เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าทำไมพฤติกรรมการใช้เงินของคนแต่ละรุ่นแต่ละอายุ ถึงได้มีความแตกต่างกัน และ นวัตกรรมทางการเงิน มันเกี่ยวข้องหรือเข้ามามีบทบาทกับเรามากน้อยแค่ไหน สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเงินเกิดขึ้นได้อย่างไร ? และเหตุผลของมันคืออะไร
วันนี้เราได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในสายงานด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจการเงิน และการวางแผนทางการเงินโดยตรงอย่าง คุณกรณ์ วัจนจิรภัทร ผู้อำนวยการฝ่ายงาน ดิจิตัลอินโนเวชั่น บมจ. กรุงเทพประกันชีวิต มาพูดคุยและหาคำตอบเหล่านี้ให้กับเรา ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นอย่างไร ตามมาดูกัน
การวางแผนการเงินมีความสำคัญมากน้อยขนาดไหน
“ก่อนอื่นเลย ผมอยากให้ทำความเข้าใจถึงเรื่องของการวางแผนการเงินกันก่อน ความเห็นส่วนตัวของผมต้องบอกว่า การวางแผนการเงินเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย เพราะไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร หากเราเรียนรู้ที่จะวางแผนการเงินตั้งแต่ต้น และมีการวางแผนการเงินที่ดี สิ่งนี้จะช่วยให้มนุษย์เรามีสุขภาพชีวิตที่ดี มั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน
ต้องถามต่อไปอีกว่าเราทุกคนวางแผนการเงินไปเพื่ออะไร เอาจริงๆสรุปง่ายๆ คือเราต้องการลดความเสี่ยงของความไม่แน่นอนในชีวิตที่ล้วนแต่มีพื้นฐานจากความมั่นคงทางการเงินทั้งสิ้น ผมเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นพื้นฐานแรกที่ช่วยรับรองความเสี่ยงในชีวิต หากเรามีการวางแผนการเงินที่ดี ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น เกิดเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ เงินสำรองเป็นสิ่งแรกๆที่เราจะต้องคำนึงถึง ว่าเราสามารถนำเงินส่วนไหนมาใช้จ่ายสำหรับเหตุการณ์เหล่านี้ได้หรือไม่ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น แต่สมมุติว่ามันเกิดขึ้นมาจริงๆ
“คำถามคือ เรามีการวางแผนการเงินสำหรับเงินส่วนนี้มากพอแล้วหรือยัง”…นี่คือคำถาม”
ในอีกมิติหนึ่ง พอเราพุดถึง 3 คำอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ล้วนจำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้าง เหมือนต้นไม้ที่กว่าจะร่มเย็นก็ต้องใช้เวลาปลูก หมั่นดูแล รดน้ำ ถึงจะออกดอกออกผล นั่นเป็นเหตุผลที่เราจำเป็นต้องเริ่มต้นวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิต ทั้ง 3 ในชีวิตวันข้างหน้าได้อย่างแน่นอน ดังนั้นการวางแผนการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากครับสำหรับผมนะ
อีกหนึ่งอย่างในมุมมองส่วนตัวของผมที่อยากพูดถึง คือ “ประกัน” อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ ชีวิตเรามีความไม่แน่นอนสูง โลกเปลี่ยน การเตรียมความพร้อม ยิ่งต้องเปลี่ยนแปลงมากขึ้นตาม สิ่งนี้ผมว่าสำคัญไม่แพ้กับการวางแผนทางการเงิน หรือถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนเลยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นการเลือกซื้อประกันให้เหมาะสมกับตัวเรา และคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะสิ่งเหล่านี้หากมองดีๆ มันไม่ได้ช่วยแค่คุ้มครองเงินในกระเป๋าของเราเท่านั้น แต่บางครั้งมันยังรวมถึงคุ้มครองคนรอบข้าง คุ้มครองจิตใจของคนที่คุณรักในชีวิตด้วยเสมอ
เท่าที่ฟังมาถือว่าค่อยข้างเห็นภาพเลยทีเดียวคะ แล้วสำหรับคุณกรณ์ การวางแผนการเงินในแต่ละช่วง Generation ถ้าอยากจะมั่นคง มีอะไรที่เราต้องเรียนรู้เพิ่มเติมบ้างคะ และ นวัตกรรมทางการเงิน ของคนแต่ละช่วงวัยมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร พอเล่าให้ฟังได้มั้ยคะ
“เอาข้อแรกก่อน อย่างที่ผมบอกไปตอนแรกว่า การวางแผนการเงิน เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน แต่ใช่ว่าทุกคนจะต้องมีแผนการเก็บเงินที่เหมือนกันไปซะหมด ถ้าจะทำให้เข้าใจได้ง่าย ผมจะแบ่งเรื่องนี้ออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ตาม GENERATION เพื่อให้เห็นภาพ แน่นอนคนแต่ละ Generation มีความสนใจ(interest) มีการใช้ชีวิต(Lifestyle) และเป้าหมาย(goal) ในชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้าถึงและตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน
เริ่มที่ GEN Z (อายุ 25 ปี) ผมลองหยิบกลุ่มที่เป็นนักเรียน นักศึกษาหรือ first jobber มาพูดถึงละกันนะครับ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ที่ใช่ รวมถึงสามารถตัดสินใจอะไรหลายๆอย่างได้ด้วยตัวเอง เริ่มมี Power of purchase เอง ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นช่วงวัยที่เติบโตมากับเทคโนโลยี รู้ทันข่าวสาร สามารถเรียนรู้และปรับตัวเกี่ยวกับเทคโนโลยีได้เร็ว ข้อดีคือ สามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ได้ค่อนข้างดี คิดเร็ว ตัดสินใจเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน ความผิดพลาดของผลการตัดสินใจนั้นก็ย่อมมีมากขึ้นเช่นกัน
เพราะฉะนั้นแล้วสำหรับคน GEN Z การวางแผนการเงินที่คนรุ่นนี้ให้ความสนใจและเริ่มตัดสินใจให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเงิน คือ การลงทุนใน Digital Asset อย่าง สกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency การทำธุรกรรมการเงิน การซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ทั้งหมดผ่านทางออนไลน์ ถือเป็นสิ่งที่คน GEN นี้ถนัด เพราะฉะนั้นความเข้าใจที่จะลงทุน หรือ ออมเงินใน Cryptocurrency จึงเป็นสิ่งที่คนวัยนี้หันมาสนใจตามกระแสในช่วงปีที่ผ่านมาเท่าที่เคย research มา
Growth value ของตลาดนี้มีอัตราเพิ่มขึ้น 10-13% ในระยะเวลา 1 – 2 ปีที่ผ่าน เกือบ 20% ของGrowth value เป็นคนกลุ่ม GEN Z ข้างต้นทั้งสิ้น แม้ว่าจะเป็นช่วงวิกฤต Covid ก็ตาม แต่การเติบโตของตลาดที่นำพากระแสเงินสดเข้ามาในตลาด รวมถึงเป็นแรงผลักดันในการทำธุรกรรมการเงิน ผ่านทางออนไลน์ ก็หลีกไม่ได้ที่จะบอกว่า ส่วนหนึ่งเป็นคนกลุ่ม GEN Z นี้ ที่มีความสนใจในตลาดและช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยีในวงการตลาด อย่าง Cryptocurrency ด้วยเช่นกัน
