กรมควบคุมโรค แนะนำวิธีป้องกัน หัดเยอรมัน ระบาดในญี่ปุ่น
หัดเยอรมัน ระบาดในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อคนไทยที่จะไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดเมื่อวันที่ (2 พฤศจิกายน 2561) กรมควบคุมโรคออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปต่างประเทศต้องมีวิธีการป้องกันที่ถูกต้อง
หัดเยอมัน ระบาดในประเทศญี่ปุ่น
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ของโรคหัดเยอรมันในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด แนะควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงกว่ากลุ่มอื่น ส่วนประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหัดเยอรมันลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบเฉลี่ยประมาณ 200 รายต่อปี
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีที่มีรายงานข่าวการระบาดของโรค หัดเยอรมัน ที่ประเทศญี่ปุ่น นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า
“ในปีนี้ประเทศญี่ปุ่นมีรายงานผู้ป่วยโรคหัดเยอรมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันมีรายงานทั้งหมด 1,468 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2561) ไม่มีผู้เสียชีวิต
ส่วนสถานการณ์ของโรคหัดเยอรมันในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า
มีรายงานผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยประมาณ 200 รายต่อปี โดยในปี 2560 ตลอดทั้งปีมีผู้ป่วย 261 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนในปี 2561 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 25 ตุลาคม 2561 มีรายงานผู้ป่วย 269 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเช่นกัน
ซึ่งในขณะนี้กรมควบคุมโรค ได้ติดตามสถานการณ์ของโรคหัดเยอรมันในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และทำการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดและดำเนินมาตรการที่เหมาะสม
โรคหัดเยอรมัน คืออะไร
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หัดเยอรมัน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ติดต่อจากการไอ จาม หรือใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อ ส่วนอาการสำคัญคือมีไข้ร่วมกับมีผื่นประมาณ 2-3 วัน
โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรง แต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เพราะหากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อแล้ว ทารกในครรภ์อาจเกิดภาวะพิการแต่กำเนิด หูหนวก ตาเป็นต้อกระจก เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีภาวะผิดปกติทางสมอง และอวัยวะภายในไม่สมบูรณ์ได้
อ่านเพิ่มเติม : เช็ก 7 อาการโรคหัด (กูรูต้นตำรับชีวจิต)
วัคซีนป้องกันได้
สำหรับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข คือการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค ซึ่งประเทศไทยเริ่มมีการให้วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน ตั้งแต่ปี 2529 แก่เด็กนักเรียนหญิง ชั้น ป.6 (ปัจจุบันกลุ่มนี้อายุประมาณ 44 ปี) และในปี 2536 มีการให้วัคซีนทั้งนักเรียนชายและหญิง ป.1 (ปัจจุบันกลุ่มนี้อายุประมาณ 32 ปี)
โดยในปัจจุบันพบว่ามีความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันสูงมากกว่าร้อยละ 95 นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการเฝ้าระวังที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมาโดยตลอด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
4 คำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยว เดินทางไปต่างประเทศ
กรมควบคุมโรค ขอให้คำแนะนำผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคหัดเยอรมัน ดังนี้
1.ติดตามข้อมูลสถานการณ์และพื้นที่การระบาดของโรคหัดเยอรมัน ก่อนเดินทางและขณะเดินทางอย่างใกล้ชิด
2.ประชาชนที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน หรือไม่เคยป่วยเป็นโรคหัดเยอรมัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง
3.หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการป้องกันตนเองก่อนที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด และควรหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปยังพื้นที่ระบาดของโรคถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันหรือไม่เคยเป็นหัดเยอรมันมาก่อน
4.ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด ควรสังเกตอาการและหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 9 เดือน หากมีอาการไข้ออกผื่นภายใน 21 วันควรไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทาง
อยากไรก็ตามขอย้ำว่า โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด–คางทูม– หัดเยอรมัน
โดยเข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง หากยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ผู้ปกครองสามารถพาไปรับวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 นะจ๊ะ
อ่านเพิ่มเติม : โรคผิวหนัง 7 โรคที่ควรระวัง ช่วงผลัดเปลี่ยนฤดู (หนาวสลับร้อน)
อ้างอิง
สำนักโรคติดต่อทั่วไป/สำนักระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค