หอบหืดเฉียบพลัน

หอบหืดเฉียบพลัน เพชฌฆาตหน้าฝน

หอบหืดเฉียบพลัน เพชฌฆาตหน้าฝน

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะวิธีเลือกเครื่องพ่นยาให้ถูกต้อง ลดการเสียชีวิตจากหอบหืดเฉียบพลัน
เพื่อการใช้ชีวิตช่วงหน้าฝนได้อย่างไร้กังวล

ในช่วงหน้าฝนนี้ แม้จะได้ความชุ่มฉ่ำมาช่วยดับร้อน แต่ก็มาพร้อมโรคอันตรายอีกมากมาย โรคหอบหืดก็เป็นอีกหนึ่งภัยร้ายที่มาพร้อมหน้าฝน เพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความชื้นที่ทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหอบหืดเฉียบพลัน โรคหืดเป็นโรคเรื้อรังที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ตั้งแต่ความไม่สบายตัวเล็กๆ น้อยๆ หายใจไม่สะดวก จนถึงอันตรายถึงแก่ชีวิต

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และระบบหายใจ และประธานชมรมผู้ป่วยโรคหืด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  อธิบายว่า “โรคหอบหืดยังไม่มีการรักษาโรคให้หายขาดได้ เป้าหมายของการรักษาผู้ป่วยที่จับหืดบ่อยจึงเป็นการลดความรุนแรงของโรคด้วยการใช้ยาให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ  อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่มากับหอบหืดคือ ภาวะจับหืดเฉียบพลัน (acute asthma attack) ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน โดยปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหืดในประเทศไทยประมาณ 1,000 คนต่อปี มีสาเหตุหลักมาจากการที่ผู้ป่วยซึ่งมีภาวะหอบหืดชนิดเฉียบพลันไม่สามารถดูแลตนเองได้ในขณะที่มีอาการ โดยพ่นยาไม่ถูกต้อง พ่นยาช้า หรือเดินทางไปถึงโรงพยาบาลไม่ทัน[1] ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะจับหืดเฉียบพลัน อาจมาจากการใช้ยาไม่สม่ำเสมอ การใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือหลอดลมของผู้ป่วยมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจากอาการของโรคหืดมากกว่าปีละ 1 ล้านครั้ง”

หลอดลมของผู้ป่วยโรคหืดไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ เมื่อสัมผัสสิ่งกระตุ้น หลอดลมจึงหดตัวตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดอาการหอบ หายใจลำบาก ผู้ป่วยโรคหืดในภาวะปกติจะมีอาการไอในตอนเช้า และตอนกลางคืนมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล โดยทุก 2 ใน 3 รายมักมีโรคภูมิแพ้หูคอจมูกร่วมด้วย  แต่ใน ภาวะจับหืดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการไอเป็นชุดๆ หายใจลําบากชัดเจนแม้ขณะพัก หายใจเสียงดังหวีด แน่นหน้าอก หายใจหน้าอกบุ๋ม ในรายที่รุนแรงมากอาจไมสามารถพูดเปนประโยคปกติได้ พูดไดเปนคําๆ หรือ

[1] http://203.157.118.74/ncd/htm/work/copdmanual.pdf

วลีสั้นๆเท่านั้น มีการใชกลามเนื้อชวยหายใจมากขึ้น ความรูสึกตัวลดลง ซึมลงหรือสับสน หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้เนื่องจากสมองและอวัยวะสำคัญขาดออกซิเจน

