ภูวนาถ บางพาน

“ ธรรมะและมาร์เก็ตติ้ง คือเรื่องเดียวกัน” ภูวนาถ บางพาน นักการตลาดผู้สร้างแบรนด์ชีวิตด้วย“ธรรม”

“ธรรมะและมาร์เก็ตติ้ง คือเรื่องเดียวกัน”

ภูวนาถ บางพาน นักการตลาดผู้สร้างแบรนด์ชีวิตด้วย“ธรรม”

หากมองย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก คุณภู – ภูวนาถ บางพาน เติบโตมากับคำสอนให้ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมไปพร้อมๆ กับการเป็นนักขาย นักการตลาด ที่หลายคนอาจสงสัยว่า ธรรมะและมาร์เก็ตติ้ง ไปด้วยกันได้หรือ

มาถึงวันนี้ วันที่เขาคือหนึ่งในนักการตลาดที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งของวงการมาร์เก็ตติ้ง เขายืนยันว่าธรรมะและมาร์เก็ตติ้งเป็นเรื่องเดียวกัน

ทำไมเขาถึงกล่าวเช่นนั้น ตามไปอ่านกันค่ะ

ชีวิตที่เติบโตด้วย “รีวอร์ดแห่งความดี”

ผมเป็นคนจังหวัดระนอง มีธรรมชาติเป็นสวนสนุก ปีนป่ายต้นไม้ กระโดดน้ำ ตีลังกา เล่นโคลน ผมโตมากับธรรมชาติ แต่อยู่บนพื้นฐานการอบรมคุณธรรมจริยธรรม เนื่องจากคุณทวดมียศเป็นขุนซึ่งมีความเด็ดขาด คุณแม่จึงมีความเป็นผู้นำสูง กล้าตัดสินใจ ส่วนคุณพ่อเป็นคนงานที่บ้าน แต่เพราะความดีท่านจึงได้แต่งงานกัน ท่านพูดเสมอว่า เราต้องเป็นคนดี ไม่เอาเปรียบใคร ต้องมีคุณธรรม เวลาเจอสิ่งของมีค่าหรือไม่มีค่า ถ้าไม่ใช่ของของเรา ห้ามเอามาเป็นของเรา เงินหนึ่งบาทก็หยิบไม่ได้ ต้องขออนุญาตทุกอย่าง เราได้ยินท่านพูดแบบนี้ซ้ำ ๆ ตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าเป็นการปลูกฝังของผู้ใหญ่

แม้ครอบครัวพอมีฐานะ แต่พ่อกับแม่ไม่ได้สอนให้ใช้เงินซื้อทุกอย่าง ลูกทั้งสามคนมีหน้าที่ ผมเป็นลูกคนกลาง มีหน้าที่หลักคือ ดูแลงานบ้าน ต้องกวาดบ้าน ถูพื้น ซักผ้า รีดผ้า ทำอาหาร ถึงจะได้รีวอร์ด นั่นคือการได้ออกไปเล่นหรือแม้แต่เงินค่าขนม กลับจากไปเล่นตอนเย็น ทุกคนต้องรดน้ำต้นไม้คนละหนึ่งต้นทุกวัน ไม่ใช่ว่าลูกขออะไรแล้วต้องได้ทุกอย่าง แต่ต้องแลกเปลี่ยนกับระเบียบวินัย

คุณแม่ฝึกมาแบบนี้ตั้งแต่อายุสามขวบ โดยที่เราไม่รู้ว่า หน้าที่ที่คุณแม่มอบหมายคือธง ธงที่ท่านปักไว้เหมือนจุดไข่ปลาเรียงเป็นเส้นตรงเพื่อให้เราเดินไปสู่เป้าหมาย สอนให้รู้ว่าเราต้องทำก่อนจึงจะได้อะไรมา

