สำเร็จ

ความสำเร็จ ที่ไม่ได้มาจากโชคชะตา แต่มาจากความ “มีอันจะทำ” ของคุณฉัตรแก้ว คชเสนีย์

ความสำเร็จ ที่ไม่ได้มาจากโชคชะตา แต่มาจากความ “มีอันจะทำ” ของคุณฉัตรแก้ว คชเสนีย์

“นักธุรกิจสตรีดีเด่นประจำภาคใต้” เธอได้รับการยกย่องเช่นนั้น…

เธอเป็นใคร มาจากไหน มีความเป็นมาก่อนที่จะมาเป็น “สตรีดีเด่น”อย่างไร เราไม่สามารถหาข้อมูลได้ สิ่งที่ทราบมีเพียง ชื่อ - สกุล  “ฉัตรแก้ว  คชเสนีย์”  ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการบริษัทฉัตรทอง  พร็อพเพอร์ตี้  บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้คนในภาคใต้ต่างรู้จักเท่านั้น

…ทันทีที่คุณฉัตรแก้วเดินเข้ามา เราก็เริ่มต้นสัมภาษณ์ในบรรยากาศที่เป็นกันเองเธอหัวเราะเมื่อเราบอกว่า ประวัติเธอช่างลึกลับ  ก่อนจะเริ่มเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟัง…

“บ้านเรามีพี่น้อง 7 คน พี่เป็นคนที่ 2 เป็นลูกสาวคนโต แม่เป็นแม่ค้าขายของในตลาด ทำงานเช้าถึงค่ำทุกวัน พ่อก็ค้าขายตามแต่โอกาส พอถึงหน้าเงาะ ก็รับเงาะมาขาย ถึงหน้าไก่ ก็ซื้อไก่

“พ่อเป็นคนมุ่งมั่น แต่ด้วยความที่โชคไม่ค่อยดี หรือคงเพราะไม่มีความรู้ ทำให้ทำอะไรไม่ค่อยประสบความ สำเร็จ  แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังเห็นพ่อทำงานหนัก ล้มลุกคลุกคลานอยู่จนเราโต พ่อบอกเสมอว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม  เราต้องไม่โกงใคร” เมื่อนึกถึงพ่อคราใด ภาพที่พวกเราจดจำได้ไม่ลืมคือ ไม่ว่าจะล้มกี่ครั้ง พ่อจะลุกขึ้นมาใหม่ได้เสมอ

แม้จะไม่ร่ำรวยเงิน แต่ครอบครัวนี้กลับร่ำรวยความรัก ทุกเช้าแม่ของคุณฉัตรแก้วจะไปขายของที่ตลาดแต่เช้ามืดส่วนพ่อก็ขี่จักรยานไปส่งเด็ก ๆ ที่โรงเรียนพอถึงเวลาเที่ยง คุณย่าก็จะไปส่งกับข้าวเด็ก ๆ จะมานั่งรวมตัวกันเพื่อทานอาหารคุณย่าก็จะใช้ช่วงเวลานั้นสอนเด็ก ๆ

“ตอน ป. 1 เคยสอบตก ได้ที่สุดท้ายของห้อง เพราะเรามักจะไปช่วยแม่ค้าขายมากกว่า พ่อเลยบอกว่า ถ้าสอบตกจะไม่ให้เรียน พอปลายเทอมเลยตั้งใจเรียนจนสอบได้ที่ 9 ของห้อง”

ทุกวันเสาร์ - อาทิตย์  คุณฉัตรแก้วจะทำหน้าที่พาน้อง ๆ หิ้วปิ่นโตออกไปทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเก็บสตางค์ไว้ใช้เป็นค่าขนมบางคนไปรับจ้างปอกหัวหอม บ้างไปหั่นกุ้งปอกกระเทียม หรือห่อลูกอม

เมื่อโตขึ้น  จากที่เคยเป็นลูกจ้างคุณฉัตรแก้วเริ่มรับของมาขาย ขนมบ้างข้าวต้มมัดบ้าง โตขึ้นมาอีกหน่อยก็ขายฉลากจับเบอร์  โตขึ้นอีกนิดจึงขอให้ที่บ้านทำเพิงเพื่อทำลอดช่องขาย

“ราว ๆ ม. 3 ที่บ้านเริ่มวิกฤติจากการที่พ่อส่งข้าวสารไปขายมาเลย์ แม่ก็เลยต้องตระเวนซื้อข้าวสารในหาดใหญ่ โดยขอเชื่อเขาไว้ก่อน สุดท้ายเรือล่ม ข้าวสารจมลงทะเลหมด พ่อกับแม่ต้องกลายเป็นหนี้พอไม่มีเงินจ่ายหนี้ก็เลยต้องหนีไป”

ราวกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัด  เมื่อหัวหน้าครอบครัวทั้งสองคนต้องระหกระเหินออกจากบ้าน ลูก ๆ จึงต้องช่วยกันทำงานหาเงินตัวเป็นเกลียว  ในช่วงเวลานั้นเองแม่ก็ส่งข่าวมาบอกว่าเป็นมะเร็ง…

“ช่วงนั้นปิดเทอม เราเริ่มไม่อยากเรียนแล้ว เพราะแม่เป็นมะเร็ง ทำให้ไม่มีเงินเรียน และเราต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวแถมตอนนั้นย่าก็เป็นอัมพาตพอดี…หลังเลิกเรียนต้องรีบไปหาย่าที่โรงพยาบาลประสาทที่อยู่อีกจังหวัดหนึ่ง เพื่อทำกายภาพบำบัดเสร็จแล้วก็อ่านหนังสือ นอน ตอนเช้าต้องตื่นมาช่วยเช็ดตัว ทำกายภาพบำบัดให้ย่า แล้วรีบไปขึ้นรถเที่ยวแรกให้ทันเข้าโรงเรียน” ชีวิตของเธอวนเวียนอยู่อย่างนี้กว่า 3 - 4 เดือน ก่อนที่ผู้เป็นย่าจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้

ความทุกข์และความลำบากที่โหมกระหน่ำเข้ามาทำให้เธอเกือบท้อแท้ ทว่าคำพูดของน้าสาวที่ว่า “คนเราอย่าอยู่ให้เขาสงสาร ทำอย่างไรก็ได้ให้คนอื่นเขาอิจฉา”ทำให้คุณฉัตรแก้วตัดสินใจปาดน้ำตาแล้วกัดฟันสู้ต่อ จนสามารถสอบเข้าเรียนเคมีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้

“ตอนที่เรียนอยู่ ไปฝึกงานที่กรมวิชาการเกษตร ด้วยความที่ขยัน เวลารุ่นพี่ใช้อะไรเราก็ทำ พอเราจบปุ๊บ เขาก็เลยชวนไปสมัครงานในกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นลูกจ้างชั่วคราว  แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากเลยออกมาทำโรงงานปลากระป๋อง ‘โชติวัฒน์’ที่เพิ่งเปิด ตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายผลิต ตอนอายุ 24 ปี

“โรงงานเปิดเจ็ดแปดโมง แต่ไม่ว่าจะเลิกกี่โมงก็ตาม เราต้องเดินออกมาจากโรงงานเป็นคนสุดท้าย งานทุกอย่างเราจะเข้าไปฝึกหัด เข้าไปคลุกคลีกับคนงานตลอดเลยทำได้หมดทุกอย่าง ‘ทุกอย่าง’ ที่ว่านี้หมายถึงสากกะเบือยันเรือรบ ตั้งแต่ตรวจเอกสารยันติดฉลากปลากระป๋อง”

ด้วยความที่จบเคมี ไม่ใช่ฟู้ดไซน์ (สายอาหาร) โดยตรง คุณฉัตรแก้วจึงต้องอาศัยความพยายามมากกว่าคนอื่น ตั้งแต่ไปขอคำแนะนำจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ขอความรู้จากเพื่อน ไปฝึกงานที่โรงงานอื่น หรือแม้แต่ไปค้นหาหนังสือจากกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ แล้วถ่ายเอกสารมาอ่านด้วยตัวเอง

“ตอนที่ทำงานอยู่ บางทีก็มีลูกน้องที่กร่าง ๆ แต่เก่ง เป็นพวกหัวกะทิ จะมารังแกเราก็มี  แต่พ่อเคยสอนตั้งแต่เล็ก ๆ ว่าเราต้องสู้ จะกลัวไม่ได้ พ่อบอกว่า คนเราต้องมีทั้ง ‘พระเดชและพระคุณ’ พระเดชคือการใช้อำนาจอย่างเหมาะสม และพระคุณคือเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจกับเขา เพราะฉะนั้นใครที่ดี เราเลี้ยงดีมาก แต่ใครที่ไม่ดีเราต้องกล้าเชือดเลย”

จากนั้นไม่นาน คุณฉัตรแก้วก็แต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกับสามีอย่างมีความสุข ทว่า…หลังจากมีลูกคนที่ 3 สามีก็เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ

“ตอนนั้นพี่ชายบอกว่า ถ้าเรายังเป็นลูกจ้างคงไปไม่ถึงไหน เลยตัดสินใจลาออกมาทำปั๊มน้ำมัน ก่อนจะทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตั้งบริษัทฉัตรทอง พร็อพเพอร์ตี้ขึ้นมา”

ทว่า…ปี 2540 วิกฤติต้มยำกุ้งส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกภาครวมถึงธุรกิจของคุณฉัตรแก้วที่ทำเอาเธอแทบล้มทั้งยืน

“ด้วยความที่เราไม่เชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ เลยปล่อยหนี้ ปล่อยเครดิต พอปี  40 ธุรกิจอสังหาฯล้ม  เราก็เลยสะเทือนตอนนั้นออฟฟิศยังเป็นห้องแถว เช้า ๆ พอส่งลูกไปโรงเรียนเสร็จก็กลับมานั่งกลุ้มแต่ไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย เพราะแม่บอกว่าให้ดูคนอื่น ๆ ที่เขามีหนี้เป็นพันเป็นหมื่นล้าน เรามีหนี้แค่ร้อยล้านเอง

“ตอนแรกคิดจะปิดกิจการ เพราะตอนนั้นหากเขายึดบริษัท ยึดทรัพย์ไปก็ยังพอใช้หนี้ได้ แต่เราคำนึงถึงลูกน้องที่เขาร่วมเดินทางเติบโตมาพร้อมกับเรา เลยบอกตัวเองว่าล้มไม่ได้” สุดท้ายคุณฉัตรแก้วก็เลือกที่จะประคองบริษัทต่อไป  แม้ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม

“หลังจากนั้น 2 - 3 ปี น้องชายแนะนำให้ไปเรียน Effective Personal Productivity Program กับอาจารย์จุมพจน์  เชื้อสายซึ่งทำให้เราเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรมทุกอย่าง และตั้งเป้าหมายชีวิตได้ชัดเจนกว่าเดิม ตอนนั้นบอกตัวเองเลยว่า ‘เราเคยจนเคยลำบากมาแล้ว เราจะไม่ยอมกลับไปลำบากอีกแล้ว’” และเป้าหมายนั้นเองส่งผลให้คุณฉัตรแก้วกู้ธุรกิจตัวเองกลับคืนมาได้

ปัจจุบันคุณฉัตรแก้วขึ้นแท่นเป็นผู้บริหารกรรมการผู้จัดการและมีหุ้นอยู่ในกลุ่มบริษัทเครือฉัตรทอง ซึ่งมีทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง และกลุ่มการเกษตร อาทิ บริษัทพีแอนด์ซีปิโตรเลียม บริษัทสตูล อความารีน คัลเจอร์จำกัด และอื่น ๆ อีกกว่า 9 บริษัท…และเป็นนักธุรกิจสตรีดีเด่นประจำภาคใต้

“ทุกวันนี้ถือว่าประสบความ สำเร็จ แล้วเพราะว่าเรามาจากดิน คือมาจากระดับล่างคนทั่วไปอาจจะพูดว่าเรามีอันจะกิน แต่จริง ๆ แล้วเราเป็นคน ‘มีอันจะทำ’ มากกว่า คืออยากจะทำอะไรก็ได้ทำ ได้ผู้ใหญ่สนับสนุนอยากทำกิจกรรม ช่วยงานตรงไหนก็มีคนให้เราไปช่วย  แค่นี้ก็พอใจแล้ว” เพราะความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งในการ “มีอันจะทำ”  นั้นเอง ส่งผลให้เธอประสบความสำเร็จอย่างเช่นทุกวันนี้…

 

เรื่อง ณัฐนภ  ตระกลธนภาส
ภาพ วรวุฒิ  วิชาธร


บทความน่าสนใจ

อรรณพ จิรกิติ เจ้าของสีลมคอมเพล็กซ์ นักธุรกิจผู้คืนกำไรสู่สังคม

3 นักธุรกิจใจดีมีแต่ให้

อาจารย์หมอประทีป ไวคำนวณ เมื่อชีวิตพลิกจากนักธุรกิจสู่การเป็นหมอจิตอาสา

นักธุรกิจผู้ยึดหลัก อิทธิบาท4 และตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน เป้ พงศกร พงษ์ศักดิ์

ทนง ลี้อิสสระนุกูล นักธุรกิจหมื่นล้าน ผู้บริหารธุรกิจตามรอยพระยุคลบาท

ชลิดา อนันตรัมพร เพราะเป็น “แม่” จึงมีวันนี้ นักบัญชีผู้พลิกชีวิตเป็นนักธุรกิจพันล้าน

ดร.บุญยง ว่องวานิช ผู้เป็นดั่งอริยทรัพย์ในพุทธศาสนา

กว่าจะมีวันนี้ “ โจว ฉุนเฟย ” เศรษฐีจีน ผู้เป็นต้นแบบของความเพียร

หลิง จันทิมา ติยะวัชรพงศ์ เจ้าของสินค้าสุขภาพแบรนด์ Healthy Mate กับการค้นพบธรรมะ

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.