การปฏิบัติธรรม

Dhamma Daily : พระอาจารย์มานพ อุปสโม ตอบปัญหาเกี่ยวกับ การปฏิบัติธรรม

Dhamma Daily : พระอาจารย์มานพ อุปสโม ตอบปัญหาเกี่ยวกับ การปฏิบัติธรรม

ซีเคร็ต ได้รวบรวมการตอบปัญหาเกี่ยวกับ การปฏิบัติธรรม ของพระอาจารย์มานพ อุปสโม ไว้ดังนี้
1
ถาม : ตอนไปปฏิบัติธรรมมีกฎให้ปิดวาจา อยากทราบความหมายของคําว่า ปิดวาจา หมายถึงไม่พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ ไม่น่าจะหมายความว่าห้ามพูดโดยเด็ดขาด ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกหรือไม่คะ
2
ตอบ : ปิดก็คือไม่เปิด ปิดวาจาก็คืองดพูด เพราะว่าพูดแล้วอาจเกิดปัญหา คนเราเวลาพูดกันไม่ได้คุยกันแต่เรื่องของสองคน มักจะพาดพิงถึงคนอื่น เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา ถือเป็นการส่งจิตออก ทําให้จิตว้าวุ่น ขณะเดียวกันคนสองคนคุยกันก็มีปัญหาได้ คือชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง การคุยกันจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อการกระทําความเพียร จึงควรงดคุย คนสองคนก็ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกัน แต่จริง ๆ แล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สรรเสริญการงดพูดโดยเด็ดขาด สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงดํารงพระชนม์ชีพอยู่ มีพระสงฆ์ไปจําพรรษาร่วมกันหลายรูปในป่าโดยตั้งกติกาไม่คุยกัน ยกเว้นกรณีที่อุบาสกอุบาสิกาถาม เมื่อไปบิณฑบาต พระจะอมน้ำ ถ้าโยมไม่ถามก็จะอมอยู่อย่างนั้น ถ้าโยมถามก็กลืนน้ำแล้วตอบ เมื่อถึงวันพระพระก็จะมาพบกันครั้งหนึ่ง แต่ผลคือ มีพระรูปหนึ่งหาย ก็สอบถามกันว่าไปไหน ได้คําตอบว่าพระรูปนั้นถูกเสือกิน แต่ตั้งกติกาปิดวาจา จึงไม่ได้บอกกัน ดังนั้นการจําพรรษาด้วยกันแล้วไม่พูดกัน บางครั้งก็ทําให้เกิดโทษได้ จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าควรพูดเวลาใด
……………………………………………
ถาม : ในขณะเดินจงกรมมักรู้สึกง่วง แต่เมื่อเราเห็น มันก็จะหายไป แต่เวลานั่งสมาธิ ความง่วงเกิดขึ้นมักมองไม่เห็น ทําให้เคลิ้มหลับไปเลย มีวิธีแก้ไขอย่างไรคะ
3
ตอบ : ต้องใส่ใจให้ชัดเจน ดูด้วยจิตที่มีกําลัง ตั้งใจมองเข้าไปในความรู้สึกง่วง ความง่วงคือความรู้สึกท้อถอย จิตถดถอยต่อการรับรู้อารมณ์ การดูความง่วงจึงต้องออกกําลังมากเหมือนการจะกระโดดข้ามท้องร่อง หากยืนที่ปากท้องร่องแล้วกระโดดข้ามก็ข้ามไม่ได้ ถ้าจะข้ามให้ได้ต้องถอยหลังก่อน เช่นกัน การขจัดความง่วงต้องตั้งสติเพิ่มขึ้นไปอีกสองเท่า และมองบ่อย ๆ ก็จะทันความรู้สึก
……………………………………………
ถาม : นั่งสมาธิไปสักพักหนึ่งแล้วเกิดอาการเวียนหัวขึ้นมา ต้องแก้อย่างไรครับ
4
ตอบ : ต้องสํารวจดูการนั่งว่าเรานั่งท่าไหน นั่งแล้วสบายหรือไม่ มีการเกร็งหรือเปล่า ถ้าเกร็งก็แก้ไข ส่วนมากการเวียนศีรษะเกิดจากการเกร็ง ฉะนั้นจึงปรับท่านั่งให้สบาย ๆ มองดูลมหายใจเข้าออกเฉย ๆ อาการเวียนศีรษะจะหายไปเอง
