กินน้ำมัน ดาวอินคา ป้องกันโรคหลอดเลือด
ชีวจิต รวบรวมข้อมูล ทั้งประโยชน์ สารอาหาร วิธีกิน จนถึงงานวิจัยเรื่องความปลอดภัยมานำเสนอแบบจัดเต็ม ดาวอินคา มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศเปรู ชาวเปรูใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้มาแล้ว กว่า 3,000 ปี
ดาวอินคามีรูปร่างคล้ายดาว มี 4 – 7 แฉก ผลอ่อนมีสีเขียว และสีจะเข้มขึ้นตามอายุ ผลแก่มีสีน้ำตาลดำมีเมล็ดรูปไข่อยู่ภายใน ต้องนำเมล็ดไปคั่วให้สุกก่อนกิน โดยทั่วไปจะทิ้งให้ผลแห้งคาต้นก่อนเก็บเกี่ยว และนำมาตากแดดต่ออีกประมาณ 1 วันก่อนจำหน่าย
ดาวอินคา…ทุกส่วนล้วนมีประโยชน์
ทุกส่วนของต้นดาวอินคาล้วนมีประโยชน์ ข้อมูลจากวารสารเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ยอดของต้นดาวอินคามีรสชาติอร่อย อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า – 3 โอเมก้า – 6 โอเมก้า – 9 วิตามินเอ และวิตามินอี นิยมปรุงเป็นอาหารจานผัด
ใบ
จากต้นดาวอินคาที่ไม่แก่มาก นำมาหั่นแล้วผึ่งแดด 1 – 2 แดด หลังจากนั้นนำไปต้มดื่มเป็นน้ำชา หรือสกัดน้ำจากใบเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะช่วยลดน้ำตาลและไขมันในเส้นเลือด นอกจากนั้นยังใช้ใบประกอบอาหารได้หลายเมนู เช่น แกงจืด แกงเลียง ห่อเมี่ยงคำ
เมล็ด
นิยมสกัดเป็นน้ำมัน ซึ่งอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า – 3 โอเมก้า – 6 โอเมก้า – 9 วิตามินเอ และวิตามินอี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น ปรุงอาหาร ทำน้ำสลัด เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง อาหารเสริม ตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สบู่ โลชั่น ครีมบำรุงผิว เช็กสารอาหารในน้ำมันดาวอินคา
น้ำมันดาวอินคา
มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวโดยเฉพาะโอเมก้า – 3 สูง ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น โดยกรดไขมันชนิดโอเมก้า – 3 นี้ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ น้ำมันดาวอินคา มีกรดไขมันโอเมก้า – 3 สูง จึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่กินอาหารมังสวิรัสและผู้ที่ไม่กินปลาทะเล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พร้อมลักษณ์ สมบูรณ์ปัญญากุล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ในวารสาร สารหัวใจ ว่า
น้ำมันดาวอินคาไม่ได้มีเพียงกรดไขมันโอเมก้า – 3 ปริมาณสูงเท่านั้น แต่ยังมีวิตามินอีซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งยังมีสารแคโรทีน (Carotene) และสารพอลิฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
นอกจากนี้ยังมีสารไฟโตสเตอรอล (Phytosterol) ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลและลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดอีกด้วย