อย่าคิดมากกับเสียงวิจารณ์ของคนอื่น จนตัวเองต้อง
ทุกข์ใจ
บางครั้งเราอาจใส่ใจกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นที่มีต่อตัวเองมากจนเกินไป จนทำให้ตัวเองต้องเป็นทุกข์เพราะความคิดเห็นเหล่านั้น โทนี่ โนะนากะ นักเขียน และ Coaching ชาวญี่ปุ่นกล่าวว่า ในโลกนี้มีคนอยู่สองประเภท คือคนที่มองว่า “ตัวเราทำอะไร” เป็นมาตรฐานในการดำรงชีวิต กับคนที่มองว่า “คนอื่นทำอะไร” แล้วทำให้เข้ากันกับเขา
คนประเภทแรกจะพยายามด้วยกำลังของตัวเองเพื่อก้าวไปให้ถึงความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ในขณะที่คนประเภทหลังคิดถึงแค่การฉุดรั้งผู้อื่นลงมาเพื่อให้ตัวเองได้ก้าวขึ้นไปสู่จุดนั้นแทน
แน่นอนว่าคนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นก็คือคนประเภทแรก และหากลองตั้งคำถามกับพวกเขาว่า “คุณเป็นคนประเภทใดในสองข้อนี้” คำตอบที่จะได้กลับมาคือ
“ใครจะทำอะไรก็ช่างเขาสิ”
ผลการสำรวจสัดส่วนผู้ชมรายการประเภท “เรียลิตี้” (Reality) ที่คอยติดตามดูชีวิตของผู้อื่นทางเว็บไซต์ของสหรัฐอเมริกา พบว่า 78 เปอร์เซ็นของผู้ชมเป็นคนระดับยากจน ส่วนจำนวนผู้ชมระดับเศรษฐีมีเพียงแค่ 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ตัวเลขบ่งชี้ชัดว่า ยิ่งมีฐานะดีขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่เก็บเรื่องชีวิตของคนอื่นมาใส่ใจ
เพราะการใส่ใจเรื่องของคนอื่นมากจนเกินไป อาจกลายเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกริษยาในความสำเร็จของอีกฝ่าย จนกลายเป็นการถ่วงความก้าวหน้าของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อรุ่นน้องนำแผนงานใหม่ซึ่งตัวเองนึกไม่ถึงมาเสนอ คุณอาจตั้งป้อมปฏิเสธว่า “ใช้ได้ที่ไหนกัน” หรือถูกความคิดด้านลบครอบงำเมื่อรู้ว่า คนรุ่นเดียวกันประสบความสำเร็จไปถึงไหนต่อไหนแล้ว
การทำอย่างนั้นจะทำให้พลังงานด้านบวกในตัวถดถอย สุดท้ายคุณก็จะเป็นเพียงแค่คนที่ขี้อิจฉาริษยา และดึงดูดให้ได้เจอแต่คนที่ชอบวิจารณ์ผู้อื่นในด้านลบเข้ามารายล้อม ซ้ำร้ายคนดีๆ ยังไม่กล้าเฉียดกรายเข้าใกล้
สิ่งที่ควรทำที่สุดคือ เลิกใส่ใจอะไรที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น คนอื่นจะทำอะไร แล้วหันมาให้ความสนใจสิ่งที่ตัวเองจะทำแทน
ยังมีคนอีกหลายคนที่ต้องการให้ผู้อื่นชื่นชม ทว่าอีกฝ่ายจะชื่นชมหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ของเขา ไม่ใช่เรื่องที่เราสามารถควบคุมได้
เราแค่ทำสิ่งที่ตัวเองควรทำ โดยไม่ต้องสนใจว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อะไรตามมา เพราะไม่มีใครรู้ดีเท่าตัวเราเองแล้วว่า ได้ทำเต็มความสามารถแล้วหรือยัง
สุดท้ายแล้วถ้าหากไม่มีใครชื่นชม เราก็ชมตัวเองเสียเลย ถือว่าสร้างกำลังใจดีๆ ให้ตัวเองกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก นิสัยเศรษฐี คนมีดีไม่ได้มีแค่เงิน สำนักพิมพ์อมรินทร์
บทความที่น่าสนใจ