……………………………………………
ถาม : การนั่งสมาธิต้องหลับตาเท่านั้นใช่หรือไม่ หากใช้วิธีลืมตาหรือทอดสายตาลงต่ํ่าจะทําได้ไหม เพราะหลับตาแล้วใจจะเกิดมโนภาพตลอดเลยค่ะ
5
ตอบ : วิธีปฏิบัติที่อยู่ในสติปัฏฐาน 4 มีเพียงแต่ว่า นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดํารงสติไว้เฉพาะหน้า นั่งคู้บัลลังก์คือนั่งขัดสมาธิแบบพระพุทธรูป เท้าข้างหนึ่งซ้อนลงบนเท้าอีกข้างหนึ่ง วางมือสบาย ๆ ไม่ได้มีท่ากําหนดชัดเจน จากนั้นตั้งกายให้ตรงและมีสติเสมอ ไม่ได้มีข้อกําหนดว่าต้องนั่งหลับตาหรือลืมตา จึงสามารถทําได้ทั้งคู่ ที่ต้องคํานึงคือใส่ใจดูอารมณ์ให้ทันเท่านั้น
…………………………………………….
ถาม : ขณะที่นั่งสมาธิดูลมหายใจไปสักพัก ลมหายใจก็หายไป มีแต่ความว่างเปล่า อาการเช่นนี้คืออะไรหรือคะ
6
ตอบ : ขณะที่พิจารณาลมหายใจแรก ๆ ลมหายใจของเรายังหยาบอยู่ จึงปรากฏชัด เมื่อพิจารณาไปเรื่อย ๆ ลมหายใจก็ละเอียดขึ้น จนเราตามดูไม่ทัน แต่จริง ๆ ยังมีอยู่ ถ้าปฏิบัติถึงขั้นนี้ให้เรามองดูบริเวณที่ลมหายใจเคยกระทบ ตั้งใจและใส่ใจดู เราก็จะมองเห็นลมหายใจ นั่นคือการที่จิตเริ่มเป็นสมาธินั่นเอง
…………………………………………….
ถาม : รบกวนพระอาจารย์ช่วยอธิบายความรู้สึกของเวทนา จิต และธรรม ให้ฟังหน่อยค่ะ
7
ตอบ : เวทนาเป็นความรู้สึก 3 อย่าง คือ สบาย ไม่สบาย และเฉย ๆ เมื่อมองเข้าไปในจิต เราจะเห็นความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง รู้สึกสบายคือสุขเวทนา ไม่สบายคือทุกขเวทนา เฉย ๆ คืออุเบกขาเวทนา
00
จิตคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในทวารทั้ง 6 คือ รับรู้ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้สึกในความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึงบนร่างกาย การนึกคิดโดยตรงก็เป็นจิต เมื่อดูความรู้สึกตรงนี้ก็จะเห็นความเป็นจริง เรียกว่าวิปัสสนา ทําให้เกิดปัญญา
22
ส่วนธรรมคือ อารมณ์ต่าง ๆ ของความรู้สึกที่มาปรากฏให้รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อธิบายง่าย ๆ ว่า ความรู้สึกที่นอกเหนือจากเวทนากับจิตจัดเป็นธรรม
……………………………………………..
ถาม : มีวิธีดูจิตขณะเดินจงกรมอย่างไรให้ได้ตลอดโดยที่จิตไม่ไปไกล
8
ตอบ : มองไปในตัว จิตก็ไม่ไปที่อื่นแล้ว อย่าทิ้งการมองดูตัวเราเอง มองดูตัวเอง จิตก็อยู่ในตัว หยุดมองดูตัวเอง จิตก็ไปข้างนอก แล้วเราก็ห้ามไม่ได้ แต่เราสามารถสกัดได้โดยการเข้ามามองภายใน ก็จะเริ่มเห็นความเป็นจริง ก็ให้ตั้งใจดู แล้วจิตก็จะไม่เตลิดไปไกล ในขณะเดินจงกรม ให้เราเดินไปด้วย ดูความรู้สึกไปด้วย ฝึกดูความคิดบ่อย ๆ จิตก็จะไม่ส่งออก ไม่ทุรนทุราย ไม่ซัดส่าย
9
ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต ฉบับที่ 194
ภาพ : pixabay
หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคําแนะนําแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคําถามมาได้ที่ Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.