คมส.เชื่อมมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ–พชอ.ยกระดับ-พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกอำเภอทั่วประเทศ

คมส. หารือการเชื่อมงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กับ พชอ. หรือ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นพระเอกหลัก ร่วมกับทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน หารือปัญหา-พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนระดับพื้นที่ ด้านกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ เตรียมตั้งหน่วยกลางรวบรวมข้อมูลภาพรวมระดับอำเภอทั่วประเทศ               

เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข มี การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ 1/2562 โดยมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม วาระสำคัญที่มีการหารือ คือ แนวทางการบูรณาการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ผ่านกลไกคณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ (พชอ.)

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า พชอ. เป็นกลไกที่กระทรวงสาธารณสุข และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ ให้ความสำคัญมาก ถึงกับมีการสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยให้สนับสนุนเรื่องนี้ด้วย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ที่ผ่านมาตนเองเคยลงพื้นที่ร่วมประชุมกับ พชอ. บางแห่ง พบว่า คณะกรรมการนี้มีตัวแทนจากหลายส่วน สามารถสะท้อนปัญหาท้องถิ่นและมีการกำหนดแนวทางการทำงานได้ค่อนข้างชัดเจน เชื่อว่าหากระดับผู้บริหารกระทรวงร่วมผลักดันและสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอก็น่าจะขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ รวมถึงแก้ปัญหาท้องถิ่นได้ตรงจุด ยกตัวอย่าง จังหวัดสระบุรี มีการผลักดันเรื่องอาหารปลอดภัย แต่เดินหน้าลำบาก เนื่องจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์มีปัญหาเรื่องต้นทุนสูงและไม่มีตลาดเพียงพอ ขณะที่โรงพยาบาลในพื้นที่ก็ได้เริ่มกำหนดนโยบายใช้พืชผักปลอดสารทั้งหมด แม้จะต้องซื้อในราคาแพงขึ้นราวร้อยละ 20 ก็ตาม นี่เป็นตัวอย่างความร่วมมือที่เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ในฐานะที่สาธารณสุขอำเภอทำหน้าที่เป็นเลขานุการของ พชอ. ทั่วประเทศ ทางกระทรวงจึงตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาใหม่เพื่อรวบรวมข้อเสนอต่างๆ ของทุกพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมและสามารถติดตามตรวจสอบการดำเนินงานได้

“ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก เราควรมอนิเตอร์ให้ได้ว่า 878 อำเภอ มีการประชุม พชอ. ไปกี่ครั้ง แต่ละครั้งกำหนดจะทำอะไรบ้าง มีเป้าหมายอย่างไรบ้าง รวบรวมเป็น Big Data เพื่อที่จะสามารถติดตามผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีการประชุมกันมา 11 ปี มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผลักดันกันอย่างเป็นทางการรวม 81 มติ ทั้งนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติและ พชอ. ต่างก็มุ่งเน้นการทำงานสองทางทั้งงานในพื้นที่และงานระดับนโยบาย โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งการบูรณาการงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกับกลไก พชอ. จะมีส่วนช่วยในการสาน-เสริมการทำงานซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี

นางณัฐธยาน์ บัวชุม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มหาดไทยได้ให้แนวนโยบายกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในการให้ความสำคัญกับกลไกนี้ โดยกำหนดให้นายอำเภอทุกแห่งต้องรายงานมติหรือประเด็นต่างๆ ของ พชอ. ในที่ประชุมคณะกรรมการจังหวัดทุกเดือน และท้องถิ่นหรือจังหวัดสามารถสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการโครงการของ พชอ.ได้ด้วย

รศ.วิลาวัณย์ เสนารัตน์ อดีตคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการ คมส. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการทำงานในหลายจังหวัดภาคเหนือในรูปแบบเดียวกับ พชอ. ตั้งแต่ก่อนที่จะมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีออกมารองรับคณะกรรมการนี้อย่างเป็นทางการ ผลการดำเนินงานพบว่า อำเภอเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการขับเคลื่อนมติต่างๆ ในทางนโยบายมากที่สุด ไม่ว่าเรื่องใดหากมีคณะกรรมการระดับอำเภอที่เข้มแข็งก็จะสามารถผลักดันได้ดี คนในพื้นที่จะรับรู้ถึงกันหมด ในกรณีของ พชอ. ยังมีคณะกรรมการระดับตำบล หรือ พชต. และกระทั่งระดับหมู่บ้าน หรือ พชม. ด้วย นอกจากนี้หากพื้นที่ใดเห็นว่ามีประเด็นที่ใหญ่และท้าทายมากก็จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการรายประเด็นเพื่อติดตามเฉพาะส่วนนั้นๆ เพิ่มเติมได้อีกด้วย

อนึ่งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ (พชอ.) เป็นกลไกที่ตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ผ่านการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนี้ใน 878 อำเภอทั่วประเทศเพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ มีนายอำเภอเป็นประธาน สาธารณสุขอำเภอเป็นกรรมการและเลขานุการ สมาชิกประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานรัฐ รวมผู้ใหญ่บ้านและผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เกิน  6 คน ผู้แทนภาคเอกชนไม่เกิน 6 คน ผู้แทนภาคประชาชนไม่เกิน 7 คน

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
Alternative Text
pant
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.