู้ร่วมรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิสตรีมานานกว่า 20 ปี โดยภาพยนต์สั้นนี้จะเผยแพร่บนเว็บไซต์ hearmetoo.or.th เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้หญิงไทยทุกคน ให้มีความกล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน
- ภาพยนตร์เสียง 3 ชุด ที่จะสะท้อนความรุนแรงจากเหตุการณ์จริงของตัวแทนผู้ร่วมรณรงค์ ได้แก่
- คุณนุ่น – ธารารัตน์ ปัญญา – นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณฝน – นันทิยา ภูมิสุวรรณ – ตัวแทนเจ้าหน้าที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
- วรรณโชค ยิ้มย่อง – ผู้จัดการฝ่ายดูแลลูกค้า บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน กรุงเทพฯ
UN Women มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันให้ผู้หญิงและเด็กในประเทศไทย ใช้สิทธิและศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ผ่านการแชร์เรื่องราวของพวกเขาสู่โลกภายนอก พร้อมส่งเสริมความเป็นธรรมและเอกภาพ
ของผู้หญิงเพื่อยุติความรุนแรงในสังคม เพราะความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง เราจึงต้องร่วมมือกันเพื่อให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแคมเปญ #HEARMETOO ได้ทาง www.hearmetoo.or.th