ทาดาชิ ยานาอิ ผู้สร้างตำนาน “ ยูนิโคล่ ” เสื้อผ้าสำหรับทุกคน
ยูนิโคล่ (Uniqlo) เป็นบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ส่วนทาดาชิ
ยานาอิ (Tadashi Yanai) ผู้ก่อตั้งบริษัทนั้น เป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นประจำปี ค.ศ.2012 และ 2013 ตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์
มหาเศรษฐีผู้นี้เกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1949 บิดาของเขาเป็นเจ้าของบริษัทโอโงริ โชจิ (Ogori Shoji) ซึ่งเปิดร้านขายเสื้อผ้าสำหรับผู้ชายในเมืองอุเบะ เมื่อเล็กๆ ที่เงียบสงบในจังหวัดยะมะงุชิ ครอบครัวยานาอิใช้ชีวิตอยู่บนชั้นสองของร้าน ทาดาชิจึงได้เห็นบรรยากาศการทำธุรกิจในร้านขายเสื้อผ้ามาตั้งแต่เกิด ทว่าตั้งแต่เด็กจนโตเขาไม่เคยชอบธุรกิจนี้เลยและคิดว่าตัวเองไม่น่าจะเอาดีทางค้าๆ ขายๆ ได้
หลังเรียนจบด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวะเซะดะ ในปีค.ศ.1981 ทาดาชิถูกพ่อเรียกตัวกลับบ้านเพื่อให้มารับผิดชอบธุรกิจของครอบครัว ซึ่งหลักจากทำไปสักพักเขาก็รู้ว่างานนี้เป็นงานที่เขาทำได้ดีและสนุกด้วย
ต่อมาในปี ค.ศ.1984 เขาก็เปิดร้านยูนิโคล่สาขาแรกขึ้นบนถนนฟุกุโระ ย่านนากากุ เมืองฮิโระชิมะ คราวนี้ขายทั้งเสื้อผ้าผู้หญิงและผู้ชาย โดยในตอนแรกใช้ชื่อว่า Unique Clothing Warehouse ต่อมาลดคำลงเหลือแค่ “ยูนิโคล่” (Unique + Clothing) คำเดียว
คนญี่ปุ่นจะอ่านชื่อแบรนด์นี้ว่า “ยูนิคุโละ” มีจุดเด่นตรงเสื้อผ้าที่มีแบบเรียบง่าย แต่เก๋และราคาไม่แพง มีสาขาในญี่ปุ่นกว่า 500 สาขาและอีกหลายร้อยสาขาในต่างประเทศ
งานที่ทาดาชิ ยานาอิ ทำอย่างมีความสุขและทำให้เขาประสบความสำเร็จ ณ วันนี้เป็นงานเดียวกับที่เขาเคยคิดว่าไม่น่าจะทำได้ เขามีเคล็ดลับที่อยากฝากให้คนรุ่นใหม่เป็นพิเศษ คือ
1.ในวัยที่ชีวิตเพิ่งเริ่มต้น อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจว่าตัวเองเหมาะหรือไม่เหมาะกับงานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ควรลองทำดูก่อน จนกว่าจะแน่ใจว่ามันไม่เหมาะกับตัวเองจริงๆ
2.จงมีความเชื่อมั่น อย่ายอมให้ใครมาบอกคุณว่า “ทำไม่ได้” แม้คัมภีร์การตลาดฉบับมาตรฐานสอนไว้ว่า เวลาจะขายอะไรสักอย่าง เราต้องกำหนดลักษณะกลุ่มเป้าหมาย เช่น อายุ เพศ รายได้ ไลฟ์สไตล์ ฯลฯ อย่างชัดเจน จะได้ผลิตสินค้าและทำการตลาดได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
