ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ประเทศไทยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละกว่า 3,900 คน เฉลี่ย 1 คนในทุก 2 ชั่วโมง ภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น อัตรา 10 ต่อประชากรแสนคน สูงสุดที่จังหวัดลำพูน 20 ต่อประชากรแสนคน แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
กระทรวงฯ จึงร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต เพิ่มการทำงานเพื่อป้องกันปัญหา ส่งอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ รพ.สต. เข้าไปตรวจคัดกรองในชุมชน เยี่ยมบ้าน ให้คำปรึกษา และส่งเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา โดยเน้นไปที่ 2 กลุ่มเสี่ยงหลัก คือ กลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้า ได้แก่ ผู้ที่มีอาการซึมเศร้า และกลุ่มฆ่าตัวตายด้วยความหุนหันพลันแล่น
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การฆ่าตัวตายของคนไทย มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งในครอบครัว โดยผู้หญิงจะมีเรื่องความรักความหึงหวง ผิดหวังในความรักด้วย โดยผู้ชายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จร้อยละ 3 จะมีการทำร้ายคนอื่นร่วมด้วย ขณะที่ผู้หญิงร้อยละ 2 จะทำร้ายคนอื่นก่อนฆ่าตัวตาย อายุต่ำสุดคือ 10 ขวบ และสูงสุดคือ 93 ปี กลุ่มอายุ 35-39 ปี ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่ากลุ่มอื่น
นอกจากนี้สังคมออนไลน์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง โดยยิ่งอยู่ในสังคมดังกล่าวมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามก่อนลงมือฆ่าตัวตาย มักจะส่งสัญญาณเตือน ขอความช่วยเหลือมาก่อน ทั้งจากคำพูด การเขียนจดหมาย การส่งข้อความสั้น (SMS) การไลน์ หรือการโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
ดังนั้นหากเห็นสัญญาณที่กล่าวมานี้ ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 อย่า และ 3 ควร โดย 4 อย่า ได้แก่ อย่าท้าทาย อย่าใช้คำพูดเยาะเย้ย อย่านิ่งเฉย และอย่าส่งข้อความหรือเผยแพร่ภาพการฆ่าตัวตายและความเศร้าโศกของครอบครัวผู้เสียชีวิตจนมากเกิน ส่วนสิ่งที่ควรทำ 3 ควร ได้แก่ ควรห้าม ควรชวนคุย และควรติดต่อหาความช่วยเหลือ เช่น บุคคลที่ใกล้ชิดเขาที่สุดขณะนั้น โดยกรมสุขภาพจิตมีสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ โทร 191 หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อเข้าสู่ระบบบริการโดยเร็ว
ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์