จากพ่อค้า 7 ขวบสู่เงินเก็บหกหลัก

ตอนเด็ก ๆ เห็นคุณแม่เก็บผลไม้ข้างบ้านไปขาย รับซื้อของไปขาย ผมก็ตามไป จนชอบขายของไปด้วย เพราะได้เจอคนเยอะ รู้สึกสนุกดี ได้ยินทุกคนชื่นชมคุณแม่ว่าขายของเก่งมาก มีตังค์แต่ยังมาขายของโดยไม่ถือตัว ทำให้เรามองคุณแม่เป็นไอดอล ช่วงที่เรียน ป. 1 ประมาณ 7 ขวบเริ่มขายของเองบ้าง สมัยก่อนชาวบ้านจับปูแล้วคัดไปขายกิโลกรัมละ 50 – 60 บาท แต่เราซื้อปูมาแบ่งใส่ถุงเล็ก ๆ แยกขายตัวละ 10 บาท ตัวเล็กหน่อยที่เขาคัดทิ้งก็เอามารวมกัน 5 ตัว น้ำหนักไม่ถึง 1 กิโล ก็ขายได้ 50 บาทเหมือนกัน

จากนั้นเราคิดต่อยอดไปอีก เพราะชอบทำอาหาร จึงให้คุณแม่สอนทอดกุ้งทอดปู เราก็ทอดปูไปขายอีก จากตัวละ 10 บาท ตัดแบ่งทอดได้ 4 ชิ้น ขายได้ 40 บาท คุณป้าร้านขนมก็รับไปขายให้ แล้วขอเขาร้อยละ 20 ปั่นจักรยานขายไปทั่วหมู่บ้าน มีความสุขมาก ได้สัมผัสบรรยากาศแวะคุยบ้านนั้นบ้านนี้ เขาก็เอ็นดูเพราะเป็นเด็กขายของได้ ไปทางไหนคนก็พูด เด็กบ้านนี้เก่งจังเลย ขยันจังเลย คำชื่นชมเป็นพลังบวกทำให้รู้สึกฮึกเหิม ภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ เขาชมกับพ่อแม่ว่ามีลูกดี ไม่เหมือนลูกเขาที่ไม่ทำอะไรเอาแต่เที่ยว พ่อแม่ฟังก็รู้สึกภูมิใจ เราก็มีความสุขทวีคูณ

ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าความร่ำรวยเป็นอย่างไร เราไม่รู้เลยว่าการเพิ่มยอดขายคืออะไร แค่รู้สึกว่าขายแล้วสนุกมีความสุข ก็ทำไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ประถมจนขึ้นมัธยม ได้เงินมาก็ไปฝากแบงก์ โตขึ้นก็ต่อยอดด้วยการขายตรง สมัยนั้นมีแคตตาล็อกมิสทีน เอวอน เวลาไปขายขนมก็ฝากแคตตาล็อกไว้ให้ลูกค้าดู ชวนให้เขารู้จักเครื่องสำอางลูกกลิ้งโรลออน บอกเขาว่าใช้แล้วจะสวยเหมือนดาราในทีวี วันนั้นก็ไม่รู้หรอกว่านี่คือการโน้มน้าวจิตใจผู้บริโภคให้เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เพราะความเจริญเริ่มเข้ามา ใครไม่มีเงินเราก็ให้เขาผ่อนจ่ายได้ด้วย

ระหว่างเรียนมัธยมสายวิทย์ – คณิต ผมเลือกเรียนคหกรรมเป็นวิชาเลือก แล้วเปิดร้านเล็ก ๆ กับเพื่อน ๆ ในชมรมขายน้ำ ทำขนมขายแล้วแบ่งรายได้กันในกลุ่ม ปิดเทอมก็ไปขายของในห้างด้วย เรากลายเป็นเด็กมัธยมที่มีรายได้เดือนละ 5 – 6 พันบาท ซึ่งก็ถือว่าเยอะสำหรับเด็กต่างจังหวัดสมัยนั้น ตอนนั้นผมมีเงินเก็บในแบงก์สองแสนกว่าบาท ทำให้เรามีแรงบันดาลใจว่ายิ่งทำยิ่งได้

เลือกสิ่งที่รัก

ระหว่างเรียน ม.ปลาย ผมไปสมัครเรียน กศน.วันเสาร์ – อาทิตย์ด้วย เพราะคิดหาทางลัดให้ตัวเองเรียนจบเร็วขึ้นและอยากมีเพื่อนเพิ่มอีกกลุ่มจะได้มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่รู้ตัวอีกเหมือนกันว่านี่คือมาร์เก็ตแชร์ หรือการเลือกตลาดเป้าหมาย ในยุคนั้นเราไม่รู้จักคำว่ามาร์เก็ตติ้ง ทุกคนบอกว่าเรียนสายวิทย์ต้องเป็นหมอ เภสัชกร ครู หรือรับราชการเท่านั้น

ผมเรียนจบ กศน.ก่อนจบสายสามัญ ได้วุฒิ ม. 6 ไปเรียนต่อ พอถึงเวลาที่ต้องเลือก เราไม่สนใจสายอาชีพที่ใคร ๆ บอกเลย ได้โควตาเภสัชกรก็ไม่เรียน เพราะมีคำตอบอยู่แล้วว่าต้องเรียนเรื่องการขายเท่านั้น จึงไปศึกษาว่ามีการเรียนเกี่ยวกับด้านนี้อย่างไร จนเจอว่ามีหลักสูตรด้านการตลาด พ่อแม่ก็ไม่บังคับ ให้ตัดสินใจเอง แต่ครูกลับพูดว่า “เด็กคนนี้โง่หรือเปล่า ทำไมถึงไม่เรียนเภสัชฯ เป็นอาชีพการงานที่มั่นคง” เขาก็ถามย้ำว่า “แน่ใจนะว่าจะไปเรียนแบบนี้” เรายืนยันโดยไม่โกรธครูเลย เพราะตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกสิ่งที่ตัวเองรัก

ผมไม่เกี่ยงว่าต้องเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง จึงไปสมัครเรียน ปวส.โรงเรียนพาณิชย์ในกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้เริ่มเข้าใจภาษาการตลาดและเริ่มเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า ความสุขในการเข้าสังคม การได้ไอเดียจากการพูดคุย หรือการขายตรงแบบผ่อนชำระที่เราทำ เรียกว่า STP Marketing (Segmentation, Targeting, Positioning) หรือการรู้กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง รู้ว่าจุดขายของสินค้าอยู่ตรงไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำตั้งแต่เด็ก นั่นหมายความว่าเราเป็นนักมาร์เก็ตติ้งตั้งแต่เกิด

ผมเรียนจบ ปวส.ได้เกรด 3.98 แล้วไปเรียนต่อปริญญาตรีด้านมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งทำให้เราเข้าใจหลักมาร์เก็ตติ้งต่าง ๆ อย่างง่ายดาย เช่น หลัก 4P (Product, Price, Place, Promotion) หลัก Black Box หรือการทำความเข้าใจกับความรู้สึกนึกคิดของผู้ซื้อ เป็นศิลปะของนักขายที่ต้องวิเคราะห์ว่าการแสดงสีหน้าท่าทางแบบนี้ลูกค้าคิดอะไรอยู่ ซึ่งเป็นทักษะที่เราฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก

ภูวนาถ บางพาน

เคี่ยวกรำประสบการณ์ตามแผนชีวิต

หลังจากจบปริญญาตรี ผมได้โควตาช้างเผือกเข้าทำงานที่ซีพีได้เลย ได้เงินเดือนหมื่นแปด ในสมัยนั้นก็ถือว่าสูง แต่ผมเลือกไปเป็นเซลส์ที่บริษัทดีทแฮล์ม เทรดดิ้ง จำกัด เพราะอยากศึกษาผู้บริโภคในมุมกว้าง ได้เดินสายคุยกับร้านค้าทั่วภูมิภาค ซึ่งผมมองว่าเป็นวิธีที่ทำให้ก้าวไกลไปกว่ามาร์เก็ตติ้งที่วิเคราะห์จากข้อมูลทางประชากรศาสตร์ เพราะการตลาดเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตลอดเวลา ไม่ได้หยุดนิ่ง มนุษย์ไม่ได้ต้องการแค่ขั้นพื้นฐานของทฤษฎีมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) พื้นฐานชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราต้องการไปรีเสิร์ชจากของจริง

หลังจากทำงานที่ดีทแฮล์ม 3 ปี ผมย้ายไปเป็น Key Account Manager ให้แบรนด์นอติลุส ดูแลลูกค้าเทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, แม็คโคร, ฟู้ดแลนด์ รับดูทุกห้างที่คนอื่นปฏิเสธ เพราะมองว่างานเยอะ แต่เราเห็นโอกาสของการเรียนรู้ช่องทางโมเดิร์นเทรด

ผมวางแผนชีวิตต่อว่าอยากเรียนรู้งานของแบรนด์ที่เป็นระดับโลก จึงเปลี่ยนไปทำงานให้กลุ่มบริษัทซูมิโตโมในสายงานแพ็คเกจจิ้งสินค้าส่งออก ได้เรียนรู้เรื่องแบรนด์ดิ้งในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เรียนรู้เรื่อง Touch Point ที่บริษัทระดับโลกให้ความสำคัญ และระบบการทำงานแบบญี่ปุ่นที่มีวินัย แต่มีอิสระทางความคิด มีครีเอทีฟสูงมาก

หลังจากนั้น 3 ปีก็เปลี่ยนมาทำงานด้านนวัตกรรมเส้นใยในกลุ่มไทยสปินนิ่ง อินดัสทรี ซึ่งอยู่เบื้องหลังแฟชั่นท็อปแบรนด์ระดับโลก ตั้งเป้าทำงานที่นี่ 3 ปีเช่นกัน ถือว่าชีวิตประสบความสำเร็จ ได้ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยประธานบริหารตอนอายุประมาณ 30 ปี

ความสุขและโจทย์หินในฟาร์มโชคชัย

หลังจากนั้นมีโอกาสได้ไปทำงานด้านบริหารตำแหน่ง Executive Vice President Retail & Marketing เป็นผู้ช่วย คุณโชค บูลกุล CEO ฟาร์มโชคชัย เราได้ใช้สิ่งที่เรียนรู้มาทำกับโปรดักต์ที่เป็นการเกษตร โดยปรับภาพลักษณ์ใหม่เพื่อการสื่อสารกับผู้บริโภคให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ใช้สิ่งที่เรียนรู้มาสร้างแบรนด์อิมเมจจนยอดขายเติบโต

ตอนแรกตั้งใจจะทำงานที่นี่ 3 ปีเหมือนกัน แต่ชีวิตการทำงานในฟาร์มโชคชัยมีความสุขมาก เพราะคุณโชคมีทัศนคติเชิงบวกและพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ทำให้เราทำมาร์เก็ตติ้งอย่างมีพลัง ทำให้ทำงานที่ฟาร์มโชคชัยนานถึง 8 ปี ส่วนความท้าทายของการทำงานที่นี่คือการเรียนรู้เรื่องทรัพยากรมนุษย์ คุณโชคเป็นผู้นำสมัยใหม่ แต่คนในองค์กรส่วนใหญ่ยังเป็นคนรุ่นเก่า บริหารงานแบบ Seniority ต้องเคารพผู้อาวุโส แต่เรื่องนี้ไม่ใช่อุปสรรค เพราะเราได้รับการปลูกฝังให้นอบน้อมถ่อมตน คุณพ่อคุณแม่สอนเราให้เคารพผู้ใหญ่ การทักทายลูกน้องที่อายุน้อยกว่าไม่ใช่เรื่องเสียเกียรติ ผมมองว่าทุกคนคือเพื่อน จึงได้รับความร่วมมือจากทีมงานเป็นอย่างดี จนในที่สุดอิมเมจหรือภาพลักษณ์ของแบรนด์ฟาร์มโชคชัยดีขึ้น จนสามารถนำแบรนด์ Umm! Milk เข้าสู่ตลาดนมพรีเมียมได้สำเร็จภายใน 3 ปี