อีกเหตุผลหนึ่งคือการคิดผลิตภัณฑ์เพื่อคนทุกคนเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะเป็นไปได้…แต่ทาดาชิกลับคิดตรงกันข้าม เพราะแต่ไหนแต่ไรมาเขาตั้งใจจะผลิตเสื้อผ้าที่คนทุกเพศทุกวัยสมใส่ได้โดยไม่ขึ้นกับยุคสมัย และเขาย้ำเสมอว่าอย่าออกแบบเสื้อผ้าให้โดดเด่นจนกลบตัวคนใส่ จะว่าไปแล้วแนวคิดนี้ก็เหมือนกับแนวคิดของสตีฟ จอบส์ ที่ออกแบบแอปเปิลให้มีดีไซน์เรียบง่าย แต่ถูกใจคน (เกือบ) ทั้งโลก และจะเห็นว่ากฎทุกกฎมีข้อยกเว้นทั้งนั้น จงอย่าให้กฎเกณฑ์ใดๆ กลายมาเป็นข้อจำกัดของคน
3.คำนึงถึงคุณภาพ แม้จะขายแต่เสื้อผ้าแบบพื้นฐานทว่าซีอีโอผู้นี้ให้ความสำคัญกับคุณภาพอย่างที่สุด เขาจึงทุ่มเททรัพยากรให้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาก เช่น ผ้าฟลีซ (fleece) ซึ่งแต่เดิมเป็นผ้าที่ใช้ในวงการกีฬาเท่านั้น เขาก็ให้ทีมพัฒนาจนมันมีเนื้อเบาลง มีหลายสีหลายแบบและเป็นสินค้าที่ใช้ทำตลาดในช่วงปีแรกๆ หรือฮีตเทค (heattech) ผ้าเนื้อบางราวกับผิวหนังชั้นที่สองแต่ให้ความอบอุ่นก็เป็นสินค้ายอดฮิตในปัจจุบัน
4.เรียนรู้จากความผิดพลาด ทาดาชิรู้ดีว่าญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อจำกัด ส่วนตลาดนอกญี่ปุ่นนั้นมีขนาดใหญ่มาก เขาจึงพยายายามไปเปิดตลาดในต่างประเทศ ปี ค.ศ.2001 เขาได้ไปเปิดสาขาที่อังกฤษถึง 20 สาขา แต่ทว่าทั้งหมดต้องปิดตัวลงในเวลาแค่สามปี เช่นเดียวกับตอนไปบุกตลาดที่จีนและอเมริกาในปี ค.ศ.2005 ทุกสาขาต้องปิดตัวลลงภายในเวลาไม่ถึงปี ซึ่งทำให้บริษัทเกือบจะล้มละลาย แต่ในที่สุดเขาก็คิดกลยุทธ์ใหม่ คราวนี้แทนที่จะเปิดร้านเล็กๆ หลายๆ แห่ง เขาเลือกเปิดร้านที่มีขนาดใหญ่ที่เรียกว่าแฟล็กชิปสโตร์ เพื่อให้ร้านนี้ทำหน้าที่สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าในท้องถิ่นนั้นๆ
ร้านใหม่ที่นิวยอร์กสร้างขึ้นในปี ค.ศ.2006 มีขนาด 36,000 ตารางฟุต ตามมาด้วยสาขาที่ 2 และ 3 ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ ซึ่แม้จะใหญ่โตราวกับสนามฟุตบอล แต่ทุกวันนี้ก็มีคนเดินเต็มร้าน จนเรียกได้ว่าไหล่ชนไหล่กันเลยทีเดียว
5.ใส่ใจโลกและสังคม เขาให้นโยบายไว้ว่าบริษัทต้องให้ความสำคัญกับการกุศลและท้องถิ่นยิ่งกว่าการทำเป้าการขาย เพราะทาดาชิตั้งใจจะสร้างบริษัทของเขาให้เป็นแบรนด์ระดับโลก ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าบริษัทไม่ใส่ใจโลกและสังคมก่อน
หากยังสงสัยว่ามหาเศรษฐีผู้นี้ไฟแรงขนาดไหน ก็ตอบได้ว่าแม้บริษัทของเขาจะก้าวมาได้ไกลขนาดนี้ แต่ทาดาชิ ยานาอิ ก็ยังยืนยันว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ผู้อ่านสามารถติดตามถอดรหัสชีวิตและความคิด 50 คนดังระดับโลกคนอื่นๆ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คุณได้ใน หนังสือคิดแบบคนธรรมดาไปทำไม คิดแบบคนที่สำเร็จง่ายกว่า สำนักพิมพ์อมรินทร์
ขอบคุณภาพจาก
บทความที่น่าสนใจ