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล

“เราไม่สามารถรู้ได้ว่าอาการหอบหืดแบบเฉียบพลันจะเกิดขึ้นตอนไหน ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหืดทุกคนควรมีแผนปฏิบัติการเมื่อมีอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน (asthma action plan) ซึ่งประกอบด้วย อาการของหืดกำเริบ การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน และเมื่อไหร่ต้องมาโรงพยาบาล ซึ่งหมอร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมทั้งการพ่นยา การหลีกเลี่ยงสิ่งกระต้น และเตือนการพบแพทย์ ชื่อว่า Asthma Care application ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีจากมือถือทั้งระบบ iOS และ Android นอกจากนี้ผู้ป่วยและครอบครัวของคนที่เป็นโรคนี้ ควรมียาพ่นบรรเทาอาการ พกไว้ติดตัวเสมอเพื่อใช้ในการบรรเทาอาการให้ทันท่วงที และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากภาวะหอบหืดเฉียบพลันได้ในกรณีที่ไปรักษาที่โรงพยาบาลไม่ทัน  โดยการใช้ยาแบบพ่นสูด (nebulizer) มีข้อดีคือพ่นยาได้ง่าย ไม่ต้องอาศัยเทคนิคและความร่วมมือจากผู้ป่วยและตัวยาจะเข้าสู่ตำแหน่งทางเดินหายใจโดยตรง ทำให้ช่วยลดอาการจับหืดและมีผลข้างเคียงน้อย ผู้ป่วยควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาขนาดอนุภาคของละอองยาที่พ่นออกจากเครื่องพ่นมา พร้อมกับปริมาณยาที่ได้รับจากการพ่น ว่ามีประสิทธิภาพในการลดการตกค้างของตัวยาในกระบอกยาได้มากเพียงใด” ศ.พญ. อรพรรณ กล่าวเสริม

“ขนาดอนุภาคของละอองยาที่เหมาะสมกับตำแหน่งบนทางเดินหายใจที่อนุภาคตกเกาะ คืออยู่ในช่วง 2-5 ไมครอน คือเล็กพอให้ตัวยาไปตกในส่วนของหลอดลมบรองไค (Bronchi) และหลอดลมบรองคิโอล (Bronchioles) และให้ยาออกฤทธิ์ที่ทางเดินหายใจส่วนล่างในผู้ป่วยที่สามารถหายใจได้เอง  หากขนาดอนุภาคใหญ่กว่า 5 ไมครอนขึ้นไป ตัวยาจะไปเกาะในส่วนบนของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (Upper airway) เช่น ส่วนจมูก หรือปาก ทำให้ยาออกฤทธิ์ไม่ตรงจุด  ตัวเครื่องพ่นยาควรปรับเข้ากับจังหวะการหายใจของผู้ป่วยได้เพื่อไม่ต้องนำอุปกรณ์เป่าปากออกขณะพ่นยาในช่วงจังหวะหายใจออก เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณยาแบบไม่ขาดตอนและลดการสิ้นเปลืองของตัวยา และควรหลีกเลี่ยงวาล์วที่มีส่วนประกอบของซิลิโคน เพราะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย เสี่ยงติดเชื้อต่างๆ และยากต่อการทำความสะอาด”

“นอกจากการดูแลตนเองให้อบอุ่นอยู่เสมอ ไม่เข้าๆ ออกๆ ห้องแอร์บ่อยๆ รวมถึงดูแลแวดล้อมให้ปราศจากสิ่งกระตุ้นที่มักทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการกำเริบ ได้แก่ ขนสัตว์ ไรฝุ่น เชื้อรา ต้นไม้หรือละอองเกสรดอกไม้ และสิ่งระคายเคืองอื่นๆ เช่น สารเคมี กลิ่นฉุน ควันบุหรี่ และมลภาวะ เลี่ยงการการออกกำลังกายหักโหม ระวังตัวไม่ให้ติดเชื้อโรคหวัดหรือมีการติดเชื้อทางเดินหายใจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดควรไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง และควรดูแลสภาพอารมณ์ด้วย ไม่ให้เกิดความเครียด อาการตกใจ เสียใจ โกรธ หรือตื่นเต้น” ศ.พญ. อรพรรณ กล่าวสรุป

เกี่ยวกับ บริษัท ออมรอน

บริษัท ออมรอนเป็นผู้นำระดับโลกด้านระบบอัตโนมัติ โดยมีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีตรวจจับข้อมูลและระบบการควบคุมอัตโนมัติ ธุรกิจของออมรอนครอบคลุมอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ทั้งระบบควบคุมอัตโนมัติเชิงอุตสาหกรรม ส่วนประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพ และโซลูชั่นด้านสิ่งแวดล้อม ออมรอนก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 โดยปัจจุบันมีบุคลากรทั้งหมดกว่า 38,000 คนทั่วโลกที่เฝ้าจัดหากลุ่มผลิตภัณฑ์ และให้บริการต่างๆ ในกว่า 110 ประเทศทั่วโลก  สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมติดตามได้ทางเว็บไซต์ของ  ออมรอน เฮลธ์แคร์ ที่ http://www.omron-healthcare.co.th และช่องทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/OMRONHealthcareThailand

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
Riya
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.