พรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน แจง วราพรรณ หงุ่ยตระกูล (1)

นี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน แจง วราพรรณ หงุ่ยตระกูล (1)

พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า ความจริงอย่างหนึ่งที่ผู้คนไม่อยากนึกถึงคือ ความตายสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลาŽ มีภาษิตทิเบตกล่าวว่า ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรจะมาก่อนŽ นี่คือความจริงที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ ใครที่คิดว่าพรุ่งนี้จะมาก่อนชาติหน้า ล้วนแต่คาดเดาด้วยความประมาททั้งนั้น เพราะเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า วันนี้จะไม่ใช่วันสุดท้ายของเรา พ้นจากวันนี้ไปแล้วก็อาจเป็นชาติหน้าเลย หามีพรุ่งนี้ไม่

ด้วยเหตุนี้พระไพศาลจึงแนะว่า เราควรหาโอกาสซ้อมตายบ่อยๆในชีวิตประจำวัน หรือเจริญมรณานุสติอยู่เสมอ นอกจากเวลาเดินทางแล้ว เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังข่าวอุบัติเหตุ พบเห็นโศกนาฏกรรม แทนที่จะสนใจและมองว่าเป็นเรื่องของคนอื่น ลองน้อมเข้ามาใส่ตัว

หรือโยงมาหาตัวเราเองบ้าง ว่าถ้าเป็นเรา เป็นลูกเรา เป็นพ่อแม่เรา เราจะทำอย่างไร บางคนกลัวไม่อยากนึกถึง แต่ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นการเตรียมใจรับกับสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ

การระลึกถึงความตายเป็นเรื่องดี ช่วยกระตุ้นเตือนใจให้ไม่ประมาท และสำหรับดิฉัน (แจง-วราพรรณ หงุ่ยตระกูล) เอง ครั้งหนึ่งความตายก็มายืนอยู่ใกล้ๆ เหมือนอยากจะเข้ามาเตือนอะไรบางอย่าง‚เหมือนอยากจะเข้ามาถามว่า สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ทำดีที่สุดแล้วหรือยัง หรือยังมีอะไรที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำอีกไหม เพราะเวลาในชีวิตอาจไม่ได้มากอย่างที่คิด

เวลาของแต่ละคนไม่เท่ากันŽ

ดิฉันเกิดที่จังหวัดแพร่ แต่มาใช้ชีวิตเรียนหนังสือและทำงานที่กรุงเทพฯ ชีวิตครอบครัวถือได้ว่าไม่ลำบากอะไร เพราะดิฉันเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้องสี่คนที่เกิดในช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งตัวได้แล้ว

หลังเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดิฉันก็ทำงานในวงการแสดง เริ่มจากละครเวที มาเป็นละครโทรทัศน์ รวมทั้งงานอื่นๆในแวดวงนี้ หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนสายงานมาอยู่วงการโฆษณา ก่อนที่จะลาออกมาเปิดบริษัทรับจัดงานอีเว้นท์ของตัวเองกับสามี (วิทยา ทรัพย์ธนะอุดม) อย่างในปัจจุบัน

ที่ผ่านมาดิฉันพบความจริงอย่างหนึ่งว่า เวลาของคนเราไม่เท่ากันŽ ตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดคือพี่ชายคนโตและเพื่อนสนิทที่เป็นกัลยาณมิตรในการปฏิบัติธรรม ทั้งสองคนจากดิฉันไปในเวลาที่คนส่วนใหญ่มองว่า ยังไม่สมควรŽ หรือ ยังไม่น่าจะถึงเวลาŽ

พี่ชายจากไปในวัยสามสิบกว่าๆ จำได้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลแห่งความสุข ผู้คนเฉลิมฉลอง ไปเที่ยวสนุกสนาน ครอบครัวของดิฉันก็เช่นเดียวกัน ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ พี่ชาย และญาติๆเหมารถตู้ไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกันโดยที่ครั้งนั้นดิฉันไม่ได้ไปด้วย แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อพี่ชายเสียชีวิตกะทันหัน จากการจมน้ำในโรงแรมที่พัก

ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากอะไรก็ตาม แต่ตอนนั้นสิ่งที่ดิฉันคิดมีเพียงเขาไม่น่าจากเราไปเร็วอย่างนี้ สิ่งต่างๆเกิดขึ้นเร็วมาก‚ขาไปพี่ชายนั่งไปในรถตู้ แต่ขากลับเขากลับนอนมาในโลงศพของมูลนิธิฯแทน ความไม่แน่นอนของชีวิต มันเหมือนจะสอนให้เห็นอยู่ตรงหน้า แต่ตอนนั้นดิฉันยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมจึงได้แต่เพียงรู้สึกเสียดายจนมาวันนี้เริ่มเห็นแล้วว่า เวลาของเขาคงมีมาเท่านี้Ž ซึ่งไม่ต่างกับกัลยาณมิตรอีกคนหนึ่งที่แข็งแรงดีทุกอย่าง แข็งแรงยิ่งกว่าดิฉัน แต่แล้วก็มาจากไปก่อนวัยอันควรจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อไม่นานมานี้

อย่างไรก็ตาม ความตายที่เกิดขึ้นกับคนอื่น อาจทำให้ดิฉันรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงได้บ้าง แต่ก็ยังไม่มากเท่ากับที่ความตายมายืนอยู่ตรงหน้าของตัวเองเหมือนเช่นวันนี้

มะเร็งŽ เหมือนคำที่ถูกสาป

ทุกวันนี้ แม้ดิฉันจะห่างไกลจากโรคมะเร็งแล้ว แต่สองปีก่อนตอนที่ มะเร็งŽ เข้ามาในชีวิต คำๆนี้เหมือนคำที่ถูกสาป เพราะแม้ตัวเองจะยอมรับสภาพ ยอมรับความจริงได้ แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือ การบอกคนที่เรารักว่าป่วยด้วยโรคนี้ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ดิฉันไม่อยากให้ท่านต้องพบเจอกับเรื่องทุกข์ใจใด ๆ แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อท่านได้รับรู้ความจริง สิ่งที่ดิฉันกังวลก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะนอกจากท่านจะยอมรับได้แล้ว ยังช่วยปลอบใจด้วยการยกตัวอย่างคนที่รู้จักที่ป่วยด้วยโรคนี้ แต่ก็หายขาดได้

ดิฉันรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งเมื่อต้นปี 2552 ตอนแรกรู้สึกเจ็บบริเวณเต้านมข้างซ้าย จึงไปอัลตร้าซาวนด์ และทำแมมโมแกรมที่โรงพยาบาล หลังจากทราบผล คุณหมอก็เรียกพบ วันนั้นดิฉันชวนสามีไปด้วย ทันทีที่เห็นสีหน้าคุณหมอ ดิฉันก็รู้แล้วว่าผลไม่น่าจะสู้ดี จึงถามท่านเลยว่าเป็นมะเร็งใช่ไหม ท่านตอบว่าใช่ เป็นระยะที่สอง หลังจากนั้นคุณหมอก็นัดผ่าตัด

คุณหมอตัดเต้านมข้างซ้ายไปหมด และเลาะต่อมน้ำเหลืองออกไปด้วย หลังจากนั้นก็แนะนำให้รับคีโม แม้ผลจากการรักษาจะทำให้ผมร่วง จนต้องใส่วิก แต่ดิฉันกลับคิดว่า การรักษาชีวิตให้อยู่รอดเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า