แต่เรามีเส้นทางเดินของตัวเองชัดเจน ระหว่างทำงานได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงแล้ว เรียนจบปริญญาโทแล้ว ผมตั้งโจทย์กับตัวเองใหม่ว่าอยากทำรีเสิร์ชมาร์เก็ตติ้งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประกอบกับโปรดักต์ในฟาร์มโชคชัยเป็นสินค้ากลุ่มแฟมิลี่เป็นหลัก เราทำการตลาดแบบEdutainment แต่ยังไม่มีข้อมูลมากนัก จึงขอคุณโชคออกมาศึกษาปริญญาเอกด้านนี้โดยตรง ประกอบกับชอบเรื่องการทำอาหารตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วได้คลุกคลีเรื่องสเต๊กและกาแฟตั้งแต่อยู่ฟาร์มโชคชัย จึงหันมาเปิดร้านอาหาร IX Cafe (อิกซ์คาเฟ่) ไปด้วย

สร้างสมองแห่งความสำเร็จให้เด็กรุ่นใหม่

การทำรีเสิร์ชการตลาดสำหรับกลุ่มแฟมิลี่ทำให้มีโอกาสได้เข้าไปเป็นผู้บริหารบริษัทแฟมมิลี่ อะมิวส์เม้นท์ จำกัด สร้างสวนสนุก FUN Planet ในศูนย์การค้าทั้งเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ เราปรับภาพลักษณ์ของสวนสนุกที่คนมองว่าเป็นสถานที่มอมเมาเด็ก เป็นคอนเซ็ปต์เอ็ดดูเทนเมนต์เรียนรู้ผ่านการเล่นซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ๆ แล้วได้วิ่งเล่นปีนป่ายบนโลกแห่งความสนุก นี่คือการเรียนรู้โดยธรรมชาติ

ผลรีเสิร์ชด้านพัฒนาการของเด็กพบว่า สิ่งที่จะทำให้เด็กฉลาดที่สุดคือการวิ่งเล่น ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานให้สมองมากขึ้น ถักทอเส้นใยหรือที่เรียกว่านิวรอนมากขึ้น หากเด็กได้แก้ไขปัญหาเอง ได้ใช้จินตนาการ เด็กจะมีไอคิวสูงขึ้น ถ้าเด็กได้เล่นกับเพื่อน ได้คิดวางแผน เด็กก็ได้อีคิว เมื่ออยู่กับเพื่อนต้องรอ ต้องใจเย็น เด็กก็ได้เอสคิว แต่น่าเสียดายที่พ่อแม่คนไทยโดยส่วนมากมักส่งลูกไปเรียนพิเศษ ไปเรียนติวคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ทำให้ลูกเครียด ซึ่งมีผลการวิจัยออกมาว่า เด็กที่วิ่งเล่นฉลาดสมวัยและประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าเด็กที่มุ่งเรียนพิเศษอย่างเดียว การสร้างสวนสนุกจึงต้องสอดคล้องกับพัฒนาการเด็กและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค

การเรียนปริญญาเอก นอกจากเพราะอยากเรียนรู้ตลาดกลุ่มนี้แล้ว ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ดร.สมบูรณ์ ศรีอนุรักษ์วงศ์ อาจารย์พิเศษด้าน MBA มหาวิทยาลัยรามคำแหง ท่านตั้งใจถ่ายทอดและแชร์ประสบการณ์อย่างมาก รายได้จากการสอนหนังสือท่านมอบให้วัด ให้ทุนการศึกษาเด็กขาดแคลน ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเห็นว่าประสบการณ์ของเราก็เป็นประโยชน์ ทำให้เราคิดถึงคำว่ากิฟวิงหรือการให้ ระหว่างนี้ผมจึงเป็นอาจารย์พิเศษให้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง และตั้งใจศึกษาต่อดอกเตอร์เพื่อถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์นอกตำราที่เราสะสมมา

ภูวนาถ บางพาน

เคล็ดลับความสำเร็จ

ชีวิตที่ผ่านมาผมยึดคำหนึ่งคือธรรมะ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ ถ้าเราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดก็เท่ากับเราได้ปฏิบัติธรรม ผมถูกปลูกฝังเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ต้องตั้งอยู่บนความสมดุล มีแข็งบ้าง อ่อนบ้าง เพื่อให้เดินไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ หลายคนที่ท้อใจว่าทำดีตามหน้าที่แล้วไม่ประสบความสำเร็จสักที ผมอยากบอกว่าชีวิตเปลี่ยนแปลงได้ด้วยพลังเชิงบวก เหมือนที่ผมเก็บคำชื่นชมมาเป็นพลังให้ตัวเองตั้งแต่เด็ก มีคำที่ไม่ดีเหมือนกันแต่ผมไม่สนใจ ผมเก็บแต่พลังบวกไว้เท่านั้น

ถ้าเราไปศึกษาเรื่องนิวโรมาร์เก็ตติ้ง (Neuromarketing) หรือการเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภค ก็จะรู้ว่าสมองสามารถสร้างนิวรอนเส้นใหม่ด้วยการเห็นซ้ำ ๆ ได้ยินซ้ำ ๆ ได้กลิ่นซ้ำ ๆ การสร้างพลังบวกในชีวิตก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดแต่เรื่องที่เป็นพลังบวก เส้นใยสมองของเราถูกถักทอจนหนาแนน่ ทำให้เรามีไหวพริบและปฏิภาณ ซึ่งสมองสามารถดึงข้อมูลมาประมวลได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้นทุกชีวิตเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีคำว่าร้ายตลอดกาล คนจนก็สามารถเป็นคนรวยได้ แค่คุณเปลี่ยนความคิด สมองคุณก็เปลี่ยน จิตของมนุษย์เรามีทั้งจิตสำนึก จิตไร้สำนึก จิตใต้สำนึก ซึ่งแต่ละคนถูกบ่มเพาะมาไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าคุณปลุกพลังตัวเองให้มีความเข้มข้นมากขึ้นเท่าไหร่ คุณก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เร็วเท่านั้น พลังแห่งความมุ่งมั่นจะทำให้ประสบความสำเร็จ อย่างนักโทษที่ออกมาจากคุก ถ้ากลับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ยังไม่ออกจากกฎเดิม ก็อาจกลับไปทำเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ได้ แต่ถ้ามุ่งมั่นว่าฉันมีจุดมุ่งหมายเริ่มชีวิตใหม่อย่างแน่วแน่ เขาจะย้ายที่อยู่ ย้ายชุมชน ย้ายสังคม ออกจากคอมฟอร์ตโซนทันที

