“หัวใจวาย” จะป้องกันและรับมืออย่างไร?
ในปัจจุบันยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องระหว่างคำว่า “หัวใจวาย” และ “หัวใจล้มเหลว” ซึ่งทั้งสองคำมีความหมายแตกต่างกันและมีอาการของโรคที่ต่างกัน ดังนั้นทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยจึงอยากให้คนทั่วไปเข้าใจถึงความแตกต่างและตระหนักถึงเรื่องนี้

ผศ.นพ.สุรพันธ์ สิทธิสุข ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า “หัวใจวาย” หมายถึง การทำงานของหัวใจสิ้นสุดลง หรือ หัวใจหยุดเต้น หยุดบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้อวัยวะทุกอย่างจะหยุดทำงานตามไปด้วย โดยอาการร้ายแรงนี้ที่มักเกิดขึ้นกะทันหัน และถ้าไม่ได้รับการกู้ชีวิต ก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้ทันที
สำหรับภาวะ “หัวใจล้มเหลว” เป็นภาวะที่เกิดจากหัวใจทำงานไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เช่น การบีบตัวของหัวใจอ่อนลง หรือหัวใจขยายตัวไม่ดี ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอ จนเกิดการคั่งของน้ำในปอด มีน้ำท่วมปอด ขาบวม มีน้ำในท้อง ตับโต ซึ่งเป็นได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง อาการของหัวใจล้มเหลว มีตั้งแต่อาการไม่รุนแรงไปจนถึงอาการหนักมาก เช่น เหนื่อยมาก นอนราบไม่ได้ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างฉุกเฉิน และอาจนำไปสู่”ภาวะหัวใจวาย”ในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ ผศ.นพ.สุรพันธ์ ได้อธิบายเฉพาะ “ภาวะหัวใจวาย” ไว้ว่า เกิดจากสาเหตุหลายอย่าง ทั้งที่เป็นโรคที่หัวใจเอง และโรคอื่นที่มีผลกระทบร้ายแรงมาที่หัวใจ โรคที่เป็นพันธุกรรมจากกำเนิดหรือโรคที่เกิดขึ้นภายหลังก็ทำให้เกิดหัวใจวายได้ สามารถเกิดได้ทั้งในคนที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่าเป็นโรคหัวใจ และในคนที่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจอยู่นานแล้ว และสามารถเกิดกับนักกีฬาที่ลงแข่งในสนามซึ่งมีร่างกายฟิตแข็งแรงมากได้ด้วย ที่สำคัญอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตกะทันหัน
แต่สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ หัวใจวายที่เกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด มักพบในผู้ใหญ่อายุกลางคนขึ้นไป และพบบ่อยในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ได้แก่ ผู้ที่เป็นเบาหวาน สูบบุหรี่ เป็นความดันโลหิตสูง มีภาวะไขมันในเลือดสูง มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจอุดตัน ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
ดังนั้นเราควรหาทางป้องกันเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือไว้ก่อนจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เพื่อที่จะสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที

ข้อแนะนำในการป้องกัน ดังนี้
1.ตรวจหาความเสี่ยงของตัวเราเอง รวมทั้งญาติพี่น้องในครอบครัวว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาาะหัวใจวายได้หรือไม่ เช่น โดยการตรวจปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน และเช็คร่างกายประจำปีทุกปีในคนอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป หากคนในครอบครัวมีประวัติหลอดเลือดสมองหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ ก็ควรรีบตรวจหาความเสี่ยงในอายุที่น้อยกว่านี้ก็ยิ่งเป็นการดี หากพบปัจจัยเสี่ยงใด ๆ ก็ควรรีบดำเนินการควบคุมทุกปัจจัยเสี่ยงให้ดี
2.เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการกู้ชีพ ในปัจจุบันมีการเปิดอบรมทักษะการกู้ชีวิตในเชิงปฏิบัติให้แก่บุคคลทั่วไปในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายแห่ง นอกจากนี้ควรสำรวจข้อมูลโรงพยาบาลใกล้บ้าน และศูนย์ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน และหมั่นสังเกตหาตำแหน่งของอุปกรณ์ช่วยในการกู้ชีพ คือ เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจกึ่งอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator หรือ AED) ที่มีอยู่ตามที่สาธารณะต่างๆ เช่น ตามสถานีรถไฟฟ้า, สนามบิน หรือโรงพยาบาลและสถานที่ราชการขนาดใหญ่ ที่สำคัญควรศึกษาวิธีการใช้เครื่องมือจากการดูวีดีโอสาธิตการใช้เครื่องมือดังกล่าว