หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ซึ่งได้รับการยกย่องจากนายแพทย์ประเวศ วะสี ว่าเป็นปรมาจารย์แห่งการเจริญสตินั้น ชื่อเดิมของท่านคือพันธ์ อินทผิว ส่วน “เทียน” นั้นเป็นชื่อบุตรชายของท่าน ธรรมเนียมของเชียงคานบ้านเกิดของท่านนิยมเรียกผู้ใหญ่ตามชื่อของลูกคนหัวปี (หรือคนโตที่ยังมีชีวิตอยู่) ใครต่อใครจึงรู้จักท่านในนามของ “หลวงพ่อเทียน”
พันธ์ อินทผิว เป็นคนที่ใฝ่ในการทำบุญตั้งแต่เล็ก เมื่อโตขึ้นได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็เป็นผู้นำชาวบ้านในการทำบุญเสมอมา นอกจากนั้นความที่ท่านเป็นพ่อค้า มีเรือค้าขายขึ้นล่องตามลำน้ำโขงไปจนถึงเมืองลาว ประสบความสำเร็จพอสมควร จึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมาก
เมื่ออายุราว 40 ปีได้เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้ท่านหันมาสนใจปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง ครั้งนั้นท่านเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่เมืองลาว ในงานมีมหรสพต่าง ๆ มากมาย เช่น หมอลำ ภาพยนตร์ ท่านได้ตกลงกับภรรยาว่า การใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนการจัดอาหารเลี้ยงแขก ยกให้เป็นหน้าที่ของภรรยา ส่วนตัวท่านเองจะรับอุโบสถศีลและรับแขกทางไกล
ครั้งถึงเวลาเช้าภรรยาของท่านมาถามว่าจะต้องจ่ายค่าหมอลำเป็นจำนวนเท่าใด ท่านรู้สึกโกรธมาก ท่านเล่าความรู้สึกตอนนั้นว่า “มันหนักจนลุกแทบไม่ได้ มันตำเข้าในใจ” แต่ท่านก็ข่มอารมณ์ไว้ และตอบด้วยสีหน้าปกติว่าเป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน อย่างไรก็ตาม ความโกรธนั้นยังคงคุกรุ่นในจิตใจของท่าน เมื่อเสร็จงานกฐิน ระหว่างรับประทานอาหารมื้อเย็นกับภรรยา ท่านเปรยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นตอนเช้าว่า “คนไม่รู้จักเคารพนับถือก็อย่างนี้แหละ” ท่านกล่าวซ้ำหลายหนจนภรรยาเอะใจ เมื่อสอบถามจนรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ภรรยาท่านก็พูดขึ้นว่า “เจ้าไม่พอใจละสิ…โอ เจ้าตกนรกแล้ว แม้ทำกองกฐินก็บ่ได้บุญดอกเจ้า”
คำพูดของภรรยากระทบใจท่านมาก ทำให้ได้คิดขึ้นมาว่า การทำบุญให้ทานนั้นไม่ได้ช่วยให้ท่านหายทุกข์เลย ท่านจึงหันมาสนใจการทำกรรมฐาน และตั้งใจว่าหากยังเอาชนะความทุกข์ไม่ได้ก็จะไม่เลิกละการทำกรรมฐาน
นับแต่นั้น ท่านได้ตัดสินใจว่าจะเลิกทำมาค้าขายเพื่อทำกรรมฐานอย่างเดียว แต่กว่าจะสะสางการงานและจัดการเรื่องเงินทองต่าง ๆ จนแล้วเสร็จก็ใช้เวลาถึงสามปี จากนั้นท่านก็แสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อแนะนำการปฏิบัติธรรม แต่ไม่พบวิธีที่จะช่วยแก้ทุกข์ของท่านได้ จนได้ทดลองปฏิบัติตามแบบของท่านเองด้วยการยกมือเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ พร้อมกับมีสติรู้กายตามไปด้วย ในยามที่ใจเผลอไปคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ ก็มีสติรู้ทันอาการของใจแล้วพาใจกลับมารู้กาย จนเกิดความรู้ตัวอย่างต่อเนื่อง ท่านทำเช่นนี้อยู่นาน จนเช้าวันหนึ่งขณะที่กำลังนั่งเจริญสติอยู่ จู่ ๆ แมงป่องแม่ลูกอ่อนตัวหนึ่งตกมาที่ขาของท่าน แล้วลูกมันก็ออกมาวิ่งตามขาของท่าน พอท่านเอาไม้มาแตะขา แมงป่องก็เกาะไม้นั้นไว้ ระหว่างที่ท่านเอาไม้และแมงป่องไปวางไว้ที่คันนา ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นที่ใจของท่าน เกิดปัญญาเห็นรูปนามรู้สมมติ เข้าใจไตรลักษณ์ เมื่อถึงตอนเย็นก็เกิดความเปลี่ยนแปลงอีก จนท่านรู้ชัดในอริยสัจและปรมัตถสภาวะ
นับแต่วันนั้น ท่านก็มั่นใจว่าได้พบสิ่งที่แสวงหามานาน ความทุกข์ใจที่เคยมีดับไปอย่างสิ้นเชิง ท่านจึงหยุดการแสวงหาและเริ่มแนะนำญาติมิตรให้รู้จักการเจริญสติด้วยวิธีดังกล่าว ในเวลาต่อมาก็มีคนมาเรียนกับท่านมากขึ้น แต่ท่านก็เห็นความจำกัดของเพศคฤหัสถ์ในการสอนผู้คน ในที่สุดจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อปี พ.ศ. 2503 ด้วยวัย 48 ปี เป็นเวลา 28 ปี ที่ท่านสอนลูกศิษย์อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยด้วยวิธีการที่เป็นแบบฉบับของท่านเองจนมรณภาพ
ที่มา : ลำธารริมลานธรรม ๒ – พระไพศาล วิสาโล สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ
รวม 3 สถานปฏิบัติธรรม เจริญสติในแนวทางเคลื่อนไหว – นิตยสาร Secret