อย่างที่ผมบอก ถ้าหากจะมองหาความมั่นคงในแผนการเงินด้วยการออม หรือลงทุนในลักษณะนี้ ความเข้าใจในตลาดเป็นสิ่งที่สำคัญ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงที่พอดี
การตัดสินใจเร็วเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ต้องมีหลักการ และ ข้อมูลที่แน่นอน และแม่นยำ การวางแผนการเงินถึงจะผิดพลาดน้อยที่สุด ปัจจุบันเราก็เริ่มเห็น ว่ามีนวัตกรรมต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยในเรื่องของความเสี่ยงในการลงทุนตอบโจทย์นักลงทุน Cypto รายย่อยเพิ่มมากขึ้นอย่างเช่น ประกันสินทรัพย์ “Crypto Shield” ที่เป็นนวัตกรรมการเงินที่ช่วยประกันสินทรัพย์และความเสี่ยง ด้วยการเสนอค่าตอบแทนบางส่วน หากว่าการลงทุนของเราที่ผ่านช่องทางดิจิทัลเกิดความสูญเสียขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจจะต้องเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนำมาศึกษา หากชอบวางแผนการเงินหรือการออมเงินด้วยการลงทุนในตลาด Cryptocurrency จริงๆ ถึงจะทำให้เริ่มต้นได้อย่างมั่นคง”
ผ่านไปแค่ GEN แรกก็น่าสนใจมากเลยค่ะ เรียกได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เท่าที่ฟังไม่เพียงเฉพาะแค่คน GEN Z เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนใน Generation อื่นๆที่มีความสนใจ หรือพึ่งเริ่มลงทุนผ่านช่องทางดิจิทัล ก็จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ทีนี้แล้วมุมมองใน Generation อื่นๆมีรูปแบบการวางแผนการเงิน หรือ นวัตกรรมการเงินที่ต้องศึกษาอย่างไรบ้างคะ
“โอเครครับ ต่อมาพูดถึงเรื่อง GEN Y กันดีกว่า (อายุ 25-40 ปี) ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งช่วงวัยที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมาก ทั้งสำคัญในแง่ของการวางแผนการเงินเพราะมีกำลังในการทำงาน และบทบาทในการขับเคลื่อนให้นวัตกรรมใหม่ๆ เร่งสปีดมาให้เร็วยิ่งขึ้น
ขอยกตัวอย่าง Usecase ที่เป็นกลุ่มคนในวัยทำงานละกันนะครับ ทั้งเริ่มต้นก็ดี (Middle Income) หรืออาจจะทำงานมาสักระยะหนึ่งพอมีรายได้ที่มากขึ้น (Upper income) เรียกว่าผ่านการใช้ชีวิตมาสักพัก มีรายได้เป็นของตัวเองที่เริ่มจะมั่นคงและกำลังจะมั่นคง
ผมมองว่า Generation นี้มีความน่าสนใจนะโดยส่วนตัว เพราะว่าอย่างแรกเลย มี Source ของรายได้ที่ชัดเจน พร้อมกับเริ่มสามารถแบกรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เรียกได้ว่ากล้าได้กล้าเสียมากขึ้นและมักจะเริ่มมองว่า ถ้าคิดจะลงทุนต้องทำให้สินทรัพย์งอกเงย ซึ่งการหาข้อมูลทุกอย่าง 90% ผ่านโลกของออนไลน์ทั้งนั้น เพราะมันเป็นช่องทางที่มีความรวดเร็ว สะดวกสบาย และมีหลากหลายแหล่งข้อมูล
การวางแผนการเงินที่คนรุ่นนี้ให้ความสนใจและเริ่มตัดสินใจให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเงินจริงๆ ก็ยังเป็นในกลุ่ม การลงทุนใน Digital Asset อย่าง สกุลเงินดิจิทัล การลงทุนในหุ้น และกองทุน เป็นต้น ซึ่งใน Generation ก่อนหน้า ได้พูดถึง การลงทุนใน Cryptocurrency ไปแล้ว ทีนี้ขอพุดถึงการลงทุนในหุ้นกับการกองทุนกันบ้าง
ต้องบอกว่า ถ้าเทียบการลงทุนใน Cryptocurrency และ การลงทุนในหุ้น แน่นอนในเรื่องความเสี่ยง Cryptocurrency น่าจะมีความเสี่ยงที่มากกว่า แต่ตอนต้นผมได้บอกไปว่า ใน Generation นี้ เรากล้าได้กล้าเสียมากขึ้น
“เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่น่าจะสนใจใน Cryptocurrency มากกว่ารึเปล่า คำตอบ ไม่ครับ”
เพราะคนในช่วงวัยนี้ เรากล้าได้กล้าเสียที่มากขึ้น บนเงื่อนไขที่ว่าเราต้องมีข้อมูลในการตัดสินใจที่มากพอ เพราะฉะนั้น สิ่งที่คน GEN นี้ให้ความสนใจอย่างมากจะเป็นเรื่องของข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจ กระบวนการที่แม่นยำ และ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ Productivity และ Customer Experience ที่ไว้ใจได้
ซึ่งปัจจุบันในกลุ่มธุรกิจการเงิน ประกันภัย และอื่นๆ เราก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพื่อชิงตลาดใน Segment ของ Generation Y ดังนั้นในมุมด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับพวก Data , Process และ Experience จึงเข้ามามีบทบาทกับคนกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น คนที่พึ่งเริ่มต้นจะลงทุนมองหา Mentor Automation
ซึ่งในปัจจุบันก็มีแอพพลิเคชั่นมากมายที่ทำขึ้นมาเพื่อช่วยทำให้การเล่นหุ้น และการลงทุนในกองทุนง่ายขึ้น เข้าใจได้ทันที ช่วยตัดสินใจได้ ไม่ซับซ้อน เป็นต้น
“ส่วน GEN X (อายุ 41-55 ปี) บ้างยังอยู่ในวัยทำงาน บ้างเป็นวัยเกษียณแล้วสำหรับสมัยนี้ ซึ่งกลุ่มคนช่วงนี้จะมีการเงินที่ค่อนข้างมั่นคง มีพร้อมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน้าที่การงาน การเงิน และ ครอบครัว ทำให้คนกลุ่มนี้ค่อนข้างจะให้ความสำคัญในเรื่องของความเป็นส่วนตัว (Privacy) โดยเฉพาะเรื่องการเงินที่ค่อนข้างอยากได้การบริการที่เป็นส่วนตัว (Privacy Service) เฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลไป เพราะจะทำให้รู้สึกว่าตัวเองปลอดภัย มั่นคงนั่นเอง
ถึงแม้คน GEN นี้จะมีความมั่นคงเรื่องการเงิน แต่ในบางครั้งอาจจะตามไม่ทันเรื่องของเทคโนโลยี หรือไม่ได้อยู่ในโลกของโซเชียลมากหนัก เพราะด้วยช่วงวัย ช่วงอายุ ด้วยที่คนกลุ่มนี้ไม่ได้โตมาในยุคของโซเชียล สิ่งหนึ่งที่ควรระวัง คือเรื่องของความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต ผมเลยมองว่านวัตกรรมเรื่องการประกันภัยทางโลกไซเบอร์ มีความสำคัญ และควรเข้ามามีบทบาทกับคน GEN นี้ค่อนข้างมาก
ซึ่งตรงนี้เองไปสอดคล้องกับเทรนด์ปีนี้พอดี ในปีนี้ภาพรวมด้านเทคโนโลยีบ้านเรา จะมีการเพิ่มความปลอดภัยที่มีประสิทธิมากขึ้น ด้วยขอบเขตของ LMV ที่จะมีการทดสอบความปลอดภัย การประกันความเสี่ยงในปีนี้เรื่องของธุรกรรมในโลกออนไลน์ ผมว่าอันนี้ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ และยังตอบโจทย์คนวัยอื่นๆ อีกด้วย”
ผ่านไปแล้วด้วยกัน 3 GEN บอกเลยว่าแต่ละกลุ่มล้วนมีความน่าสนใจ ในมุมมองที่แตกต่างกันออกไปมากๆ เลยค่ะ แล้วใน Generation สุดท้ายอย่าง Baby Boomer ละคะ เหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่คะ ในแง่ความสนใจ ?
