ปวดหัวเรื้อรัง เวียนศีรษะบ่อย มองเห็นภาพซ้อน อาการเหล่านี้อาจไม่ใช่แค่ความเครียดสะสมธรรมดา แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “เนื้องอกในสมอง” โรคที่หลายคนไม่ทันรู้ตัวจนกระทั่งมีอาการรุนแรงมากขึ้น
ในบทความนี้จึงจะพาทุกคนมารู้จักกับเนื้องอกในสมอง ทั้งสาเหตุและอาการของเนื้องอกในสมอง พร้อมแนะนำแนวทางการรักษาที่มีในปัจจุบัน เพื่อให้คุณได้รู้เท่าทันก่อนจะสายเกินไป
สารบัญบทความ
ภาวะแทรกซ้อนจากเนื้องอกในสมองมีอะไรบ้าง?
วิธีการรักษาเนื้องอกในสมองมีอะไรบ้าง?
เนื้องอกในสมอง รู้ทันรักษาหายได้
เนื้องอกในสมองเกิดจากอะไร?
เนื้องอกในสมอง หรือ Brain Tumor คือ การเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติในสมองหรือเนื้อเยื่อใกล้เคียง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งชนิดที่ไม่ร้ายแรง (เนื้องอกธรรมดา) และชนิดที่เป็นมะเร็ง หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือกดทับสมองบางส่วน อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองและก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมาได้
ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัดว่าเนื้องอกในสมองเกิดจากอะไร แต่ในทางการแพทย์พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกในสมอง ได้ดังนี้
- อายุ : เนื้องอกในสมองสามารถเกิดได้ทุกช่วงวัย แต่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- พันธุกรรมหรือความผิดปกติทางยีน : เช่น โรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis) หรือมีสาเหตุมาจากกลุ่มโรคทางพันธุกรรม Li-Fraumeni Syndrome
- คนในครอบครัวเคยเป็นเนื้องอกในสมอง : ถึงแม้จะพบได้น้อย แต่ถ้าหากมีญาติหรือคนในครอบครัวเคยมีภาวะนี้ ความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกในสมองก็อาจเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย
- ได้รับรังสีในปริมาณสูง : โดยเฉพาะการฉายรังสีที่ศีรษะในวัยเด็ก อาจเพิ่มความเสี่ยงในระยะยาว และเสี่ยงเป็นเนื้องอกในสมองในอนาคตได้
- สัมผัสสารเคมี : การสัมผัสสารเคมีบางชนิดในระยะยาว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม เช่น สารกำจัดศัตรูพืชหรือสารละลายอินทรีย์
- ความผิดปกติของการแบ่งตัวของเซลล์ในสมอง : เมื่อเซลล์สมองเติบโตหรือแบ่งตัวผิดปกติ เซลล์เหล่านี้จะสะสมกันจนกลายเป็นก้อนเนื้อในสมองได้
เนื้องอกในสมองมีกี่ประเภท?

เนื้องอกในสมองโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ตามความรุนแรงของโรค ได้แก่ ชนิดไม่ร้ายแรงและชนิดร้ายแรง ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะต่างกันดังนี้
เนื้องอกในสมองชนิดไม่ร้ายแรง
เนื้องอกในสมองชนิดไม่ร้ายแรง หรือที่เรียกว่า Benign Tumor คือก้อนเนื้อที่มีการเติบโตช้า ไม่แพร่กระจายไปยังเนื้อสมองส่วนอื่น และมักมีขอบเขตชัดเจน ทำให้สามารถผ่าตัดออกได้ในบางกรณี
โดยทั่วไปถึงแม้ก้อนเนื้อในสมองชนิดไม่ร้ายแรงจะไม่ใช่มะเร็ง แต่ก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ หากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่หรืออยู่ใกล้บริเวณสำคัญของสมอง เช่น เส้นประสาทหรือหลอดเลือด อาจทำให้เกิดอาการกดทับ จนส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท
เนื้องอกในสมองชนิดร้ายแรง
เนื้องอกในสมองชนิดร้ายแรง หรือ Malignant Tumor เป็นเนื้องอกที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มลุกลามเข้าสู่เนื้อสมองส่วนข้างเคียงได้ง่าย ส่งผลต่อการทำงานของสมองในหลาย ๆ ด้าน อีกทั้งยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง ถึงแม้จะได้รับการรักษาไปแล้วก็ตาม
โดยเนื้องอกในกลุ่มนี้ที่พบบ่อย ได้แก่ เนื้องอกในสมองชนิดกลิโอบลาสโตมา (Glioblastoma Multiforme) ซึ่งจัดว่าเป็นชนิดที่รุนแรงมากที่สุด และเนื้องอกที่แพร่กระจายมาจากมะเร็งในอวัยวะอื่น เช่น ปอดหรือเต้านม (Metastatic Brain Tumor)
การดูแลรักษาก้อนเนื้อในสมองชนิดร้ายแรงมักต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น การผ่าตัด, การฉายแสง หรือการให้เคมีบำบัด เป็นต้น
เนื้องอกในสมองมีอาการอย่างไร?
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า เนื้องอกในสมองมีอาการอย่างไร? โดยทั่วไปแล้วเนื้องอกในสมองสามารถแสดงอาการได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาด และความรุนแรงของก้อนเนื้อในสมองที่เกิดขึ้น บางรายอาจเริ่มจากอาการเล็กน้อยที่หลายคนมักมองข้ามทำให้การวินิจฉัยล่าช้า ผู้ที่มีอาการต่อไปนี้จึงควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป
- ปวดศีรษะเรื้อรัง โดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอน และไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดทั่วไป
- คลื่นไส้ อาเจียน โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลง เช่น เห็นภาพซ้อนหรือสูญเสียการมองเห็นบางส่วน
- แขนขาอ่อนแรง ชา หรือมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย
- มีอาการชัก ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- ความจำลดลง หรือมีปัญหาในการพูด การเข้าใจภาษา
- บุคลิกภาพหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- รู้สึกสับสน หลงลืม หรือมีอาการเหมือนเหม่อลอยบ่อยครั้ง
- มีปัญหาการทรงตัว สมดุลร่างกายไม่ดี หรือเดินแล้วเซ
ภาวะแทรกซ้อนจากเนื้องอกในสมองมีอะไรบ้าง?
เนื้องอกในสมองไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ทั้งจากตัวเนื้องอกเองหรือจากผลข้างเคียงของการรักษา โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบจากเนื้องอกในสมอง มีดังนี้
- สูญเสียการทำงานของระบบประสาท : เช่น แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด หรือการมองเห็นผิดปกติ
- ความจำหรือการรับรู้บกพร่อง : อาจมีปัญหาเรื่องสมาธิ การคิดวิเคราะห์ หรือการจดจำเรื่องราวต่าง ๆ
- อาการชัก : เกิดจากการที่เนื้องอกไปรบกวนคลื่นไฟฟ้าในสมองบางส่วน
- ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง (Hydrocephalus) : เกิดจากการที่เนื้องอกในสมองไปกดทับการไหลเวียนของน้ำหล่อสมอง ทำให้เกิดแรงดันภายในสมองสูง
- ปัญหาทางอารมณ์หรือจิตใจ : เช่น มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษา : เช่น ติดเชื้อจากการผ่าตัด, คลื่นไส้, อ่อนเพลีย หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากการให้เคมีบำบัด
วิธีการรักษาเนื้องอกในสมองมีอะไรบ้าง?

เนื้องอกในสมองรักษายังไงและมีวิธีอะไรบ้าง? โดยทั่วไปแล้วการรักษาเนื้องอกในสมองสามารถรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอก ขนาด ตำแหน่ง รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละราย อาจใช้เพียงวิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกัน ซึ่งแนวทางการรักษาเนื้องอกในสมองที่ใช้ในปัจจุบัน มีดังนี้
- การผ่าตัด : เป็นวิธีหลักในการรักษาเนื้องอกในสมอง โดยเฉพาะกรณีที่เนื้องอกสามารถเข้าถึงได้และอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย โดยจะเป็นการผ่าตัดนำเอาก้อนเนื้องอกออกทั้งหมดหรือบางส่วน ช่วยลดความดันในสมองจากขนาดเนื้องอกที่โต และลดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ ชัก หรืออ่อนแรง
- การฉายแสง : เป็นวิธีที่จะใช้คลื่นรังสีพลังงานสูงในการทำลายเซลล์เนื้องอก เหมาะกับผู้ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือใช้ร่วมกับการผ่าตัดเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
- การใช้เคมีบำบัด : เป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำหรือแบบรับประทาน เพื่อฆ่าหรือยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์เนื้องอก เหมาะกับเนื้องอกชนิดร้ายแรง เช่น กลิโอมัส (Glioblastoma) มักใช้ร่วมกันกับการผ่าตัดหรือการฉายแสงเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
เนื้องอกในสมอง รู้ทันรักษาหายได้
เนื้องอกในสมองอาจไม่ใช่โรคที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดในช่วงแรก แต่ถ้าหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การฉายแสง หรือการใช้เคมีบำบัด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน และเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรงพยาบาลพระรามเก้าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการรักษาเนื้องอกหรือก้อนเนื้อในสมอง เพราะที่นี่มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาทที่พร้อมให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การวินิจฉัยด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ไปจนถึงการวางแผนรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเป้าหมายสำคัญคือช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ตรงจุด และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Facebook : Praram 9 hospital
Line : @Praram9Hospital
โทร. 1270