หัวใจวาย, โรคหัวใจ, ป้องกันโรคหัวใจ, อาการหัวใจวาย, หัวใจวายเฉียบพลัน

เทคนิครับมือ 3 สัญญาณอันตรายก่อน หัวใจวาย

สัญญาณอันตรายก่อน หัวใจวาย

หัวใจวาย น่ากลัวใช่ไหม … ไม่ต้องกังวล คุณหมอสันต์มีวิธีป้องกันก่อนหัวใจหยุดเต้นกระทันหัน

เวลเนสคลาส (Wellness Class) ต้องการนำความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนสุขภาพที่ผมสอนที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ (Wellness We Care Center) มาให้ได้เรียนรู้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเข้าคอร์สด้วยตัวเอง

ชั้นเรียนแรกเป็นชั้นเรียนที่ชื่ออาร์ดี 1 (RD 1) ฟังชื่อแล้วไม่เก็ตเลยใช่ไหมครับ อาร์ดี 1 ย่อมาจากประโยคเต็มว่า Reversing Disease by Yourself แปลว่า “ชั้นเรียนวิธีพลิกผันโรคด้วยตัวคุณเอง” เลขหนึ่งที่ห้อยท้ายจึงหมายความว่าเป็นบทเรียนแรกหรือครั้งแรก

แรกเริ่ม ชั้นเรียนนี้จัดขึ้นสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ฟังชื่อแล้วก็ไม่เก็ตเลยเช่นกันใช่ไหมครับ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง แปลว่าโรคหลอดเลือดตีบที่เป็นความผิดปกติพื้นฐานของโรคไม่ติดต่อ ยอดนิยมทั้งหลายทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ได้แก่ โรคหัวใจ โรคอัมพาต โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันสูง และโรคอ้วน

คุณลองนึกภาพคอร์สสุขภาพที่นำคนเป็นโรคเหล่านี้ระดับไปไหนไม่รอดแล้วมารวมกัน แบบว่ารายหนึ่งก็บอลลูนไปสองครั้ง บายพาสไปหนึ่งครั้ง หมอจะให้บายพาสอีกสักหนจนบางท่านกว่าจะผูกเชือกรองเท้าได้เรียบร้อยก็ต้องหยุดอมยาเสียก่อนหนึ่งครั้ง ประมาณนี้

เมื่อรวมผู้ป่วยระดับนี้มาเข้าแคมป์กินนอนเพื่อเรียนรู้วิธีดูแลตัวเอง ทั้งการกินอาหาร การออกกำลังกาย และอื่นๆ มันน่าเสียวไส้ไหมล่ะครับ อิอิผมก็เสียวนะ

การเตรียมแคมป์แบบนี้ก็ต้องว่ากันเต็มยศ มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉินครบเทียบเท่าห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีเครื่องช็อร์ตไฟฟ้า หมอเวชบำบัดฉุกเฉินที่คล่องแคล่วว่องไวอยู่กินนอนประจำร่วมกับผู้ป่วยตลอดคอร์ส มีพยาบาลเวชบำบัดฉุกเฉินที่แก่วัด เอ๊ยไม่ใช่…แก่วอร์ดได้ที่แล้วตามประกบอย่างใกล้ชิด

หัวใจวาย, โรคหัวใจ, ป้องกันโรคหัวใจ, อาการหัวใจวาย, หัวใจวายเฉียบพลัน

แต่เชื่อไหมครับ ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานั้นฟังดูขลังและน่าเลื่อมใสดี แต่แทบไม่มีความหมายอะไรเลย

ที่พูดมาเนี่ยไม่ได้ปรามาสความจำเป็นของการบำบัดฉุกเฉินนะครับ เพราะตัวผมเองก็เป็นหมอที่คร่ำหวอดอยู่กับการช่วยชีวิต การปั๊มหัวใจมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ถึงขั้นเคยได้ร่วมงานกับสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) พัฒนากระบวนการช่วยชีวิตเรื่อยมาเป็นเวลาร่วมยี่สิบปี และร่วมงานกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย พัฒนาระบบการช่วยชีวิตของเมืองไทยขึ้นมาจนเป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างทุกวันนี้

แต่ท้ายที่สุดเรามาลงเอยเป็นเอกฉันท์ตรงที่ว่า ในการช่วยชีวิตหรือการฟื้นคืนชีพนี้ไม่มีอะไรสำคัญเท่าการจัดการในระยะก่อนที่หัวใจจะหยุดเต้น (Pre-cardiac arrest management) ซึ่งก็บังเอิญเหลือเกินที่คนทำการจัดการที่ว่านี้ได้ดีที่สุดไม่ใช่หมอเวชบำบัดวิกฤตที่เก่งกาจที่ไหน แต่เป็นตัวคนไข้เอง

ปลายทางของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ไม่ว่าจะมาจากทางสายเบาหวานสายอัมพาต สายความดันโลหิตสูงสายหัวใจขาดเลือด สายไขมันสูงหรือสายอ้วน มักจะมาจบที่เดียวกันคือ การตายกะทันหันจากอวัยวะสำคัญขาดเลือดเฉียบพลัน อวัยวะสำคัญที่ว่าอาจเป็นหัวใจหรือสมองก็ได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นหัวใจมากกว่าสมองเราเรียกว่า Heart Attack หรือเรียกแบบบ้าน ๆ ว่า “หัวใจวาย” ก็ได้ความเหมือนกัน

ถ้าจุดจบตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของหัวใจหยุดเต้น และหลักวิชาฟื้นคืนชีพ (Resuscitation) บอกว่าอะไรก็ไม่สำคัญเท่าการจัดการก่อนที่หัวใจจะหยุดเต้น ดังนั้นมันจึงสำคัญมากใช่ไหมครับที่คนป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปที่ยังไม่ป่วยจะได้เรียนรู้ไว้เสียแต่ต้นมือว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่จะนำเราไปสู่ภาวะหัวใจวายและตายกะทันหัน

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.