“ผมขอปิดท้ายกันด้วยกลุ่ม Baby Boomer (อายุ 55 ปีขึ้นไป) เรียกได้ว่าผู้ทรงอิทธิพลภายในบ้านละกันนะครับ อันนี้ที่บ้านผมเรียกกันนะ (ขำ) อาจจะเป็นกลุ่มที่เป็นพ่อแม่ของใครหลายๆคน หรือเป็นคุณตาคุณยายแล้วก็ได้ ผมมองว่าคนกลุ่มนี้ค่อนข้างจะมีความรอบคอบในการใช้ชีวิต มีการวางแผนการเงินที่ค่อนข้างรัดกุม เริ่มคิดถึงลูกหลาน มากกว่าตัวเอง
Generation นี้ จริงๆ แล้วถ้ามองเรื่องแผนการเงินและการลงทุนก็ต้องบอกว่า ถ้าจะมาเริ่มใน Generation นี้ก็อาจจะช้าไป เพราะคงเป็นวัยที่เราอยากจะเห็นดอกเห็นผลแล้ว เพราะฉะนั้นขอพูดในมุมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องละกันครับ ว่า Generation นี้ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร หลักๆ คงเป็นเรื่องของสุขภาพซึ่งส่วนมากลูกหลานจะเป็นคนหาข้อมูลมาให้และนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ในการดูแล เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับคนกลุ่มนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องของสุขภาพให้ตอบโจทย์ได้ตรงใจมากที่สุด
ดังนั้นเรื่องของการแพทย์ สุขภาพจึงจำเป็นอย่างมากในกลุ่มคนนี้ ถ้าอยากสุขภาพดีก็ต้องดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย แต่ถ้าหากเกิดมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งเราคงไม่อยากให้เกิดใช่มั้ยครับ ให้ลองมองย้อนกับไปที่ช่วงต้นว่าทำไมผมถึงให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้ ส่วนในมุมมองเรื่องนวัตกรรมเพื่อสุขภาพปัจจุบัน Healthtech Trend ก็เริ่มมีเข้ามามากขึ้นครับ ทั้งต่างประเทศที่มาบุกตลาดบ้านเรา รวมถึง บ้านเราเองก็เริ่มมีเอามาใช้จริงค่อนข้างเยอะ
ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนา Device อย่าง เครื่องช่วยฟังที่มีขนาดกระทัดรัดมากขึ้น เพิ่มเทคโนโลยีอื่นๆให้สะดวกสบายมากขึ้น อย่างเช่น Navigator Map ที่บอกเส้นทางต่างๆ เส้นทางที่อนุญาตให้รถเข็นสามารถผ่านได้ หรือจุดที่ผ่านไม่ได้ หรือ Weather heat ที่ใช้ AI เข้ามาเพื่อช่วยรายงานสภาพอากาศในแต่ละวัน และแนะนำว่าเหมาะสมกับกิจวัตรประจำวันของเราหรือไม่ได้อีกด้วย
นอกจากเรื่องของเครื่องช่วยฟังแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่ผมมองว่า ก็เริ่มมีนำมาใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยในบาง Usecase คือ กระปุกยานั่นเอง ที่เกิดจากคนใน Generation นี้ ส่วนมากมักจะเจอกับปัญหา การลืมกินยา หรือลืมว่า ยาตัวนี้ต้องกินมื้อไหนกันนะ ดังนั้นสิ่งที่จะมาตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ จึงเกิดนวัตกรรมของกระปุกยา ที่จะเปลี่ยนจากกระปุกยาธรรมดา เป็นกระปุกยาที่มีการแจ้งเตือนด้วยระบบคลาวด์ ทำให้ผู้สูงอายุกินยาได้ตรงเวลา นอกจากนี้ลูกหลาน หรือบุคลากรทางการแพทย์ยังสามารถควบคุม ติดตามการกินยาจากระยะไกลได้
หรืออย่างการปรึกษาแพทย์ทางไกล ผ่าน VDO Call หรือการปรึกษาแพทย์ผ่านแอพพลิเคชั่นก็เป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมที่เข้ามามีบทบาทในกลุ่มคนวัยนี้ ซึ่งมีกันมา 1 – 2 ปีแล้วเป็นอย่างมาก เพื่อตอบโจทย์คนวัยนี้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปพบแพทย์ด้วยตัวเอง ถือว่าแต่ละอย่างที่ทำออกมา ล้วนแก้ไขปัญหาของคนกลุ่มนี้ได้อย่างถูกจุดเลยทีเดียวครับ”
“ไม่ว่าคนวัยไหน อายุเท่าไร สำหรับผมมองว่านวัตกรรมเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนทางการเงินไม่ทางตรง หรือ ทางอ้อมได้เข้ามามีบทบาทด้วยกันทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เพราะเรื่องของเงิน กับเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเราครับ”
เรียกได้ว่าได้ข้อมูล สาระจากคุณกรณ์อย่างครบถ้วนแทบจะทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางแผนการเงิน พฤติกรรมการใช้เงินของคนแต่ละช่วงวัย และที่สำคัญเรื่องของนวัตกรรมที่นับวันเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเรามากขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นข้อมูลดีๆ ที่จะช่วยให้เรารู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกของเรา