ไซเดอร์ เครื่องดื่มรักษาอาการป่วยในเบื้องต้น
แม้จะเป็นเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยว มีกลิ่นฉุนขึ้นจมูก แต่บรรดาคนรักสุขภาพย่อมรู้ดีว่า ไซเดอร์ (Cider) เป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพและช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยได้
ยิ่งได้เดินสำรวจชั้นจำหน่ายอาหารสุขภาพในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพชั้นนำ เราก็จะพบไซเดอร์วางเรียงกันอยู่หลายชนิด ซึ่งอาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้
ชีวจิต จะมาแนะนำกระบวนการผลิตไซเดอร์แต่ละชนิด พร้อมประโยชน์ ซึ่งสามารถรักษาอาการป่วยในเบื้องต้นได้
รู้ลึกเรื่องไซเดอร์
คุณเบน วัตสัน (Ben Watson) ผู้เขียนหนังสือ Cider Hard & Sweet: History Traditional And Making Your Own อธิบายประวัติความเป็นมาของไซเดอร์ว่า
ไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่าใครเป็นผู้ผลิตและบริโภคไซเดอร์เป็นคนแรก เนื่องจากหลักฐานต่างๆ ได้สูญหายไปตามกาลเวลานอกจากนี้อาจเป็นเพราะมีการปลูกแอ๊ปเปิ้ลหลากหลายสายพันธุ์กระจายไปทั่วโลก ทำให้ไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าพื้นที่ใดมีการผลิตไซเดอร์เป็นแห่งแรก
ส่วน ไซเดอร์ มีกระบวนการผลิตอย่างไรและมีกี่ชนิดนั้น ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายสรุปไว้ดังนี้
แอ๊ปเปิ้ลเป็นผลไม้ชนิดแรกที่เรานำมาทำเป็น ไซเดอร์ อาจเรียกได้ว่า เป็นต้นแบบของไซเดอร์ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสับปะรดไซเดอร์ข้าวโพดไซเดอร์ ข้าวไซเดอร์
สำหรับการผลิตแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ คือ การนำแอ๊ปเปิ้ลสดมาคั้นโดยไม่ต้องกรอง น้ำแอ๊ปเปิ้ล ที่ได้เรียกว่า ไซเดอร์ (Cider) จะมีสีน้ำตาลขุ่นรสหวานอมเปรี้ยว ฝาด และมีกลิ่นหอมโดยความหวานนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในพันธุ์แอ๊ปเปิ้ลที่นำมาใช้
หากเก็บไซเดอร์ไว้ในตู้เย็น 3 – 5 วัน ยีสต์ธรรมชาติบางชนิดจะเปลี่ยนโมเลกุลน้ำตาลในไซเดอร์ให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกินร้อยละ 12 เราเรียกไซเดอร์ชนิดนี้ว่า ฮาร์ดไซเดอร์ (Hard Cider)
หากหมักฮาร์ดไซเดอร์ต่อไป เชื้อแอซีโตแบคเตอร์ (Acetobacter) จะเปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้กลายเป็นกรดแอซีติก (Acetic Acid) หรือกรดน้ำส้ม ซึ่งมีปริมาณกรดแอซีติกประมาณร้อยละ 5 น้ำไซเดอร์ชนิดนี้เรียกว่า ไซเดอร์วินีการ์ (Cider Vinegar)
สำหรับไซเดอร์วินีการ์เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดที่คนนิยมดื่มและนำไปใช้กัน เพราะสามารถเก็บได้นานกว่าไซเดอร์ชนิดอื่นๆ
เช็กไซเดอร์วินีการ์คุณค่าสูง
นอกจากแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์วินีการ์แล้ว ยังมีผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่เรานำมาผลิตไซเดอร์วินีการ์อีก
ดร.วิสิฐอธิบายต่อโดยสรุปว่า
ปริมาณสารอาหารในไซเดอร์แต่ละชนิดขึ้นอยู่กับผลไม้ที่นำมาผลิต ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีวิตามิน เกลือแร่ เอนไซม์ สารไฟโตเคมิคัล (Phytochemical) หรือสารพฤกษเคมี ซึ่งจัดเป็นสารแอนติออกซิแดนต์ที่ช่วยต้านมะเร็ง รวมถึงกระบวนการและระยะเวลาที่ใช้หมัก ซึ่งหากใช้เวลาในการหมักนาน ปริมาณสารอาหารบางชนิดในไซเดอร์อาจลดลงไปด้วย
นอกจากนี้ข้อมูลจากหนังสือ The Artisanal Vinegar Maker’s Handbook สำนักพิมพ์ Spikehorn Press อธิบายว่า ในไซเดอร์วินีการ์หรือนำส้มสายชู ยังประกอบด้วยเส้นใยที่จับตัวกันในรูปใยแมงมุมที่เกิดจากกระบวนการหมักของเชื้อแบคทีเรียและเอนไซม์ เรียกว่า มาเทอร์ (Mother) ทำให้สามารถฆ่าเชื้อรา เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย