5 เคล็ดลับบำรุงสมอง ของคนวัยทำงาน
นอกจากร่างกายที่ต้องทำงานอย่างหนักในแต่ละวันแล้ว สมองก็เป็นส่วนสำคัญที่คอยสั่งการระบบต่างๆ ของร่างกาย แต่เคยสังเกตไหมว่าทำไมอยู่ดีๆ เราถึงนึกชื่อดารา ศิลปินคนโปรดไม่ออก คุยกับเพื่อนอยู่ดีๆ กลับลืมว่าจะพูดอะไร อาการเหล่านี้กำลังฟ้องแล้วว่าสมองของคนวัยทำงานอย่างเรา ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่เพียงพอ อาจเพราะกิจวัตรประจำวันที่ทำให้เราต้องแข่งกับเวลา ความเครียดและความกดดันต่างๆ ในที่ทำงาน บวกกับชีวิตมันยังมีอีกหลายๆ เรื่อง แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราหันมาใส่ใจและรัก (สมอง) ตัวเองมากขึ้นกันอีกนิด ด้วย 5 เคล็ดลับบำรุงสมอง ของคนวัยทำงาน ทำตาม 5 ข้อนี้รับรองความจำเลิศ!
1.พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนที่ถูกต้องคือ การนอนหลับสนิท ตื่นขึ้นมามีแรง สดชื่น สมองแจ่มใส และการนอนหลับสนิทเพียง 5 – 6 ชั่วโมง หรืออย่างมากที่สุด 8 ชั่วโมงก็เหลือเฟือแล้ว เพราะยิ่งนอนมากชั่วโมงแทนที่สมองจะแจ่มใสกลับกลายเป็นทำให้เราง่วงซึมไปซะอย่างนั้น
2.กินอาหารเช้าบำรุงสมอง
วิถีชีวิตและกิจกรรมที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน เป็นปัจจัยในการเลือกรับประทาน อาหารบำรุงสมอง ด้วยเช่นกัน รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ อาหารเช้า เป็นการเปิดรับพลังงานให้ร่างกาย เพราะร่างกายไม่ได้ทานอาหารมาตลอดทั้งคืน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 – 8 ชั่วโมง เมื่อตื่นนอนก็ต้องมีกิจกรรมตลอดทั้งวัน ร่างกายจึงต้องการใช้พลังงานจากอาหารเช้า เพื่อแปรเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลกลูโคส เพื่อไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ ดังนั้น การได้รับอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในมื้อเช้า ย่อมทำให้มีพลังในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ สมองแจ่มใส อารมณ์ไม่หงุดหงิด สมาธิดี”
3.อ่านหนังสือช่วยได้
ใครๆ ก็บอกว่าอ่านหนังสือยิ่งอ่านยิ่งดี ที่ดีก็เพราะเราได้ออกกำลังสมอง ด้วยการกระตุ้นการทำงานของสมองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งช่วยชะลอและป้องกันการเป็น โรคอัลไซเมอร์ และช่วยพัฒนาเรื่องการจดจำได้ เพราะเมื่อเราอ่านหนังสือก็ต้องจดจำชื่อตัวละคร ลำดับเหตุการณ์ รายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะในหนังสือแนวสืบสวนสอบสวน สมองจะคอยเรียกข้อมูลที่เก็บเอาไว้มาใช้งาน ดังนั้นสมองก็จะได้ออกกำลังอยู่ตลอดเวลาที่คิด
4.งานอดิเรกสร้างสรรค์
งานอดิเรกประเภทที่ใช้การเคลื่อนไหวปลายนิ้วอยู่เสมอ จะช่วยป้องกันไม่ให้เราเป็นโรคหลงลืมได้ง่าย อย่างเช่น ช่างฝีมือ นักเปียโน หรือแม้แต่การพับกระดาษ (โอะริงะมิ) เป็นรูปต่างๆ ก็ช่วยป้องกันโรคหลงลืมได้ เมื่อเราเคลื่อนไหวนิ้วโป้ง สมองจะได้รับแรงกระตุ้น ส่งผลให้สมองทำงานได้อย่างกระชุ่มกระชวยอีกครั้ง การเคลื่อนไหวมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เรามีอาการของโรคหลงลืม และช่วยชะลออาการกำเริบของสมองเสื่อมอีกด้วย
5.เล่นเกมวางแผนกลยุทธ์
เดี๋ยวนี้มีเกมให้เราเลือกเล่นกันมากมายหลายประเภท แต่รู้หรือไม่ว่าการเล่นเกมประเภทวางแผนกลยุทธ์จะช่วยให้เราได้ฝึกสมอง จำลองเหตุการณ์ และมองหาวิธีรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าได้ จากการทดลองของทีมนักวิจัยทางมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) ประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่ากลุ่มคนที่เล่นเกมเป็นประจำ โดยเฉพาะเกมที่ต้องใช้การวิเคราะห์ วางแผน จะช่วยพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ดียิ่งขึ้น เล่นเกมเพลินๆ แถมได้ฝึกสมองอีกด้วยงานนี้ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
บทความที่น่าสนใจ