รู้หรือไม่ว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ด้วยอัตราการเสียชีวิตกว่า 58,000 ราย ในปี 2563 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่ตัวเลขนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลายคนอาจมองว่าโรคหัวใจนั้นเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ได้คาดคิดว่าพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันอาจส่งผลให้โรคร้ายนี้ก่อตัวเป็นภัยร้ายแฝงอยู่ในร่างกายอย่างเงียบๆ
แล้วเราจะเริ่มประเมินความเสี่ยงและรับมือกับภัยเงียบนี้ได้อย่างไร มาร่วมเจาะลึกทุกเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ และหลอดเลือด กับ อาจารย์นายแพทย์ ปริญญ์ วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์สาขาโรคหัวใจโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะมาถ่ายทอดความรู้และแนวทางการป้องกันโรคที่แม่นยำและทันสมัย พร้อมชวนคนไทยใส่ใจดูแลสุขภาพไปพร้อมๆ กัน
รู้ทัน ‘โรคหัวใจ’ ภัยอันตรายสำหรับคนไทยที่ไม่ควรละเลย
นอกเหนือจากอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังมีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกกว่า 6 แสนรายในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย และในแต่ละปี ช่วงวัยของกลุ่มผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างอันตรายสำหรับคนไทย โดยส่วนใหญ่แล้วอาการของโรคมักพบในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ก็มีโอกาสพบในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 40 ปีด้วยเช่นกัน ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง และอาจเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย หรือที่เราเรียกว่า ‘สหปัจจัย’ ซึ่งเกิดได้ทั้งจากพันธุกรรมและพฤติกรรม เช่น มีประวัติคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดโรค เช่น พฤติกรรมการดื่มสุรา สูบบุหรี่ พักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะความเครียด ความดัน ไขมันในเลือดสูง อ้วนน้ำหนักเกิน และเบาหวาน เป็นต้น
นายแพทย์ ปริญญ์ กล่าวเสริมว่า “ลักษณะของโรคหัวใจที่น่าเป็นห่วงและมักพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยและดูแข็งแรงดี คือ ผู้ป่วยอาจมีคราบไขมันสะสมในเส้นเลือดซ่อนอยู่ก่อนโดยที่ไม่ได้ก่อให้เกิดการตีบตันใดๆ แต่หากวันใดวันหนึ่งที่ร่างกายเกิดความเครียดมาก จนคราบไขมันที่อยู่ในเส้นเลือดเกิดการแตกออก ร่างกายจะซ่อมแซมตนเองด้วยการส่งเกล็ดเลือดไปอุดบริเวณที่เสียหาย เกล็ดเลือดที่ไปรวมกันในหลอดเลือดเล็กๆ นั้น สามารถที่จะทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดอุดตันฉับพลันได้ไม่ยาก ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดฉับพลัน และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เหมือนที่เราจะเห็นได้จากหลายๆ เคสที่ผู้ป่วยยังอายุไม่เยอะและสุขภาพร่างกายดูแข็งแรงปกติดี แต่กลับล้มลงและเสียชีวิตขณะออกกำลังกาย”
สำหรับอาการเบื้องต้นของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่พบได้บ่อยและสามารถสังเกตได้ง่าย คือ อาการเจ็บแน่นหน้าอกด้านซ้าย หรืออาการปวดลึกๆ บริเวณกลางอก อาจลามไปถึงแขนหรือกราม โดยอาการเจ็บส่วนใหญ่มักจะสัมพันธ์กับการออกแรง เมื่อได้หยุดพักอาการจะดีขึ้น หากมีอาการต้องสงสัยข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาโรคและดูแลรักษาต่อไป
มาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะอยากรู้แล้วว่าเราจะมีวิธีประเมินความเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดโรคร้ายนี้ได้อย่างไร ปัจจุบัน บุคคลทั่วไปก็สามารถลองทำแบบประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ง่ายๆ โดยไม่จำกัดอายุ เพื่อเริ่มประเมินตนเองเบื้องต้นว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ และเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ชุดข้อมูลพื้นฐานที่เป็นสากลในการทำแบบประเมิน คือ อายุ เพศ ค่าความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันในเลือด และประวัติการสูบบุหรี่ เป็นต้น จากสถิติพบว่า ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ โอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ
รู้ไว ห่างไกลโรค กับ โทรโปนินไอ (Troponin-I)
ทั้งนี้ เนื่องจากแบบประเมินพื้นฐานดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานได้ง่ายกับกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย ในหลากหลายประเทศทั่วโลก ค่าความเสี่ยงที่ได้จึงจะเป็นค่าความเสี่ยงเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการความแม่นยำที่มากขึ้น หรือจำเพาะเจาะจงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น โรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่งในประเทศไทยจึงเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการช่วยประเมินความเสี่ยงให้แม่นยำขึ้นเข้ามาประยุกต์ใช้ควบคู่กัน ยกตัวอย่างเช่นการตรวจเลือดเพื่อหาค่าโทรโปนินไอ ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของกล้ามเนื้อหัวใจ และมีความจำเพาะต่ออาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง จึงสามารถเป็นตัวชี้วัดสุขภาพของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงช่วยประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้นั่นเอง
ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย จึงมีการตรวจหาค่าโทรโปนินไอที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และแม่นยำมากขึ้น หรือที่เรียกว่า ‘High Sensitivity Troponin-I (hsTni)’ “การตรวจเจาะเลือดแบบ High Sensitivity Troponin-I มีความไวและแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถตรวจได้แม้กระทั่งในบุคคลทั่วไปที่ไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใดๆ โดยมีโอกาสตรวจพบค่าโทรโปนินไอในคนทั่วไปที่ไม่ได้มีอาการของโรคหัวใจได้สูงถึง 80 เปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคนที่สุขภาพร่างกายอาจดูแข็งแรงปกติดี แต่อาจจะมีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งการตรวจเลือดด้วยวิธีการอื่นๆ ทั่วไป อาจไม่ได้มีความละเอียดมากพอ สำหรับค่าเฉลี่ยมาตรฐานของโทรโปนินไอสำหรับผู้ชายไม่ควรเกิน 12 และสำหรับผู้หญิงไม่ควรเกิน 10 โดยค่าที่ได้นั้น เมื่อนำมาใช้ร่วมกับแบบประเมินความเสี่ยงพื้นฐาน ก็จะสามารถเพิ่มความสามารถในการบ่งบอกถึงความเสี่ยง รวมถึงคาดการณ์ระยะเวลาที่จะเกิดโรคได้ล่วงหน้าถึง 10 ปี เพื่อเตรียมแนวทางในการป้องกัน หรือวางแผนการดูแลรักษาเพื่อบรรเทาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต” นายแพทย์ ปริญญ์ กล่าวเสริม
สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการตรวจ High Sensitive Troponin – I (hsTni) สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน และสามารถรอรับผลตรวจได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน
“เพราะโรคหัวใจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป อย่าปล่อยให้เรื่องสุขภาพของคุณสายเกินแก้”