ธรรมะกับมาร์เก็ตติ้ง สองคำหัวใจเดียว

ธรรมะกับมาร์เก็ตติ้งคือเรื่องเดียวกัน การที่เราได้ปฏิบัติธรรม แปลว่าเราตั้งใจแล้วที่จะเป็นคนดี เป้าหมายคือการเป็นคนดี การตลาดก็เหมือนกัน พุทธศาสนาบอกว่าศีลคือข้อปฏิบัติ กลยุทธ์ทางการตลาดก็คือข้อปฏิบัติเช่นกัน หลักการตลาดบอกว่า ถ้าโปรดักต์มีคุณภาพดี ผู้บริโภคใช้แล้วชอบ เขาก็กลับมาเป็นสาวก ในมุมศาสนา เมื่อปฏิบัติธรรม จิตใจดี คุณภาพชีวิตดีขึ้น คนก็กลับมาปฏิบัติธรรม กลับมาเป็นสาวก นี่คือธรรมะกับการตลาด

การตลาดคือธรรมชาติ เพราะการทำการตลาดคือการทำสิ่งที่ไม่ขัดต่อจริตของผู้บริโภค หรือทำสิ่งที่ตรงกับความต้องการตามธรรมชาติของผู้บริโภค หมายความว่าคุณต้องเข้าใจผู้บริโภค เข้าใจว่าธรรมชาติของเขาเป็นอย่างไร มีปัญหาอย่างไร อยากได้อะไร ส่วนการปฏิบัติ เราต้องมีสติตื่นรู้ตระหนักรู้ว่าเรากำลังทำอะไร มาร์เก็ตติ้งก็เหมือนกัน

แม้แต่การรับรู้ผลของกรรม ถ้าสินค้าไม่ดี ผู้บริโภคก็ไม่ยอมรับ หรือทำไมคนนี้ทำดี แต่ชีวิตเขาไม่ดีขึ้นเลย เพราะเขาอาจไม่จริงใจ เสมือนโปรดักต์ที่ประกาศคุณสมบัติว่าดีมาก แต่ในความจริงใส่สารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ก็เท่ากับสินค้าคุณทำร้ายผู้อื่นในระยะยาว ในทางศาสนาคือคุณกำลังตกนรก เพราะกำลังอยู่ในห้วงของความวิตกจริตไม่สบายใจ

โลกการตลาดเปลี่ยนแปลง มาร์เก็ตติ้ง 1.0 เน้นในเรื่องของสินค้าด้านการผลิต ไม่สนใจความต้องการของผู้บริโภคมาร์เก็ตติ้ง 2.0 เป็น Customer Centric เริ่มมีการทำสินค้าเพื่อลูกค้า เกิดระบบ CRM (Customer Relationship Management) สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า พอมาร์เก็ตติ้ง 3.0 เหนือชั้นไปอีก บอกเรื่อง Human Spirit จิตวิญญาณของมนุษย์ จนตอนนี้มาร์เก็ตติ้ง 4.0 เน้นเรื่องของแรงสนับสนุนและแรงผลักดันจากผู้บริโภคด้วย Brand Friend นั่นคือเริ่มมีสาวกเรียกว่า Brand Mania เห็นชัดเจนว่าทิศทางทางการตลาดเข้าถึงธรรมชาติของมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างลึกซึ้ง

ฉะนั้นศาสตร์ทางการตลาดก็คือธรรมชาติ โลกเปลี่ยนก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกอย่างตรงตามกฎไตรลักษณ์ กลยุทธ์การตลาดที่ดีคือการเข้าใจธรรมชาติแล้วปรับเปลี่ยนตามสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจไม่มีในตำรา หากไม่เปลี่ยนก็ไม่สามารถทำธุรกิจบนโลกใบนี้ได้ เพราะคุณตกเหวตายไปแล้ว

ชีวิตก็เหมือนกัน เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ สร้างความดีได้ สร้างโอกาสให้ตัวเองได้ สร้างกลยุทธ์ให้ตัวเองเสียใหม่แล้วจะประสบความสำเร็จ

 

ที่มา : นิตยสาร Secret  ฉบับที่ 233

เรื่อง : อุราณี ทับทอง  ภาพ : สรยุทธ พุ่มภักดี

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

หน้าที่แห่งความสุข ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์หมอและผู้บริหาร FBT

 

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.