มหกรรม Spark U สามจังหวัดชายแดนใต้ ร้อยสายใย ด้วยหัวใจมลายู รวมพลังปลุกใจเมืองใต้ สร้างพื้นที่สุขภาวะ ให้หัวใจเป็นหนึ่งเดียว
เมื่อวันที่ 14 – 17 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน (สสย.) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ภาคีเครือข่ายภาคใต้ ได้แก่ กลุ่มพิราบขาวชายแดนใต้ จ.ปัตตานี กลุ่มยังยิ้ม จ.นราธิวาส และ กลุ่มดอกไม้ยิ้ม จ.ยะลา จัดงาน มหกรรม Spark U สามจังหวัดชายแดนใต้ ร้อยสายใย ด้วยหัวใจมลายู ณ ถนนหน้าวัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เพื่อเป้าหมายสานสายใยหัวใจชาวใต้ให้ได้ไหวเต้น จุดประกาย Spark พลังเยาวชนพลเมืองคนรุ่นใหม่ ลุกขึ้นมาขยับปีกฝัน สรรค์สร้างชีวิตสุขภาวะ
นายวรพจน์ โอสถาภิรัตน์ ผู้ประสานงาน Spark U ภาคใต้ ได้กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของการจัดงานครั้งนี้ว่า “มหกรรม Spark U สามจังหวัดชายแดนใต้ ร้อยสายใย ด้วยหัวใจมลายู เป็น 1 ในกิจกรรมของ Spark U ใต้ ใช่เลย! ภายใต้โครงการ Spark U ปลุก ใจ เมือง ที่มีการทำงานใน 3 ภาค คือ เหนือ อีสาน ใต้ ปีนี้ดำเนินการมาในระยะที่ 2 โดยมีเป้าหมายคือการให้คนในชุมชนได้นำสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ มาเป็นตัวจุดประกาย เป็นตัวอย่าง สร้างแรงบันดาลใจ ปลุกให้ทั้งคนในชุมชนเองและคนภายนอกได้มองเห็นและลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่เลือกหยิบประเด็น หัวใจมลายู ที่ทุกคนมองเห็นตรงกันว่า ความดีงามของศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของมลายู จะเป็นตัวจุดประกาย ปลุกให้ชุมชนลุกขึ้นมาพัฒนาเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีพลัง”
ทั้งนี้ มหกรรม Spark U สามจังหวัดชายแดนใต้ ร้อยสายใย ด้วยหัวใจมลายู ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมเรียนรู้ใน 4 ห้องเรียน 4 ชุมชน ได้แก่
- ห้องเรียนที่ 1 : บ้านบางมะรวด ต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
- ห้องเรียนที่ 2 : บ้านป่าหลวง ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี
- ห้องเรียนที่ 3 : บ้านปูยุด ต.ปูยุด อ.เมือง จ.ปัตตานี
- ห้องเรียนที่ 4 : บ้านท่าแรด ต.ป่าไร อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
ก่อนที่ทั้ง 4 ชุมชนจะยกห้องเรียนมาจัดแสดงร่วมกันที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยเนรมิตรถนนหน้าวังเจ้าเมืองยะหริ่งเป็นถนนสายวัฒนธรรมในช่วงเย็นวันที่ 16 ธันวาคม 2561 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชมการแสดงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และร่วมทำกิจกรรมหลากหลาย เช่น การทำผ้ามัดย้อม ประดิษฐ์งานหัตถกรรมท้องถิ่น เรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้านโบราณ ฯลฯ
ทั้งนี้เพื่อให้กิจกรรมในแต่ละพื้นที่ เป็นเครื่องมือในปลุกพลัง ปลุกแรงบันดาลใจ ร้อยสายใย ด้วยหัวใจมลายู บนความงดงามของอัตลักษณ์ที่หลากหลายของดินแดนใต้ ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างพลังมิตรภาพอันดีงาม พัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้าน นายเฉลิมชัย โสวิรัตน์ ประธานพิราบขาวชายแดนใต้ จ.ปัตตานี ได้กล่าวว่า
“โครงการ Spark U เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ได้พูดในสิ่งที่เราอยากพูด สำหรับการทำงานของพิราบขาว จ.ปัตตานี จะใช้เครื่องมือหลักเป็นกิจกรรมและวัฒนธรรม โดยแต่ละชุมชนจะหยิบเอาอาหาร การละเล่น การแสดงพื้นบ้าน และประวัติศาสตร์ของแต่ละชุมชน มาเป็นตัวเชื่อมโยงปลุกแรงบันดาลใจ
หลังจากดำเนินการต่อเนื่องมา 8 เดือน ได้รับเสียงตอบรับในชุมชนดีมาก วันนี้ จ.ปัตตานีเรามีสถิติเป็นที่หนึ่งเรื่องของปัญหายาเสพติด แต่พอมาทำ Spark U เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะได้ย้อนกลับไปเห็นว่า ในอดีตพื้นที่จังหวัดปัตตานีเคยเป็นที่หนึ่งในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมที่งดงามหลากหลายด้าน แต่วันนี้มันหายไป เราจะทำยังไงให้ความเป็นที่หนึ่งที่เราภาคภูมิใจกลับมาอีกครั้ง นี่คือสิ่งที่เราจะต้องสร้าง จะต้อง Spark ให้เกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ใน โครงการ แต่ต้องดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน”
ในส่วนของ มูฮำหมัด อุมะ ประธานชุมชนบ้านปูยุด ที่ได้นำเอา ‘สีลัต’ ศิลปะการต่อสู้ของชาวมลายู ที่มีอายุมากกว่า 500 ปี มาเป็นตัวเชื่อมโยงปลุกแรงบันดาลใจคนในชุมชน ได้กล่าวถึงความรู้สึกในการร่วมโครงการนี้ว่า
“ชมรมครอบครัวสีลัตเซนีกายงฟาตานีปูยุดไทยแลนด์ ดำเนินโครงการในลักษณะจิตอาสาสอนเด็กกำพร้า เด็กติดยา เด็กมีปัญหา และเด็กด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ โดยใช้สีลัตมาเป็นตัวปรับพฤติกรรมให้กับเด็ก ๆ และเยาวชนกลุ่มนี้มากว่า 5 ปีแล้ว แต่เมื่อมาทำงานกับโครงการ Spark U ทำให้สามารถนำสีลัตมาขยายการทำงานไปได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นถึง 4 เท่า
โดยที่การทำงานที่ผ่านมา ได้ใช้สีลัตไปจุดแรงบันดาลใจให้กับทั้งเด็ก ๆ ในโรงเรียน กลุ่มผู้ปกครอง กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน มีการรื้อฟื้นภูมิปัญญาการใช้สีลัตมาเป็นท่าออกกำลังกายของกลุ่มผู้สูงวัย ประยุกต์เป็นการนวดบำบัด รื้อฟื้นศิลปะหัตถกรรมเครื่องดนตรีพื้นบ้าน นำสมุนไพร กะลาและไม้ตาลมาช่วยเรื่องของการนวดบำบัดโรค เรานำสีลัตมาใช้ทั้งการส่งเสริมด้านสุขภาพ และการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ทั้งกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ทำให้เกิดเป็นพลังเป็นแรงบันดาลใจอย่างเป็นรูปธรรมของชุมชนได้ในที่สุด”