ฟังที่ดิฉันเล่า เหมือนดิฉันจะยอมรับความจริงได้ และเยียวยารักษาโรคไปตามขั้นตอน แต่ถ้าถามว่ากลัวตายบ้างไหม ก็มีบ้างที่วูบขึ้นมา แต่พอทำงานพูดคุยสนุกสนานมันก็เลือนๆไป และที่สำคัญ ต้องบอกว่าดิฉันโชคดีมากที่ก่อนหน้าที่จะป่วยได้ไม่นาน ดิฉันได้ไปปฏิบัติธรรม ทำให้มองเห็นความเจ็บ ความตายเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่เกิดขึ้น ดิฉันจึงคิดว่าธรรมชาติอาจกำลังมาเตือนเราว่า อย่าประมาทกับการใช้ชีวิต ชีวิตไม่ใช่เรื่องเล่นๆอย่าเล่นกับเขามาก อยากทำอะไรก็ให้รีบทำ อย่าหย่อนมากนัก ให้ลองนับถอยหลังว่าเวลาในชีวิตเราอาจเหลือไม่มากแล้ว มันอาจเหลือไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี ไม่กี่วันก็ได้

หลังจากไม่สบาย ดิฉันรู้สึกว่ามรณานุสติเกิดขึ้นกับตัวเองบ่อยขึ้น และมีทุกรูปแบบตั้งแต่กลัวตาย คิดมาก กังวล เตรียมตัวตาย จนกระทั่งต่อมารู้สึกว่า เขาให้เราอยู่เท่าไรก็เท่านั้นŽ คำพูดนี้ พระอาจารย์สุรศักดิ์ จรณธัมโม แห่งศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดผาณิตาราม จังหวัดฉะเชิงเทราพูดกับดิฉันตอนไปเยี่ยมอาการป่วย แม้ฟังดูเหมือนเป็นคำพูดง่ายๆแต่กลับโดนใจเป็นอย่างมาก ทำให้ดิฉันนำมาระลึกอยู่เสมอในการใช้ชีวิตประจำวัน

นอกจากนั้นดิฉันยังเคยคิดเล่นๆว่า เราเป็นมะเร็งได้อย่างไร ก็พบว่าคงมาจากการใช้ชีวิตของตัวเอง ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตที่ผ่านมาเราพยายามทำนั่นทำนี่ให้สำเร็จ เราภูมิใจ เราแอบมีอีโก้สูง และเราทำงานในธุรกิจที่พลาดไม่ได้ การรับงานอีเว้นท์ เมื่อรับมาแล้วต้องทำให้ดี เพราะคนที่จ้างเรามาเขาจัดงานหนึ่งครั้ง ต้องไม่พลาด เพราะถ้าพลาด คือไม่มีโอกาสแก้ตัว ดิฉันมีความสุขกับการทำงานที่ท้าทาย เสร็จงานก็มีความสุข แต่สุดท้ายก็พบว่ามันก็เท่านั้นแหละ

จนทุกวันนี้ ในการบริหารงาน ดิฉันจะบอกลูกน้องเสมอว่าขอให้ทำงานให้ได้ดีที่สุด แค่ไหนก็แค่นั้น ดิฉันเรียนรู้ว่าคนเราอาจมีพลาดกันได้ เหมือนที่เราเคยพลาดมาแล้ว ไม่ว่าจะดีหรือร้ายทุกอย่างจะผ่านไป เมื่อก่อนจะเป็นห่วงอนาคต กังวลโน่นนี่ ต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ ให้ดีที่สุด แต่ตอนนี้ผ่อนคลายลงกว่าเดิมมาก

ที่สำคัญ ท่ามกลางความเจ็บป่วยที่ผ่านมา ดิฉันได้เห็นน้ำใจ ความห่วงใยเอื้ออาทรจากคนรอบข้างมากมาย ทั้งญาติสนิท มิตรสหาย กัลยาณมิตร รวมถึงคนใกล้ตัวที่สุดอย่างสามี ที่ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงที่โชคดีเหลือเกิน หลายสิ่งหลายอย่างที่เขาทำให้ดิฉันเรียกได้ว่า…

เหนือความคาดหมาย โดยที่ดิฉันไม่ต้องเรียกร้องแต่อย่างใด‚

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.