ว่าด้วยเรื่องของ ริดสีดวง ถาม-ตอบหมดเปลือกไม่ต้องอาย ถ้าอยากหายเรามีคำตอบ
ริดสีดวง เป็นโรคที่พบบ่อย และเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ วันนี้ เราจะมาทำความเข้าใจกับเจ้าโรคนี้กัน เพื่อให้ทุกคนรับมือได้อย่างถูกวิธี
ถาม : ริดสีดวง คืออะไร
ตอบ : ริดสีดวงทวารหนักคือกลุ่มหลอดเลือดบริเวณเยื่อบุทวารหนักโป่งพอง ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ โดยอาการที่พบมีหลากหลาย ที่พบบ่อยคือ ปวดบริเวณทวารหนัก ถ่ายเป็นเลือดสีแดงสด มีก้อนยื่นหรือคลำได้ก้อนที่ทวารหนัก เป็นต้น
ถาม : สาเหตุของริดสีดวงเกิดจากอะไร
ตอบ : ริดสีดวงเกิดจากภาวะที่ต้องออกแรงเบ่งมาก อาทิ ท้องผูก ถ่าย 2 – 3 วันครั้ง แต่ละครั้งนั่งถ่ายนานไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง เมื่อไปโดนริดสีดวงจึงค่อย ๆ มีขนาดใหญ่ขึ้นจนย้วยลงมาถึงปากทวารหนัก นอกจากนี้การนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ หรืออ่านการ์ตูนขณะถ่ายอุจจาระจะมีการเบ่งเป็นช่วง ๆ โดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้ริดสีดวงค่อย ๆ โตขึ้นได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงการเกิด ริดสีดวง
- ภาวะท้องผูกเรื้อรัง
- คนที่ท้องเสียบ่อย หรือถ่ายอุจจาระวันละหลายครั้ง
- เวลาขับถ่ายมักต้องเบ่งอุจจาระแรงเพื่อขับอุจจาระก้อนสุดท้ายเสมอ
- นั่งถ่ายอุจจาระนาน ตัวอย่างเช่น คนที่ชอบอ่านหนังสือขณะถ่ายอุจจาระ
- ติดยาสวนอุจจาระ และยาระบาย ทำให้เริ่มไม่ปวดถ่ายเอง และหากไม่ใช้ยาก็ต้องนั่งถ่าย
- การตั้งครรภ์ ทำให้ถ่ายอุจจาระไม่สะดวก และเลือดดำในอุ้งเชิงกรานไหลกลับสู่ตับไม่สะดวก เนื่องจากความดันภายในช่องท้องเพิ่มขึ้น
- โรคตับแข็ง ทำให้เลือดดับไหลเข้าสู่ตับไม่ได้ เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักจึงโป่งพอง
- อายุมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณทวารหนักหย่อนยานลง เบาะรอง (ก้อนเนื้อที่นูนออกมารอบผนังรูทวารหนัก) จึงเลื่อนลงมาจนยื่นออกมาทางทวารหนัก
- กรรพันธุ์ เพราะคนที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป
ถาม : ทำไมหญิงตั้งครรภ์ถึงเป็นริดสีดวงได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
ตอบ :เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลงและระบบไหลเวียนเลือดเปลี่ยนไปส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณริดสีดวงมากขึ้น ริดสีดวงทวารจึงพบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตรระยะแรก จึงแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์นอนตะแคงด้านซ้ายเพื่อให้เลือดไหลเวียนกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น
ถาม : การตรวจวินิจฉัยริดสีดวง
ตอบ : แพทย์จะทำการตรวจทวารหนักอย่างละเอียด เริ่มจากการสวมถุงมือแล้วใช้เจลช่วยหล่อลื่น จากนั้นจะใช้นิ้วคลำด้านในทวารหนักของผู้ป่วยว่ามีก้อนหรือไม่เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ หรืออาจให้ผู้ป่วยเบ่งเหมือนจะถ่ายเพื่อให้กล้ามเนื้อหูรูดเปิดออก จากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องมือลักษณะเป็นกล้องสั้นๆ ที่หล่อลื่นด้วยเจลค่อยๆ สอดเข้าไปในทวารหนักแล้วส่องไฟ เพื่อให้ตรวจประเมินวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน
ถาม : การรักษาริดสีดวง
ตอบ : การรักษาริดสีดวงขึ้นอยู่กับสาเหตุที่พบในผู้ป่วยแต่ละคน หากผู้ป่วยท้องผูกจนเป็นริดสีดวง แพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 – 3 ลิตร รับประทานอาหารที่มีกากใยไฟเบอร์มากขึ้น แต่หากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่หาย ยังมีวิธีการรักษาริดสีดวงอย่างการฉีดยาบริเวณที่เป็นริดสีดวง, การรัดยางที่ริดสีดวง, การใช้เลเซอร์จี้ริดสีดวง, การใช้ PPH (Procedure for prolapse and hemorrhoids) เครื่องมือรักษาริดสีดวงอัตโนมัติ, การผ่าตัดริดสีดวง เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาโดยขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นสำคัญ
พิชิต ริดสีดวง สไตล์ชีวจิต
ปรับอาหารด้วยสูตรชีวจิต
(ข้าวกล้อง 50 เปอร์เซ็นต์ ผัก 25 เปอร์เซ็นต์ โปรตีนจากพืช 15 เปอร์เซ็นต์ เบ็ดเตล็ด 10 เปอร์เซ็นต์) และกินสับปะรดอย่างน้อยหนึ่งเสี้ยวถึงครึ่งผลทุกวันรวมถึงคั้นน้ำสับปะรดดื่มวันละแก้ว (อย่าใช้น้ำสับปะรดกระป๋อง) ทั้งกิน ทั้งดื่มประมาณหนึ่งสัปดาห์ สับปะรดจะช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยให้การขับถ่ายสะดวกดีขึ้น
น้ำส้มสายชูแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์
ใช้ 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำสุกเล็กน้อย (4 ช้อนโต๊ะ) แล้วจิบตลอดวัน ช่วยแก้อาการคันและแสบของริดสีดวงได้
ทำดีท็อกซ์ตอนเช้า
ควรใช้น้ำมันหล่อลื่นหรือครีมแก้ริดสีดวงทาที่ปลายสายยางสำหรับทำดีท็อกซ์จนเยิ้ม อย่าให้ปลายสายฝืดเป็นอันขาด ต้องหล่อลื่นให้มากๆ
อย่ากินเค็ม
การกินเค็มทำให้อ้วน และทำให้น้ำอยู่ในร่างกายมาก น้ำมากทำให้เส้นเลือดพอง ริดสีดวงจะพองโตตามไปด้วย
สร้างสุขนิสัยที่ดีในการขับถ่าย
ได้แก่ ควรถ่ายให้เป็นเวลา ไม่นั่งถ่ายหรือเบ่งอยู่นานๆ และเมื่อปวดก็อย่าอั้นไว้ ควรถ่ายทันที เพื่อป้องกันการเกิดริดสีดวง
หลังอุจจาระควรใช้น้ำล้าง
และหลีกเลี่ยงการใช้กระดาษเช็ด
ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
เช่น โซฟาหรือตู้ เพราะจะก่อให้เกิดแรงกดที่ก้น ทำให้คนที่เป็นริดสีดวงอยู่แล้วอาการกำเริบได้เช่นกัน
ถาม : ถ้าไม่ใช่ ริดสีดวง แต่เป็นมะเร็งลำไส้ตรงสังเกตได้อย่างไร
ตอบ : หากถ่ายเป็นเลือดร่วมกับอุจจาระผิดปกติอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ตรง แพทย์จะทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และตัดชิ้นเนื้อบางส่วนเพื่อนำไปตรวจเช็กมะเร็ง การรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาดของมะเร็ง ระยะมะเร็ง และการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย
สมุนไพรช่วยบรรเทาอาการ ริดสีดวง
- แมงลัก มีความชุ่มชื้น โดยสามารถใช้เมล็ดแมงลัก 1 ช้อนแกง ผสมน้ำสุกอุ่น ทิ้งให้บานเต็มที่ ใส่น้ำมากหน่อย ดื่มก่อนนอน
- กระเจี๊ยบมอญ ช่วยหล่อลื่น ลดการอักเสบ โดยสามารถรับประทานเป็นผักในปริมาณมากๆ ต่อเนื่องเป็นประจำ
- เม็ดในมะม่วง มีความมันช่วยหล่อลื่น ความฝาดช่วยกระชับสมาน โดยนำมาหั่นตากแห้ง บดผง ผสมน้ำเชื่อมหรือน้ำผึ้ง ปั้นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทรา รับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร
- บัวบก โดยใช้ใบคั้นน้ำดื่ม หรือต้มดื่มเป็นประจำ
- ย่านาง ใช้รากย่านางสดหรือแห้ง 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 3-4 แก้ว ต้มเดือด 30 นาที ดื่มแทนน้ำครั้งละ 1 แก้ว
- ไผ่ เป็นยาเย็น โดนนำต้นและรากไผ่รวกอย่างละ 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมยา เติมเกลือแกงเล็กน้อย พอให้มีรสเค็ม ดื่มแทนน้ำ หรือวันละ 4-5 แก้ว นาน 15 วัน
- หญ้าปักกิ่ง มีฤทธิ์เย็น ต้านการอักเสบ ช่วยลดความร้อนในร่างกายและลดการอักเสบ โดบแบบแคปซูล ให้รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล ก่อนอาหาร 3 มื้อ ต่อเนื่องจนอาการดีขึ้น
- เหงือกปลาหมอ สมุนไพรรสร้อน มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยใช้เหงือกปลาหมอกับพริกไทยในสัดส่วน 2 : 1 ตากแห้ง ตำผง ผสมน้ำผึ้ง ทำเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทราไทย รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ก่อนอาหาร วันละครั้ง
- อัคคีทวาร อีกหนึ่งสมุนไพรรสร้อน มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยใช้อัคคีทวารทั้งห้า ต้นกระเจี๊ยบแดงทั้งห้า และหัวข้าวเย็นเหนือ อย่างละ 5 บาท ใส่น้ำให้ท่วมยา ต้มเดือดนาน 20 นาที รับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหาร โดยรับประทานประมาณ 7 วัน
ข้อมูลจาก คลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