ความรู้สึกเศร้าเสียใจ กังวล และวิตกกังวล ล้วนเป็นความรู้สึกที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาหากมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างมากระทบกระเทือนจิตใจ แต่ถ้าหากเมื่อเวลาผ่านไปความรู้สึกเหล่านี้ก็ไม่ได้ลดน้อยลงและมีแต่ทวีคูณขึ้น รวมไปถึงส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจพิจารณาสงสัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าได้ ควรรีบมาพบจิตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการและทำการรักษาต่อไป เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ดังเดิม
ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคซึมเศร้า มีอะไรบ้าง?
ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้ามีหลายประการ หากเป็นผู้ที่มีปัจจัยเหล่านี้ก็อาจเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายมากกว่าปกติ โดยปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคได้มีดังต่อไปนี้
- มีการผ่านเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง เช่น การถูกทารุณกรรมทางเพศ การถูกทำร้ายร่างกาย การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
- มีลักษณะนิสัยดั้งเดิมบางประการ เช่น นิสัยที่ชอบโทษตนเอง มักมองโลกในแง่ร้ายอยู่เสมอ
- มีประวัติว่าตนเองหรือคนในครอบครัวเคยป่วยโรคทางจิตเวชมาก่อน
- มีภาวะติดสุราหรือสารเสพติด
- มีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ
- มีการใช้ยาบางประการ เช่น ยานอนหลับ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ในการใช้ยาอยู่เสมอ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) เกิดจากการที่สารสื่อประสาทในสมองมีการทำงานผิดไปจากภาวะปกติ จนส่งผลให้ผู้ป่วยมีความคิดและพฤติกรรมที่ต่างออกไปจากเดิม และโรคซึมเศร้ายังอาจเกิดได้จากระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร การป่วยเป็นภาวะไทรอยด์ เป็นต้น นอกจากนี้ หากมีสมาชิกในครอบครัวที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน ก็มีโอกาสสูงที่โรคนี้จะส่งต่อทางพันธุกรรมได้
การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
การตรวจวินิจฉัยโรคซึมเศร้าจะเริ่มต้นจากการซักประวัติและพูดคุยเกี่ยวกับอาการของคนไข้โดยจิตแพทย์ รวมไปถึงการซักถามเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ระยะเวลาที่มีอาการ ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน ความรุนแรงของอารมณ์ และอาจมีแบบทดสอบโรคซึมเศร้าให้ผู้ป่วยทำร่วมด้วย เพื่อให้วินิจฉัยได้แม่นยำมากขึ้น จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยยาร่วมกับการทำจิตบำบัดต่อไป
เป็นโรคซึมเศร้าควรรับมืออย่างไร?
เมื่อป่วยเป็นโรคซึมเศร้าผู้ป่วยควรที่จะหากิจกรรมอื่น ๆ ทำร่วมด้วย เพื่อไม่ให้จมอยู่กับความคิดของตนเองจนเกินไป และเพื่อให้อาการของโรคดีขึ้น ซึ่งอาการโรคซึมเศร้าสามารถรับมือได้ด้วยการปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
- ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ผู้ป่วยชื่นชอบเพื่อลดความเครียด
- ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้
- หลีกเลี่ยงการเก็บความรู้สึกไว้กับตนเองคนเดียว และพยายามพูดคุยกับบุคคลที่ผู้ป่วยไว้วางใจให้มากขึ้น
วิธีป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้า
ในปัจจุบันโรคซึมเศร้ายังไม่มีวิธีที่จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน แต่เบื้องต้นสามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดสารอาหารบางประการที่เพิ่มโอกาสในการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หมั่นทำสมาธิและฝึกคิดบวกอยู่เสมอ เพื่อผ่อนคลายจิตใจจากความเครียดและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับจิตใจ
โรคซึมเศร้าสามารถรักษาหายไหม?
โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ ในกรณีที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดที่ไม่รุนแรงจะสามารถหายได้เองหากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม แต่ถ้าหากมีอาการป่วยระดับรุนแรง จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ด้วยการกินยา ร่วมกับการทำจิตบำบัดอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ควรกินยาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนหรือตามแพทย์พิจารณา เพื่อรักษาโรคให้อาการดีขึ้น และไม่ควรหยุดยาเองโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้อาการป่วยแย่ลงอย่างรวดเร็ว
สรุปเรื่องโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) เกิดจากการที่สารสื่อประสาทในสมองมีการทำงานผิดไปจากภาวะปกติ จนส่งผลให้ผู้ป่วยมีความคิดและพฤติกรรมที่ต่างออกไปจากเดิม โดยการรักษาโรคซึมเศร้าสามารถทำได้ด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามที่จิตแพทย์สั่ง และเข้ารับการทำจิตบำบัดอย่างสม่ำเสมอที่แอป BeDee สามารถประเมินอาการหาหมอรับยาได้จากที่บ้าน ดาวน์โหลด BeDee คลิก https://bit.ly/4btcZSY