ปวดหัว

ปวดหัวไมเกรน รักษาได้ ไม่ต้องพึ่งยา

ปวดหัวไมเกรน รักษาอย่างไร

รอบตัวตอนนี้คงพบคนที่มีอาการ ปวดหัวไมเกรน กันถ้วนหน้า แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากอยู่ วันนี้เราจึงมาแนะนำการรับมือกับอาการไมเกรน โดยอ้างอิงข้อมูลจาก บทความสุขภาพ เว็บไซต์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดย ผศ.ดร.นพ.ธนินทร์ อัศววิเชียรจินดา

ไมเกรนคืออะไร

ไมเกรน (Migraine) คืออาการปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพหรือสาเหตุในโพรงกะโหลกศีรษะ (primary headache) เกิดจากมีการหลั่งสารสื่อประสาทที่จะนำไปสู่ขบวนการอักเสบ (proinflammatory peptides) ที่ปมประสาทของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (trigeminal ganglion) ทำให้เกิดการอักเสบปราศจากเชื้อโรคที่เยื่อหุ้มสมอง (sterile meningeal inflammation) ไมเกรนมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ โดยมีตัวกระตุ้น เช่น แสง เสียง กลิ่น ควัน อากาศร้อนและอบอ้าว เป็นต้น แม้ว่าจะรักษาไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการปวด และป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะได้

ปวดหัว,ปวดหัวเรื้อรัง, แก้ปวดหัว, ไมเกรน, บรรเทาอาการปวดหัว ปวดหัวไมเกรน
ปวดหัว ปวดไมเกรน

อาการ

อาการของไมเกรน สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 อาการบอกเหตุล่วงหน้า

ระยะที่ 2 อาการนำ

ระยะที่ 3 อาการปวดศีรษะ

และระยะที่ 4 กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

โดยอาการปวดศีรษะในระยะที่ 3 มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

สำหรับหลักเกณฑ์การวินิจฉัยอาการปวดศีรษะไมเกรน ทางสมาคมปวดศีรษะนานาชาติได้ตั้งหลักเกณฑ์การวินิจฉัยไว้ว่าจะต้องมีอาการปวดศีรษะอย่างน้อย 5 ครั้งครบตามหลักเกณฑ์ ทั้ง 3 ข้อ และไม่เข้ากับหลักเกณฑ์การวินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดศีรษะชนิดอื่น ดังต่อไปนี้

  1. ระยะเวลาในการปวดศีรษะ 4-72 ชั่วโมง
  2. มีอาการอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อ ได้แก่ อาการปวดศีรษะข้างเดียว ปวดศีรษะแบบตุบๆ  ปวดศีรษะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก หรืออาการปวดศีรษะเลวลงเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการเดิน การขึ้นบันได
  3. มีอาการอย่างน้อย 1 ใน 2 ข้อ ได้แก่ อาการคลื่นไส้และ/หรืออาเจียน หรืออาการกลัวแสงและกลัวเสียง

สำหรับความชุกของอาการปวดศีรษะไมเกรน จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า เพศหญิงมีความชุกมากกว่าเพศชายเป็นสัดส่วน 2 ต่อ 1 ถึง 3 ต่อ 1 และความชุกจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยมีความชุกสูงสุด ที่อายุประมาณ 40 ปี อาการปวดศีรษะไมเกรนสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ อาการปวดศีรษะเป็นครั้งคราว (episodic migraine) โดยมีความถี่อาการปวดศีรษะน้อยกว่า 15 วันต่อเดือน และอาการปวดศีรษะเรื้อรัง (chronic migraine) โดยมีความถี่อาการปวดศีรษะอย่างน้อย 15 วันต่อเดือนเป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือน

การป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน

ผู้ป่วยไมเกรนแต่ละรายควรสังเกตปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึ่งมักจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ปัจจัยกระตุ้นเป็นได้ทั้งจากสภาวะแวดล้อม หรืออาหารบางประเภท ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นได้ ก็จะช่วยป้องกันอาการปวดศีรษะได้ ในกรณีที่ไม่ทราบปัจจัยกระตุ้นหรือไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นได้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ บริหารจัดการความเครียด ก็จะช่วยป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะได้ ปัจจัยกระตุ้นที่พบบ่อยได้แก่

  1. ภาวะอดนอน นอนดึก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
  2. อาการเหนื่อยล้าจากการทำงานหรือเล่นกีฬา
  3. ความเครียด
  4. การอยู่ในที่ที่มีแสงจ้า ๆ
  5. สถานที่ที่มีเสียงดังอึกทึก
  6. อาหารบางประเภท เช่น เนย ช็อคโกแลต ถั่ว อาหารหมักดอง
  7. เครื่องดื่ม ได้แก่ ไวน์แดง เบียร์ หรือ แชมเปญ
  8. ภาวะอดอาหาร

การรักษา

ไมเกรน มีการรักษาขณะที่มีอาการปวดศีรษะอยู่ 2 วิธี ได้แก่

  1. วิธีที่ไม่ต้องใช้ยา เช่น นอนพัก บีบนวด ประคบเย็น หรือฝังเข็ม แต่ยังไม่เป็นการรักษามาตรฐาน
  2. วิธีที่ใช้ยา

หากยังมีอาการปวดศีรษะถี่ หรืออาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ปวดหัว หมายถึงโรคอะไรได้บ้าง

สูตรธรรมชาติ สยบ อาการปวดหัว

ปวดหัว แบบนี้มักจะเป็น… By กูรูต้นตำรับรับชีวจิต

ปวดหัวตรงขมับ คือสัญญาณของโรคอะไร และควรแก้อย่างไร เรามีคำตอบ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.