ไรอ่อน สครับไทฟัส ไข้รากสาดใหญ่

เดินป่าหน้าหนาวระวัง ไรอ่อน เสี่ยงป่วยไข้รากสาดใหญ่

ไรอ่อน ช่วงหน้าหนาว เสี่ยงป่วยไข้รากสาดใหญ่

ไรอ่อน อาศัยอยู่ในหนูเป็นพาหะนำโรค ทำให้เกิดโรคไข้ไรอ่อนหรือโรคไข้รากสาดใหญ่ (scrup typhus)  ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ชื่อ O. tsutsugamushi  ติดต่อทางบาดแผลที่ถูกตัวอ่อนของตัวไรอ่อนกัดนั่นเอง

เช่นเดียวกับกรณีสาวรายหนึ่งที่โพสต์เตือนภัยในเฟซบุ๊ก หลังจากที่ตัวเองกลับมาจากเที่ยวจังหวัดเชียงราย ช่วงหน้าหนาว ถูกไรอ่อนกัด เป็นแผลคล้ายถูกจี้ด้วยบุหรี่ ทำป่วยจนทำให้ต้องป่วยเอาตัวเองแทบไม่รอด ซึ่งหมอระบุว่า เป็นโรคไข้รากสาดใหญ่

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในช่วงฤดูหนาวมีประชาชนจำนวนมาก นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวตามดอยสูงและท่องเที่ยวเดินป่า เพื่อชมความงามของธรรมชาติ และสัมผัสกับอากาศที่หนาวเย็น แต่ภัยที่จะมาจากป่าเขาหรือพื้นที่ชนบท ก็คือ โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus)หรือไข้รากสาดใหญ่ ที่เกิดจากการถูกตัวไรอ่อนกัด

ไรอ่อน สครับไทฟัส ไข้รากสาดใหญ่
ภาพจาก amarin TV

อาการของโรคไข้รากสาดใหญ่

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ และแนะนำประชาชนให้ระมัดระวังโรคนี้ เพราะส่วนใหญ่ประชาชนจะถูกกัดในร่มผ้า เช่น ขาหนีบ เอว ลำตัว รักแร้ หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ตาแดง ปวดกระบอกตา ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 50 จะพบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ บริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด ลักษณะมีสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง พบประมาณ 1 ใน 5 เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า โรคนี้พบผู้ป่วยได้ตลอดปี มักพบในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน นักล่าสัตว์ นักท่องป่า ทหาร และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า จะพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว โดยตัวไรแก่จะอาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน เมื่อฟักเป็นตัวอ่อน ไรอ่อนจะกระโดดเกาะสัตว์ เช่น หนู กระแต หรือคนที่เดินผ่าน เพื่อดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร

จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคสครับไทฟัส โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  ผู้ป่วยเกือบร้อยละ 90 อาศัยในเขตชนบทและป่าเขา โดยโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มียารักษาให้หายได้

วิธีป้องกันไรอ่อนกัด

ขอให้ประชาชนที่จะไปท่องเที่ยวตั้งแคมป์ไฟ กางเต็นท์นอนในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า พุ่มไม้ ป่าละเมาะ แต่งกายให้มิดชิด สวมรองเท้า สวมถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกง ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บชายเสื้อเข้าในกางเกง ทายาป้องกันแมลงกัดตามแขนขา หลังออกจากป่าให้รีบอาบน้ำ และซักเสื้อผ้าที่สวมใส่ทันที เพราะตัวไรอาจติดมากับเสื้อผ้าได้ และภายหลังจากกลับจากเที่ยวป่า หรือกางเต็นท์ภายใน 2 สัปดาห์หากป่วย มีไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ หรือตรวจพบสะเก็ดแผล ที่มีรอยไหม้คล้ายถูกบุหรี่จี้ที่ผิวหนัง ขอให้นึกถึงโรคนี้ และควรรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่า เพื่อรับการรักษาโดยเร็วป้องกันการเสียชีวิต หากตรวจพบว่าเป็นโรค ให้รับประทานยาปฏิชีวนะครบตามแพทย์สั่ง และไปติดตามผลการรักษาตามนัด

ช่วงอากาศหนาวแบบนี้จะขึ้นดอย กางเต้นค้างคืน ระวังตัวกันด้วยนะคะ เดี่ยวไรอ่อนกัดให้โดยไม่รู้ตัว

อ้างอิง : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และคู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

บทความน่าสนใจ

ปรอทวัดไข้ อีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญเพื่อผู้สูงวัยในบ้าน!

เทคนิคเลือกซื้อ “เตียงคนไข้” แบบมีเหตุผล รับรองได้ของดี คุณภาพโดนใจ!!

ไข้เลือดออก ไข้เดงกี โรคหน้าฝนที่สาวๆ แพ้ยุงควรระวัง

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.