“No One Left Behind :ปั่นไปไม่ทิ้งกัน” รวมพลังระดมทุนสานฝันเพื่อคนพิการ

No One Left Behind”รวมพลังคนตาดี-ตาบอด“ปั่นไปไม่ทิ้งกัน” ระดมทุนสานฝัน “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนเชียงดาว”

“มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” โดย “ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โครงการซีพีสานฝันปันโอกาส โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนาคารกรุงเทพ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind” ครั้งแรกของประเทศไทยที่คนตาบอด จะปั่นจักรยานพิชิตเส้นทาง 9 วัน 9 จังหวัด ระยะทาง 867 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถึงอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหาทุนสนับสนุนการจัดสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” ชวนคนไทยส่งแรงใจ สนับสนุน และร่วมสานต่องานที่ “พ่อทำ” ด้วยการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลังในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม ผ่านการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทั่วประเทศ 

ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิดเผยว่าปัจจุบันมีผู้พิการในประเทศไทยที่จดทะเบียนแล้วคิดเป็นร้อยละ 2.72 ของประชากรทั้งประเทศหรือราว 1,802,375 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้พิการเกือบ 6 แสนคนเป็นผู้ที่ไม่มีงานทำและขาดผู้ดูแล รวมถึงขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิ์และสวัสดิการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดโดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าเราจะสามารถช่วยคนกลุ่มนี้ให้มีอาชีพและรายได้ได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จึงได้มุ่งเน้นไปที่การ empowerment ผู้พิการ ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างให้เขามีรายได้ สร้างให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือให้คนพิการก้าวพ้นความยากจน ให้สามารถประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ซึ่งเปิดให้บริการที่จังหวัดเชียงใหม่

“ปัจจุบันศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่อำเภอแม่ริม มีพื้นที่คับแคบ และไม่เพียงพอต่อการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ ให้กับผู้พิการ ทางมูลนิธิฯจึงมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในการร่วมกันสานต่องานที่พ่อ ทำด้วยการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม ผ่านการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทั่วประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะมีพื้นที่มากถึง 33 ไร่ สามารถรองรับผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นต้นแบบของศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับคนพิการในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อพัฒนาผู้พิการให้เป็นประชากรที่สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการจัดทำ โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่คนตาบอดจะปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ เป็นระยะทางรวมกว่า 867 กิโลเมตร เพื่อหาทุนสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่อำเภอเชียงดาว” อาจารย์วิริยะกล่าวถึงที่มาของโครงการ

ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนา “คนพิการไทยทำอะไรได้มากกว่าที่ใครคิด” โดยได้รับเกียรติจาก นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล พิธีกรและผู้ประกาศข่าว, นายคริสโตเฟอร์ เบญจกุล อดีตดารานักแสดงที่ประสบอุบัติเหตุจากการช่วยเหลือผู้อื่นจนกระทั่งตัวเองเกือบพิการ และนางสาวณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ หรือ “น้องธันย์” นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ อดีตนักเรียนไทยที่ประสบอุบัติเหตุรถไฟฟ้าทับจนสูญเสียขาทั้ง 2 ข้างที่ประเทศสิงค์โปร มาร่วมให้มุมมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่ออุปสรรคและปัญหาของผู้พิการไทยในปัจจุบัน

นายกฤษณะ ละไล พิธีกรอมรมณ์ดีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การพัฒนาในอดีตที่ผ่านมานั้นเราได้ทอดทิ้งคนเอาไว้เบื้องหลังเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้พิการและผู้สูงอายุก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกหลงลืม คนกลุ่มนี้จะเดินทางไปไหนมาไหนทั้งอาคาร ตึก รถโดยสารสาธารณะ ก็ลำบากเพราะเราไม่เคยคำนึงถึงเรื่องของอารยสถาปัตย์

“แม้ว่าปัจจุบันปัญหาเหล่านี้นี้จะเริ่มดีขึ้นแต่ก็ยังไม่ดีพอ วันนี้เรามีกฏหมายที่ให้สถานประกอบการต้องมีผู้พิการทำงานในสัดส่วน 1 ต่อ 100 และมีตำแหน่งงานต่างๆ มากมาย แต่เรากลับมีผู้พิการในสถานประกอบการหรือโรงงานต่างๆ น้อยมาก สาเหตุหนึ่งก็คือปัญหาเรื่องของการเดินทางระบบสาธารณะที่ไม่พร้อมและสอดคล้องกับกฏหมายรวมไปถึงเรื่องของอารยสถาปัตย์ ซึ่งโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกันนับเป็นโอกาสที่ดีที่จะกระตุ้นเตือน ทำให้คนในสังคมไทยได้ฉุกคิดว่าเราต้องไม่หลงลืมใครไว้ข้างหลังโดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ” นายกฤษณะระบุ

“ถ้าพูดถึงเรื่องของ barrier free นั้นสังคมไทยดีขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ไม่ค่อยจะเปลี่ยนคือ สังคมไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญและให้โอกาสกับผู้พิการ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงาน เพราะไม่มีความเชื่อมั่นในตัวของผู้พิการจะทำงานได้ วันนี้ภาคเอกชนไทยจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการด้วยการให้ผู้พิการได้มีโอกาสทำงานในหลายๆ ด้านตามความถนัดเหมือนกับคนทั่วไป ซึ่งผมอยากจะบอกว่าคนพิการนั้นสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด” นายคริสโตเฟอร์ เบญจกุล กล่าว

 

 

นางสาวณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ หรือ “น้องธันย์” กล่าวว่าสิ่งที่จะทำให้ผู้พิการสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ด้านร่างกายก็คือ ต้องมีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่น และมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองนั้นก็สามารถแข่งกันกับคนปกติคนอื่นๆ ในสังคมได้ เพราะคนพิการทุกคนมีล้วนศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัว

“เริ่มจากการมีทัศนคติเชิงบวก อย่าไปคิดถึงอดีตที่ผ่านมา ให้คิดถึงแต่เป้าหมายในปัจจุบันและอนาคต ทำอย่างไรจะให้เรามีความสุขจากต้นทุนจากสิ่งที่เรามีหรือว่าเป็นอยู่ แล้วเราก็จะสามารถก้าวกระโดดไปยืนอยู่ในจุดที่คนทั่วไปคิดว่าคนพิการจะไม่มีทางทำได้ ซึ่งเราก็มีต้นแบบหลายคนทั้งท่านอาจารย์วิริยะเป็นต้น” น้องธันย์ระบุ

ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กล่าวว่าความพิการทุกประเภทจะไม่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมหรือเป็นข้อจำกัดในการทำงานอะไรก็ตามแต่ ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาใน 3 เรื่องได้ คือ หนึ่ง พยายามขับเคลื่อนให้สังคมไทยได้ให้โอกาสกับผู้พิการ ให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและได้รับโอกาสในการทำงานหรือ empowerment สอง การขับเคลื่อนให้เกิด barrier free หรือที่เรียกว่าอารยสถาปัตย์ ไม่มีอุปสรรคต่างๆ ในการเดินทางและใช้ชีวิต เราสามารถทำใน 2 เรื่องนี้ได้ คนพิการก็อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเหมือนคนทั่วไป ความพิการจะเป็นแค่เรื่องน่ารำคาญและความไม่สะดวกเท่านั้น

“แต่ที่สำคัญที่สุดคือข้อที่ 3 คือเรื่องของ Partnership สังคมไทยทุกภาคส่วนต้องยินดีให้คนพิการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ  หรือสังคม ด้วยการให้โอกาสผู้พิการและเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อที่มีต่อผู้พิการใหม่ โดยขอให้เชื่อมั่นว่าผู้พิการนั้นสามารถทำได้ทุกอย่างและมีศักยภาพในตนเอง ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต ถ้าเราสามารถขับเคลื่อน ทั้ง 3 เรื่องนี้ไปด้วยกันได้ ก็จะเกิดเป็นสังคมไทยที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ได้อย่างแท้จริง” อาจารย์วิริยะสรุป

สำหรับ โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ผู้พิการตาบอดจำนวน 20 ชีวิต ร่วมกับนักปั่นจิตอาสาปั่นนำอีก 20 ชีวิต จะรวมพลังสามัคคีปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ เป็นระยะทางรวมกว่า 867 กิโลเมตร 9 วัน 9 จังหวัดในระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 โดยเริ่มต้นจากกรุงเทพมหานคร ผ่านสุพรรณบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง และเชียงใหม่ เพื่อหาทุนสนับสนุนการก่อสร้าง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ที่อำเภอเชียงดาว โดยแต่ละจังหวัดที่ขบวนปั่นจักรยานผ่านจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมไทยเห็นศักยภาพและให้โอกาสผู้พิการในการพัฒนาตนเองด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามกิจกรรมและร่วมบริจาคผ่านช่องทางต่างๆ ได้โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้จาก Facebook : มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ (Facebook.com / Universalfoundation) หรือ www.wiriya.org มาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์สร้างโอกาสให้ผู้พิการ สานต่องานที่พ่อทำ ด้วยการช่วยเหลือให้ผู้พิการสามารถก้าวข้ามความยากจน มีอาชีพที่ยั่งยืน เพื่อที่จะเปลี่ยนผู้พิการที่ถูกสังคมมองว่าเป็นภาระ ให้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมต่อไป.

 

ล้อมกรอบ

รายละเอียดและช่องทางการร่วมสนับสนุน “โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind”

ช่องทางที่ 1 : บริจาค 100 บาท ผ่านโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย กด*948*6666*100# แล้วโทรออก

ช่องทางที่ 2 : พิมพ์ Y100 แล้วส่ง SMS ไปที่หมายเลข 4899666 แล้วกดโทรออก เพื่อบริจาค 100 บาท สำหรับทุกเครือข่าย

ช่องทางที่ 3 : โอนเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน ธนาคารกรุงเทพ 162-3-07772-2, ธนาคารกรุงไทย 196-6-00208-4 ธนาคารไทยพาณิชย์ 264-3-001530 ธนาคารกสิกรไทย 758-1-01398-6 ธนาคารกรุงศรี 494-0-00140-9 ชื่อบัญชีมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และร่วมสมทบทุนซื้อของที่ระลึก (เสื้อ) จากโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ตามจุดกิจกรรมต่างๆ หรือ Facebook ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ

ช่องทางที่ 4 : บริจาค 100 TruePoint แทนเงิน 10 บาท ผ่านแอปทรูยู หรือ กด *878*2828# โทรออกฟรี

เฉพาะเครือข่ายทรูมูฟเอชเท่านั้น

ช่องทางที่ 5 : ร่วมบริจาคผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ “ทรูมันนี่ วอลเล็ท” ได้ตลอด24 ชม ดาวน์โหลดแอปฟรีทาง  App Store และ Play Store คุณก็สามารถทำดีง่ายๆ ด้วยปลายนิ้ว ผ่านแอปทรูมันนี่ วอลเล็ท

และสามารถติดตามกิจกรรมและความเคลื่อนไหวของ โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ได้ทาง Facebook : มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ (Facebook.com / Universalfoundation) หรือ www.wiriya.org และร่วมส่งแรงใจสนับสนุนนักปั่นผู้พิการทางสายตาด้วยการติดแฮชแท็คที่กำหนด #ปั่นไปไม่ทิ้งกัน #NoOneLeftBehind.

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.